เว็บบอร์ด

กระทู้ ถามตอบโหราศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์

ปิดปรับปรุงชั่วคราว

คุยกันสบายๆ..........ตามประสาโหราศาสตร์ไทย ( 18)

(..เนื่องจากกระทู้ ที่ 17 เดิมมีความยาวมากเรียกได้ช้า จึงขอเปิดเป็นกระทู้ที่ 18 ครับ)

กระทู้นี้ตั้งขึ้นเพื่อต้องการใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ในแวดวงวิชาโหราศาสตร์ไทย สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดโลกทัศน์ และปรารภปัญหาที่มีอยู่ จะได้ช่วยกันอธิบายแก้ไข เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อวิชาโหราศาสตร์


วรกุล - 1 มิถุนายน พ.ศ.2552 00:00น. (IP: 203.107.203.190)

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
สองวันมานี้ มีข่าวพิธีกรสารคดีชีวิตสัตว์ชื่อดังของออสเตรเลีย คือ สตีฟ เออร์วิน อายุ 44 ปีแล้ว ถูกปลากระเบนซึ่งดูธรรมดาๆและขี้ตกใจ ตะวัดหางเอาเงี่ยงแหลมแทงเข้าตรงหัวใจเสียชีวิต ช่วยเอาไว้ไม่ทัน ในขณะที่ดำน้ำถ่ายทำสารคดีชีวิตสัตว์นั่นเอง เออร์วินนั้นมีชื่อเสียงและเป็นพิธีกรยอดนิยม เพราะทำสารคดีเกี่ยวกับชีวิตสัตว์จนโด่งดัง โดยเฉพาะการบอกเล่ารายละเอียดการดำรงชีวิตของสัตว์อย่างน่าสนใจ อย่างเช่น สัตว์ดุร้ายอย่างจระเข้ ซึ่งกลายเป็นรายการทีวียอดนิยมติดอันดับสูง

เราเคยได้ยินคำว่า “หมองูตายเพราะงู” ไหม ความหมายก็เป็นไปในทำนองว่า หมองูนั้นจับงู หรือเผชิญหน้ากับงูมีพิษร้าย สามารถควบคุมมันได้จนเชี่ยวชาญ แต่สุดท้ายจุดจบของเขาก็ตายเพราะงูนั่นเอง บางทีก็เป็นงูธรรมดาๆเสียด้วย หากเราคิดดูดีๆ อาจจะเป็นเพราะเขาจับงูร้ายๆมามากจนมองเห็นเป็นธรรมดาไป จึงประมาท ความประมาทนั้นเป็นทางไปสู่จุดจบของเขาก็เป็นได้ เคยมีหมอดูหลายคนก็ถึงจุดจบ เพราะความประมาทด้วยเหมือนกัน มีอาจารย์ท่านหนึ่งมีชื่อเสียงทางทำนายได้แม่นยำมาก พอดีมีดาวร้ายๆจรมาทำท่าไม่ดีกับดวงตัวเอง แกตรวจดวงแล้วไม่เห็นน่าจะมีอะไร เพราะเคยตรวจดูแล้วว่าอายุยืน บังเอิญวันนั้น คนเขาเชิญไปต่างจังหวัดให้เงินดีทีเดียว ระหว่างเดินทางก็ไปประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์เสียชีวิต แต่ลูกศิษย์หัดใหม่ดูดวงของอาจารย์ตั้งแต่วันก่อนแล้วไม่กล้าเตือน เพราะอาจารย์เพิ่งสอนว่าดวงถึงฆาตนั้นเป็นอย่างไร แล้วก็ตรงกับดวงของอาจารย์ไม่ผิดเพี้ยนเลย

เคยมีอาจารย์อีกท่านหนึ่ง กำลังบรรยายอยู่ในห้องประชุมเรื่องดวงถึงฆาตอยู่อย่างเชี่ยวชาญน่าสนใจ คนเต็มห้องประชุมไปหมด พอดีมีโทรศัพท์ด่วนมาขัดจังหวะ ทางบ้านโทรมาบอกว่าลูกชายของแกตกตุ่มน้ำตาย อย่างไม่น่าเป็นไปได้ เพราะตุ่มขนาดใหญ่มีน้ำอยู่ค่อนตุ่ม เขากำลังอาบน้ำฟอกสบู่อยู่ลื่นๆจะตักน้ำ ขันโลหะมันหลุดมือจมลงไปก้นตุ่มก็เลยก้มลงไปเก็บ ตัวไถลเอาหัวปักลง ขาชี้ขึ้น ไม่ทันรู้ตัว ดิ้นก็ลื่นสบู่ แค่ครึ่งนาทีก็จมน้ำเสียชีวิต คนทั้งห้องประชุมเลยต้องไปรดน้ำศพลูกชายของแกแทน ดวงลูกชายของแกนั้นถึงฆาต แต่อาจารย์เองไม่ได้ดูดวงให้

เมื่อเร็วๆนี้มีคนที่พอรู้จักอยู่สองท่าน มีเรื่องในทำนองหมองูตายเพราะงู ท่านแรกเป็นอาจารย์แพทย์ เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง สอนลูกศิษย์ให้สังเกตอาการและตรวจรักษามามากมายหลายสิบรุ่น พอท่านป่วย ลูกศิษย์ก็ตรวจพบว่าท่านเป็นมะเร็งมานานแล้วจนถึงระยะสุดท้าย รักษาไม่ทันเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้ อีกท่านหนึ่ง เป็นผู้เชี่ยวชาญการผ่าตัดและรักษาอวัยวะภายในอย่างหนึ่ง มีชื่อเสียงมาก รักษาคนมามากมาย แต่ลูกชายที่แข็งแรงของท่าน ไปเสียชีวิตโดยฉับพลันด้วยอวัยวะนั้นแหละที่ต่างประเทศ ทั้งๆที่แก้ได้ง่ายๆเพียงแต่มีใครมากระตุ้นให้เบาๆก็รอดแล้ว แต่บังเอิญคนที่อยู่ด้วยจำนวนมากมายนั้น ไม่มีใครรู้วิธีปฐมพยาบาลง่ายๆนี้เลยสักคนเดียว

ตัวอย่างที่พบเห็นกันยังมีอีกมากมาย เราจะได้ยินข่าวบ่อยครั้งว่า นักแข่งรถชื่อดังตายในรถแข่งของตัวเองบ้าง ดาราหน้าอกสวย ตายเพราะหน้าอกเป็นเนื้อร้ายบ้าง คู่สามีภรรยาดาราที่มีชื่อเสียงโด่งดังน่าอิจฉา ทำร้ายกันจนถึงตายบ้าง นักบินอวกาศตายเพราะยานสำรวจเกิดระเบิดขณะส่งขึ้น นักการเมืองที่ประสบความรุ่งเรืองเพราะคำพูดที่คมคายประทับใจผู้คน ก็กลับหายนะล้มเหลวเพราะวาจาของตนเช่นเดียวกัน ทหารที่เป็นวีระบุรุษจากสงคราม กลับตายในสงครามนั่นเอง และถ้าดูละเอียดลงไปเราจะแปลกใจว่า มีคนจำนวนมากที่หายนะเพราะสิ่งที่เคยเป็นความรุ่งเรืองของตนเอง

การดูอาชีพการงานของแต่ละคนได้เคยเขียนไปบ้างแล้ว โดยปกติเรามักถือเอาดาวในเรือนกัมมะ หรือเจ้าเรือนนั่นเองเป็นสิ่งที่แทนความหมายอาชีพของเจ้าชะตา เนื่องจากการทำงานที่เป็นไปตามดวงชะตาเดิม ก็จะสอดคล้องกับธรรมชาติที่ดวงชะตาเข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะทำให้ดำเนินอาชีพการงานไปได้ แต่การที่จะอาชีพดังกล่าวดีหรือไม่ดีเป็นอีกเรื่องหนึ่ง หากพบว่าเจ้าชะตาทำงานดังกล่าวแล้วไม่ดี หาอาชีพที่ทำแล้วรุ่งเรืองไม่ได้ ทางเลือก ก็คือ อาจจะเลือกไปใช้เรือนอื่นๆ เช่น ลาภะ กดุมภะ ก็ได้ เพราะเป็นทางประกอบอาชีพการงานได้เงินเลี้ยงชีวิตไปได้เหมือนกัน อีกทางหนึ่งที่สอนกันก็คือ เลือกเอาดาวเด่นๆในดวงชะตา เนื่องจากดาวเด่นๆที่มีกำลังดี มีกำลังผลักดันให้ดวงชะตาสามารถทำสิ่งนั้นๆรุ่งเรืองได้ผลมากกว่าดาวดวงอื่น พวกเราที่เรียนโหราศาสตร์อยู่ บางคนจึงมักคิดเอาว่า การที่มีดาวเด่นๆหรือ ดาวที่มีมาตรฐานดีๆ เป็นคุณสมบัติที่ดีของเจ้าชะตา ที่เจ้าชะตาจะดำเนินชีวิตไปได้อย่างรุ่งเรือง ความเห็นนี้ไม่จริงเสมอไป

อุทาหรณ์ของเรื่องที่เล่ามาข้างต้นนี้แหละเป็นบทเรียนสำคัญสำหรับพวกเราที่เรียนโหราศาสตร์ พวกเราที่เป็นมือใหม่เสมอมักวิจารณ์ดาวในดวงคนสำคัญๆ ในลักษณะตามน้ำมากกว่าที่จะพิจารณาคุณภาพของดาวจริงๆ คือ เมื่อได้รับทราบว่าเจ้าชะตาได้ดีเพราะอะไรก็หาเหตุผลจากดาวมาสนับสนุน หรือ เมื่อเจ้าชะตาเกิดตกต่ำขึ้นมาวันใด ก็โทษเอาดาวที่เคยว่าดีเด่นนั่นแหละ ถ้าเราเชื่อว่าการวิจารณ์นี้ถูกต้องทั้งสองครั้ง ก็แสดงว่าดาวดวงเดียวกันนั่นเองได้แปรผันการให้คุณโทษจากดีเป็นไม่ดี หรือ ไม่ดีเป็นดี นี่เองที่เคยบอกว่า “เรื่องของดาวไม่ใช่เรื่องของคน” เช่นดาวดวงหนึ่งเคยเป็นดาวเด่นดีอย่างใดก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ดวงชะตาเดิมอีกกี่ครั้ง มันก็ควรจะยังมีคุณสมบัติเช่นเดิมจึงจะถูก ทั้งนี้เพราะดาวมันก็ยังคงอยู่ในตำแหน่งเดิม ดาวอื่นๆก็เหมือนเดิม หากเราวิจารณ์ด้วยมาตรฐานเดิม เราก็ควรจะสรุปได้ว่ามันดีเสมอ ที่จริงการวิจารณ์เช่นนี้ หากผู้ที่ศึกษาธรรมชาติของโหราศาสตร์จริงๆจะเข้าใจได้ดีกว่า เพราะแท้ที่จริงแล้วดาวมันก็ยังคงอยู่คงที่ แต่ตัวเจ้าชะตาต่างหากที่เปลี่ยนคุณสมบัติไปทำให้ดาวมันให้คุณ หรือทำร้ายเอาได้ และการที่ดาวมันจะให้คุณ หรือ ให้โทษแก่ดวงชะตา มันก็ได้แสดงอยู่ในดวงเดิมอยู่แล้วตั้งแต่เกิด เพียงแต่ยังไม่ถึงเวลาเท่านั้น เหมือนระเบิดเวลาที่พร้อมจะระเบิดขึ้น แต่เรายังไปลูบคลำมันอยู่อย่างรักใคร่พิสวาสด้วยความไม่รู้ นี่คือความสำคัญของ “วัย”

การวิจารณ์ดาวแต่ละดวง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับอาชีพของเจ้าชะตานั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาให้หมด เพราะดาวบางดวงให้คุณมากแก่เจ้าชะตาที่จะรุ่งเรือง มีชื่อเสียงเกียรติคุณ หรือได้ลาภยศเงินทองมามากมาย เราจะต้องฉุกใจคิดด้วยเสมอว่ามีจุดแสดงโทษด้วยหรือไม่ นานมาแล้วที่โหรหลายคนมักจะอิหลักอิเหลื่อ เวลามีใครมาถามว่าควรจะทำอะไร หรือ มีอาชีพอะไรดี เช่น หากมีคนคนหนึ่ง เลือกทางเดินเป็นดาราแล้วจะโด่งดัง แต่อาจจะอายุสั้นเพราะเครื่องบินตก แต่ถ้าหากไม่เลือกทางนั้น ไปทำมาหากินเป็นคนธรรมดาก็จะรวยได้เมื่อเข้าวัยกลางคนไปแล้วพร้อมด้วยอายุยืนยาวจนแก่เฒ่า เป็นเราเราจะเลือกอย่างไหน จริงอยู่การที่เราเลือกนี้ เราอาจจะไม่ได้เลือกจริงๆ แต่เป็นเพราะกรรมมากกว่า แต่ทางวิชาโหราศาสตร์เรายังตัดสินตรงนี้ไม่ได้ เช่นในกรณีนี้ หมอดูที่รับเงินทองส่วนมาก มักจะดูให้พ้นๆไป โดยอาจจะแนะนำให้ไปสมัครประกวดแข่งขันเป็นดารา แล้วเขาก็ได้เป็นดาราสมจริง ทำให้ผู้คนนิยมชมเชยหมอดูว่าทำนายแม่น และแนะนำดี แต่นักโหราศาสตร์ที่มองธรรมชาติจริงๆจะแนะนำไปอีกทางหนึ่ง ก็จึงไม่ใคร่จะมีใครเชื่อถือ โดยทั่วไป ดาวที่มีกำลังแรงจนสังเกตว่าผลักดันให้เจ้าชะตาสูงส่งได้นั้น เป็นเบาะแสสำคัญที่เราควรจะวิเคราะห์ให้ละเอียดเป็นอันดับต้นๆเลยทีเดียว เพราะดาวเช่นนั้นแหละที่มีสิทธิ์ทำร้ายเจ้าชะตามากกว่าดาวที่ดูธรรมดาๆ

การวิเคราะห์ดวงชะตาในทางปฏิบัติ เรามักแบ่งดาวในดวงชะตาออกเป็น 3 จำพวก คือ ดาวที่แรง ดาวที่ธรรมดา และดาวที่อ่อนแอ ส่วนมาก ดาวที่อ่อนแอมักมีผลต่อพื้นนิสัยของเจ้าชะตา ทำอะไรก็ไม่เก่ง ไม่ค่อยเป็น ดาวพวกนี้ไม่สามารถผลักดันให้เจ้าชะตาสูงเด่นได้ แต่เมื่อทำร้ายเจ้าชะตาก็ไม่รุนแรง บางครั้งเพียงแค่รำคาญ หรือไม่ก็สร้างความรำคาญให้แก่ผู้อื่น ส่วนดาวที่ธรรมดานั้น ก็ดีขึ้นบ้าง ผลักดันให้เจ้าชะตาดำเนินชีวิตได้ดี แต่ก็อาจจะไม่ดีเด่นถึงขั้นเป็นที่หนึ่งถึงแถวหน้าในงานอาชีพของตน แต่ดาวที่แรงนั่นเอง เป็นจุดที่ควรจับตามองมากที่สุด เพราะเหตุที่ว่ามันจะสร้างความประทับใจเป็นจุดเด่นในนิทานชีวิตของเจ้าชะตาอย่างเด่นชัดมากที่สุดทั้งในทางที่ดี และร้าย หมอดูโดยอาชีพทั่วไปก็จะมองหาดาวเช่นนี้ก่อนดาวอื่น เพราะเป็นจุดทำนายที่สำคัญ ซึ่งผู้มาหามักจะเห็นว่าทำนายแม่น แทนที่จะไปทำนายเรื่องอะไรที่พื้นๆ และเมื่อออกคำทำนายแล้วก็จะกลายเป็นเรื่องหวือหวาในสังคมได้มาก จนทำให้หมอดูเองนั้นโด่งดังไปด้วย แม้ว่าการทำนายเช่นนี้อาจจะไม่ได้เป็นประโยชน์อะไรเลย ต่อวิชาการโหราศาสตร์ที่มุ่งจะชี้แนวทางที่ดีที่สุดให้เจ้าชะตาเลือกเดินไปก็ตาม

เหตุที่ดาวเหล่านั้น มีผลทั้งทางดีและร้ายเกิดจากโครงสร้างในดวงชะตาเดิมบ่งบอกอยู่แล้ว อย่างเช่น นักขับรถแข่ง ดาวที่หมายถึงรถแข่งนั่นเองที่ปรากฏในดวงชะตาของเขาตั้งแต่เกิด ในวัยที่เจ้าชะตากำลังเรียนหนังสืออยู่ เพราะดาวรถแข่งนี่เองที่ให้กำลังผลักดันเขา จนขับรถได้อย่างเชี่ยวชาญ ได้รับรางวัลมามากมายกลายเป็นเศรษฐีตั้งแต่วัยหนุ่มจนแทบไม่ต้องเรียนหนังสือ หรือ ทำมาหากินอย่างอื่น จนถึงกับได้รับสปอนเซ่อร์ให้ฝึกฝนจนกลายมาเป็นนักขับรถมืออาชีพอันดับโลก การเป็นผู้เชี่ยวชาญเช่นนี้ ก็เหมือนกับหมองูที่จับงู ผู้ที่รุ่งเรืองได้จากดาวร้ายๆเหล่านี้ ดวงชะตาต้องมีกำลังกล้าแข็งในทุกวัยที่ผ่านไป หากวัยใดตกต่ำลงไร้แรงต้านทาน ดาวร้ายนั้นก็จะกลับมาทำร้ายเจ้าชะตาได้อย่างรุนแรงถึงกับเอาชีวิตได้

เหมือนกับนักการเมือง ที่ได้รับยศศักดิ์ เกียรติคุณสูงส่ง หรือร่ำรวย มหาศาล เพราะดาวในกลุ่มใดที่ส่งเสริมมาจนเอาชนะอุปสรรคด้วยความหายนะของศัตรูได้ ดาวเหล่านั้นก็ยังเป็นของกลางที่ไม่ใช่สมบัติส่วนตน เมื่อใดถึงวัยที่ตกต่ำอ่อนแรงลง ความหมายของความหายนะนั้น ก็อาจจะกลับมาล้างผลาญเจ้าชะตาหมดจนไม่เหลืออะไรเลยได้เช่นกัน ดังนั้น การวิเคราะห์ดวงชะตาของใครก็ต้องวิเคราะห์ยาวไกลไปถึงวัยข้างหน้าจนสุดทางด้วย จึงจะชี้ทางเลือกของชีวิตได้อย่างถูกต้อง แม้ตามข้อเท็จจริงเพราะกรรมของเจ้าชะตานั่นเองที่จะทำให้เจ้าชะตาเลือกที่จะไม่เชื่อทางที่รอดพ้นจากชะตากรรมที่กำหนดมา แต่เราผู้เรียนโหราศาสตร์ก็ควรพึงสังวรไว้ ดังที่เคยบอกแล้วว่า การเรียนรู้โหราศาสตร์นั้นคือการเรียนรู้ชีวิตทั้งชีวิต ไม่ใช่เรียนรู้ชีวิตเพียงชั่วขณะเดียว


วรกุล - 6 กันยายน พ.ศ.2549 04:57น. (IP: 203.107.203.190)

ความคิดเห็นที่ 2
สวัสดีค่ะอาจารย์วรกุล

กรณีของสตีฟ เออร์วิล เป็นนักเสี่ยงภัย เราไม่รู้วันเดือนปีเกิด แต่สามารถเดาได้ไหมคะว่าเขามีลัคณาอยู่ที่ใด สมมุติว่าวางลัคณาไว้ที่ราศีพิจิก มีเมอริเดียนที่สิงห์จะเป็นไปได้ไหม

จุดจบของชีวิตเขามาจากดาวจรที่ทำมุมบีบเล็กๆแต่แทงเข้าที่หัวใจ ใช่หรือเปล่า


จิตตรี - 7 กันยายน พ.ศ.2549 18:24น. (IP: 202.57.173.191)

ความคิดเห็นที่ 3
ตอบคุณจิตตรี (ความเห็น 3) .........จะเดาก็ได้ครับ แต่จะพิสูจน์อย่างไรว่าถูก ดวงคนเราไม่ได้มีแค่ลัคนากับ เมอริเดียนนี่ครับ ถ้าเราบอกว่าลัคนาพิจิกแล้วใช่ ก็จะมีคนที่ลัคนาอยู่ที่เดียวกันอีกมากมาย ปัจจัยบนดวงชะตามี อีกจำนวนมาก สมมุติเราใช้ 20 ปัจจัยในการกำหนดเรื่องในดวงชะตา แม้เพียงปัจจัยเดียวเพี้ยนผิดไปจากกัน ชะตากรรมก็ผิดไปได้จากหน้ามือเป็นหลังมือได้ นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมที่เป็นเหตุของเรื่องราว ก็จะมีส่วนที่เป็นเงื่อนไขของเหตุการณ์ เช่น หากเขาไม่อยู่ในน้ำ ก็ไม่ตายเพราะเหตุนี้ แต่กรณีที่คุณสันนิษฐานนี้ หากมีวันเดือนปีเกิดของเขาอยู่แล้ว ไม่รู้เวลาเกิด ผมเองก็ว่า น่าจะมีลัคนาอยู่สิงห์ (ปลายราศี) หรือ อีกราศีหนึ่งคือ มังกร (สากล) เพราะในวันนั้น ราศีนี้รับ เหตุการณ์จรพอดี แต่ก็เพียงมีความเสี่ยงจากดาวจรเท่านั้นเอง


วรกุล - 8 กันยายน พ.ศ.2549 16:55น. (IP: 203.107.204.123)

ความคิดเห็นที่ 4
เรียนอาจารย์วรกุล ที่เคารพครับ

จากที่อาจารย์ได้เคยกล่าวถึง "keyword" ของดาวทั้งสิบดวง และ เรือนชะตาทั้งสิบสองเรือน ไว้ดังนี้

ตนุ – ส่วนตัว.......กดุมภะ – สมบัติ.......สหัชชะ - เปลี่ยนแปลง........พันธุ – ผูกพัน........ปุตตะ – ขั้นต้น......อริ – อุปสรรค......ปัตนิ – สิ่งตรงข้าม.......มรณะ – จากพราก......ศุภะ – ช่วยเหลือ......กัมมะ – การกระทำ......ลาภะ – ความสำเร็จ.....วินาสน์ – สูญสลาย

...๑ กระตือรือร้น ......๒ อ่อนไหว......๓ ว่องไว.....๔ เปลี่ยนรูป.....๕ ขยายออก......๖ สอดคล้อง......๗ มั่นคง......๘ แปรปรวน......๙ สูงสุด.......๐ พิเศษ

คือว่าผมอยากทราบ "keyword" ของภูมิทั้งแปดในทักษา (บริวาร,อายุ,เดช,ศรี,มูละ,อุตสาหะ,มนตรี,กาลกิณี) ครับผม

ขอขอบพระคุณมากครับ


นกกระจิบ - 10 กันยายน พ.ศ.2549 20:49น. (IP: 203.113.36.10)

ความคิดเห็นที่ 5
ตอบคุณนกกระจิบ (ความเห็น 5) ............ที่จริงชื่อของเรือนในดวงชะตาและภูมิพยากรณ์ในทักษา ก็เป็นคีย์เวิร์ดที่ดีมากอยู่แล้ว คำอธิบายเรือน หรือ ภูมิพยากรณ์นั้นมีอยู่ในหนังสือตำราทุกเล่ม ที่ผมเคยให้ไปเกี่ยวกับเรือนนั้น เป็นคำอธิบายสั้นๆเสียมากกว่า หากผู้เรียนใหม่หากใช้แทนของเดิมก็จะใช้ได้บางระดับเท่านั้น ควรทราบว่า ทั้งเรือน ดาว หรือ ภูมิพยากรณ์ก็ตาม ความหมายของมันจะแปรเปลี่ยนไปได้ตลอด ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มันเกี่ยวข้อง นี่เป็นลักษณะของโหราศาสตร์ไทยที่ใช้พื้นฐานเดียวกัน ไม่ว่าวิชาใด ที่เราใช้ทางมหาทักษาบ่อยๆจะเป็นดังนี้

บริวาร – แวดล้อม อายุ – ดำรงอยู่ เดช – อำนาจ ศรี – สวัสดิภาพ มูละ – พื้นฐาน อุตสาหะ – กระทำ มนตรี – ช่วยเหลือ กาลกิณี – อุปสรรค


วรกุล - 12 กันยายน พ.ศ.2549 05:04น. (IP: 203.107.205.190)

ความคิดเห็นที่ 6
เรื่องที่จะเขียนวันนี้ คิดอยู่นานว่าจะเขียนดีหรือไม่ เพราะปกติไม่อยากสร้างเรื่องหวือหวาตามกระแส อย่างการวิจารณ์ดวงเมือง ดวงคนดัง หรือ พยากรณ์พวกเรื่องที่มีความขัดแย้งในสังคม เนื่องจากไม่อยากให้กลายเป็นค่านิยมที่ผิดๆ เอาเรื่องอะไรมาวิจารณ์ให้กลายเป็นกระแสข่าวลือที่ไม่ดี แต่มาคิดดูเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์บ้าง เพราะเกี่ยวกับโหราศาสตร์ที่บางคนอาจจะยังไม่รู้ เรื่องที่จะเขียนวันนี้จะเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างกับ สนามบินสุวรรณภูมิ สิ่งที่จะเขียนคงจะไม่เข้าไปพยากรณ์อนาคต แต่หากไม่เขียนแล้วมาเขียนภายหลังก็อาจจะถูกนินทาว่าทำไมไม่เขียนก่อนหน้านี้ ดังนั้น วันนี้จะเขียนถึง (บ้าง)

จากข่าวสารประชาสัมพันธ์ระยะนี้ พวกเราคงทราบเรื่องสนามบินแห่งนี้โดยละเอียดอยู่แล้ว แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราเองไม่ค่อยทราบ หรือฉุกใจคิด ก็คือ รูปลักษณ์ของสนามบินที่เป็นอาคารหลักของสนามบินแห่งนี้ ที่เราเห็นผ่านหน้าจอทีวีนั่นเอง เราจะเห็นลักษณะการออกแบบตั้งแต่รัฐบาลไหนไม่รู้ เป็นอาคารที่มีโครงสร้างคอนกรีต และ เหล็กกล้า ที่อยู่ในรูปทรงทันสมัย คลุมหลังคาด้วยผ้าใบพิเศษ ลักษณะเป็นแนวยาวสองแนวตัดกัน ดูจากทางด้านบนอากาศ จะเห็นเป็นรูปเหมือน ไม้กางเขน คนที่เชื่อถือโชคลางคงจะไม่สบายใจหน่อย เพราะ รูปลักษณ์เช่นนี้ เป็นที่ต้องห้ามในทางโชคลาง ของทางตะวันตกมานานมากแล้ว แต่ก็น่าแปลกใจที่เหตุใดผู้ออกแบบที่เป็นฝรั่ง ที่มีชื่อเสียงด้านการออกแบบระดับโลก จึงไม่รู้ หรือ รู้ แต่ไม่เชื่อถือ เพราะรูปไม้กางเขนเช่นนื้ แม้แต่สถาปนิกที่ออกแบบบ้านในถิ่นตะวันตกเองก็พยายามหลีกเลี่ยง เมื่อจะออกแบบบ้านที่มีห้องหับต่างๆ หากคำนึงถึงหลังคาที่ปกคลุมบ้านหรืออาคารแล้ว เขาจะหลีกเลี่ยงให้มีรูปของสิ่งที่ต้องห้ามหลายอย่าง เช่นรูปไม้กางเขนนี้ เป็นสิ่งต้องห้ามในอันดับต้นๆเลยทีเดียว

สาเหตุที่เขาห้ามออกแบบรูปไม้กางเขน เพราะไม้กางเขนเป็นสัญญลักษณ์ทางศาสนา และเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลทางจิตวิญญาณ ที่เกิดจากความเชื่อศรัทธาของคนหมู่มาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับศาสนาคริสต์ที่เราคงทราบกันดีอยู่ บางคนอาจจะคิดว่า ก็ดีน่ะซี เพราะไม้กางเขนให้ความหมายระลึกถึง พระเยซูคริสต์ น่าจะกลายเป็นเหมือนสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องคุ้มภัย แต่โหรตะวันตกเองไม่ได้คิดเช่นนั้น เพราะ การสร้างไม้กางเขนโดยไม่ถูกกาละเทศะ ก็เหมือนการสร้างสัญลักษณ์ทางวิญญาณที่เปะปะ ขาดความเข้าใจ ไม้กางเขนนั้นเกี่ยวข้องกับความตายมาตั้งแต่สมัยโบราณมาจนถึงปัจจุบัน เหตุการณ์ทางศาสนาคริสต์นั้น เป็นเพียงแค่ชั่วขณะหนึ่งในประวัติศาสตร์เท่านั้น การยกเว้นให้ทำได้เพียงการสร้างโบสถ์ หรือ ที่ฝังศพเท่านั้น เพราะมีความหมายและเป็นที่ชุมนุมทางจิตวิญญาณนั่นเอง

บางคนอาจจะคิดว่า นี่เป็นการถือโชคลางของคนบางกลุ่ม จะถือเช่นนั้นก็ได้ แต่ในเมื่อหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่มีใครทำ แม้การออกแบบบ้านในเมืองไทยเอง หากเอาการถือโชคลางเข้ามาเกี่ยวข้อง การสร้างหลังคาที่เป็นรูปไม้กางเขนก็ไม่มีใครอยากทำเช่นกัน ส่วนมากหากจำเป็น ก็จะสร้างต่อเติมให้เป็นรูปแยก 5 ทาง หรือ ตัดขอบหลังคาให้รูปกางเขนนั้นเสียรูปไปเป็นการแก้เคล็ด หรือ อาจจะสร้างสิ่งอื่นขึ้นมาขวางให้กางเขนนั้นขาดตอนเสียก็ได้ ในธรรมเนียมไทยเอง ในการออกแบบบ้านทั่วไป เขาก็มักหลีกเลี่ยงการสร้างรูปที่เกี่ยวข้องกับจิตวิญญาณและความตาย เช่นไม่ทำรูปลายบัวของหน้าต่าง เพราะไปเหมือนหน้าต่างโบสถ์ เขาไม่ทำทางเดินรอบตึกชั้นใดชั้นหนึ่งให้ต่อเนื่องกันโดยรอบ เพราะไปเหมือนระเบียงรอบวิหารหรือโบสถ์ ยิ่งไม่ทำราวระเบียงโดยรอบติดต่อกันด้วย เพราะเหมือนวงด้วยสายสิญจน์ เขาจะไม่สร้างขอบบนประตูทางเข้าบ้านเป็นวงโค้ง เพราะเหมือนช่องเมรุเผาศพ หากจำเป็นต้องทำ เขาก็จะแบ่งส่วนโค้งทำเป็นช่องแสงเสีย ให้ผิดรูปไป ไม่สร้างหลังคายอดแหลมแบบหลังคาโบสถ์วิหาร ไม่ทำช่องทางเข้าบ้านทุกทิศเหมือนกับเมรุเผาศพ ทางเดินเข้าบ้าน ก็จะไม่ทำสะพานมุ่งเข้าประตูโดยตรง เพราะสะพานเป็นที่ข้ามภพของวิญญาณ ที่มักใช้ในพิธีกงเต้ก สิ่งเหล่านี้ มีการพิสูจน์อย่างไม่เป็นทางการมานานแล้วว่า “ไม่ดี” และกลายเป็นสาเหตุของเรื่องอาถรรพ์ต่างๆนานา ที่แปลกประหลาดและแก้ไม่ได้ นักแก้ฮวงจุ้ย หรือ นักศึกษาเรื่องชัยภูมิคงจะอธิบายได้ดี เพราะต้องมีภาระเข้าไปแก้ไขมามากแล้ว

อันที่จริงการที่เราให้เหตุผลว่าไม่ทำเพราะ เหมือนสิ่งนั้นสิ่งนี้ นั้นไม่ถูกตามต้นเหตุทีเดียว อย่างเช่น ไม่ทำขอบบนประตูทางเข้าเป็นวงโค้ง เพราะเหมือนเมรุเผาศพ แต่ในทางกลับกัน เมรุเผาศพนั่นเองทำโค้งเช่นนี้เพราะมีหลักทางไสยศาสตร์อยู่ ดังนั้น การที่เราไม่ทำเช่นนี้ ก็เพราะเหตุผลของมันเอง ไม่ใช่เพียงเป็นข้ออ้าง อย่างเช่นไม้กางเขนนั้น แม้ทางตะวันออกก็ถือเป็นลางอาถรรพ์อยู่นานแล้ว เนื่องจากเป็นความขัดข้องของกระแสปราณของชีวิต เพราะเป็นสัญญลักษณ์ของการกระจายแตกสลายไปทุกทาง เมื่อมองย้อนกลับไปหาศูนย์กลาง ก็พุ่งเข้าปะทะกันจนเป็นศูนย์ (สูญ) ดังนั้น ในหลายชาติจึงมีข้อห้ามไม่ให้วางช้อนส้อมตะเกียบที่กินเสร็จแล้วไขว้กัน การถือโชคลางมักจะมีที่มา เช่น คนจีนมักห้ามการกินอาหารแล้วเกิดเสียงช้อนชามกระทบกัน หรือ เคาะช้อนเคาะชาม เพราะการเคาะช้อนชามนั้นเป็นการเรียกวิญญาณ หรือ ผี มากินอาหาร แม้แต่การใช้สีก็เป็นเรื่องที่ถืออย่างเข้มงวด อย่างที่ทราบว่า ชาวจีนถือว่าสีแดง คือ “ชีวิต” เพราะเป็นสีของเลือด ผู้ที่มีชิวิตอยู่เลือดจึงจะมีสีแดง จึงถือเป็นสีมงคล ส่วนสีเขียวหรือ สีดำ คือสีของคนตาย ทางเกาหลี หรือ ญี่ปุ่น จะไม่นิยมสีแดง เพราะถือว่าการเห็นเลือดนั้นก่อให้กลายเป็นลางที่จะเกิดความรุนแรง ดังนั้นจึงเลี่ยงไปใช้สีขาว หรือ ดำ เพราะเป็นความสงบ สันติ หรือ ทางตะวันตกมักจะถือเรื่องเลข 13 มาจากเหตุผลเรื่องราวมากมาย เราคงทราบกันดีอยู่แล้ว

การถือสิ่งเหล่านี้ อาจจะดีกว่าการถือเรื่องแบบมงคลตื่นข่าวนิดหน่อย เพราะมีที่มาของแนวคิด และบางเรื่องก็เป็นเหตุการณ์ที่พบเรื่องอาถรรพ์โดยที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ถ้าเราจะอธิบายทางโหราศาสตร์ ก็อธิบายได้ เพียงแต่คนที่ไม่มีพื้นเรื่องเหล่านี้มาก่อน อาจจะอธิบายให้เข้าใจยาก อย่างเช่น การที่มักพบเหตุร้ายๆ ในตึกที่ทำทางเดินรอบเหมือนระเบียงโบสถ์วิหารโดยไม่มีเหตุผล แต่ก็มีนักจิตวิทยาบางคนให้ความเห็นว่า ทางเดินเช่นนั้น เป็นการสะดวกต่อโจรผู้ร้ายที่คิดจะเข้าปล้นฆ่าเจ้าทรัพย์ เพราะเดินได้รอบโดยไม่มีอุปสรรค ทำให้มีเหตุร้ายขึ้นบ่อย แต่ทางโหราศาสตร์เองมักจะอธิบายในทางความหมายอิทธิพลของปัจจัยเสมอ เพราะดาว หรือ ธาตุที่สิ่งเป็นวัตถุเหล่านั้น เมื่อเกิดความหมายทางปรัชญาขึ้น ก็อาจจะมีอิทธิพลทางไสยศาสตร์ได้ อย่างเช่น ลักษณะไม้กางเขนนั้น คือ ๓๗๐๙ หมายถึง อุบัติเหตุ การบาดเจ็บและทรมานถึงตาย (มีเหตุผลทางโหราศาสตร์) ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงการสร้างรูปวัตถุเป็นรูปไม้กางเขนนั่นเอง ในกรณีของสนามบินใหม่ ชัยภูมิเดิมที่สร้างสนามบินนี้ คือ หนองงูเห่า หรือ ๒๗ เมื่อสนามบินชื่อ สุวรรณภูมิ คือ ๑๖๕๗ ถ้าหากดูจากความหมายดาว ก็ไม่น่าวิตกมากนัก

ถ้าปรึกษานักแก้ชัยภูมิ หรือ ฮวงจุ้ย ก็อาจจะแก้สัญญลักษณ์ได้ แต่แก้แล้วได้ผลเพียงใดอยู่ที่ว่าจะแก้อย่างใด เพราะการวางทิศทางรูปไม้กางเขนของสนามบินเป็นไปตามเทคนิคของการบิน มากกว่าจะคำนึงถึงทิศทางโหราศาสตร์ อย่างที่บอกแล้ว อย่างเช่นไม้กางเขนนั้น แม้ทางตะวันออกก็ถือเป็นลางอยู่นานแล้ว เนื่องจากเป็นความขัดข้องของกระแสปราณของชีวิต เพราะเป็นสัญญลักษณ์ของการกระจายแตกสลายไปทุกทาง เมื่อมองย้อนกลับไปหาศูนย์กลาง ก็พุ่งเข้าปะทะกันจนเป็นศูนย์ (สูญ) นอกจากนั้น รูปกากะบาดนั้น ก็เป็นเหมือนสัญญลักษณ์ของผ้าปิดบาดแผลที่เราเอามาใช้เป็นสัญญลักษณ์ของกาชาดนั่นเอง ผมไม่ขอวิจารณ์ในเรื่องนี้ต่อ แต่เมืองไทยเราเป็นเมืองพุทธ พระสยามเทวาธิราช ทรงคุ้มครองอยู่ ทางทิศใต้ของสนามบินก็มีหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์โบราณของไทย และไทยเราก็มักไม่เหมือนประเทศอื่น เพราะเรามักรอดพ้นจากเรื่องไม่ดีมาอยู่เสมอ ขอเขียนเพียงเท่านี้แหละ ดีกว่าให้ฝรั่งมาวิจารณ์ แล้วเราไปเขียนถึงภายหลัง แล้วก็อาจจะถูกดูหมิ่นว่าไปลอกเขามาแปล แต่ไม่รู้ว่าฝรั่งที่บินมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิ แล้วเห็นสนามบินทางอากาศจะว่าอย่างไร เพราะฝรั่งจำนวนมากถือเรื่องไม้กางเขนมากกว่าไทยเราที่นับถือพุทธ


วรกุล - 12 กันยายน พ.ศ.2549 05:05น. (IP: 203.107.205.190)

ความคิดเห็นที่ 7
เรียน อ.วรกุล

ผมมีความสงสัยมานานแล้วครับ เมื่อตอนที่ผมเริ่มหัดเรียนโหราศาสตร์ด้วยตนเอง กับอ่านทางเวปบอร์ดเพิ่มเติม ผมไม่เห็นว่ามีบอกเกี่ยวกับปริมาณ ซื่งเวลาผมลองดูดวงคนของใกล้ชิดมาดู มักจะเจอคำถามเกี่ยวกับปริมาณ เช่นจะมีลูกกี่คน จะรวยขนาดไหน จะมีบ้านกี่หลัง ผมไม่สามารถตอบได้เลย ซึ่งผมพอจะใช้ทำนายได้ก็แค่ เสาร์ น่าจะยากหรือขาดแคลน พฤหัส น่าจะสมบูรณ์ อาจารย์พอจะแนะนำการใช้คีย์เวอร์ด เกี่ยวกับปริมาณ หรือการดูความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกันของดาว เป็นหลักเกณฑ์ให้ทราบได้พอสังเขปครับ

ขอบคุณครับ


อายครู บ่รู้วิชา - 13 กันยายน พ.ศ.2549 11:11น. (IP: 203.150.116.16)

ความคิดเห็นที่ 8
ตอบคุณ อายครู บ่รู้วิชา (ความเห็น 8) ............ดูเหมือนผมจะเขียนไปบ้างแล้วเมื่อปีก่อน หนังสือตำราเบื้องต้นจะไม่มีบอกไว้หรอกครับ ปกติเรื่องนี้เขาเอาไว้เรียนในระดับสูงขึ้นไป เพราะการใช้ตัวเลข ที่หมายถึงจำนวนต่างๆในดวงชะตา ไม่ได้ใช้โดยตรง ส่วนใหญ่จะใช้ตาม “เกณฑ์” ซึ่งต้องเข้าใจเรื่องเกณฑ์ก่อน จึงทำให้ไม่มีการสอนกันในระดับต้นๆ แล้วก็กลายเป็น “เคล็ด"”การดูดวงไปเสียอีก ผมเคยคิดจะเขียนให้เหมือนกัน แต่มันยืดยาวมาก และความรู้ผู้ที่อ่านอาจไม่เพียงพอ คนที่เป็น “อาจารย์” แล้ว เขาก็ไม่มาอ่าน เรื่องนี้พอๆกับสอนคณิตศาสตร์ให้ชั้นมัธยมถึงมหาวิทยาลัยแหละครับ จะมาสรุปเป็นคีย์เวิร์ดหรือ สูตรได้ก็ต้องรู้เรื่องก่อนแล้ว จะเล่าเรื่องกว้างๆให้ดูสักหน่อยก็แล้วกัน

ตัวเลขที่ใช้ในทางโหราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ไทย หากแบ่งตามจะพวกจะเป็น 5 หมวด ได้แก่ ปริมาณ ขนาด จำนวนนับ เลขลำดับ และ เลขทวี ซึ่งถือเป็นเลขจำนวนของรูปวัตถุ (รูปธาตุ) นอกจากนั้น จะเป็นเลขพิเศษ หรือ เลขเฉพาะ ซึ่งเป็นเกณฑ์เลขพิเศษ ใช้โดยตรงไม่ได้ ต้องใช้ในการคำนวณในระดับสูงขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ เกณฑ์วัด (parameters) ของจักรราศี นอกจากนั้น จะมี “เกณฑ์เวลา” ที่จะต้องรู้เรื่อง เวลา กาล โหรา นาที อันโตนาที ฯลฯ เหล่านี้ก่อน จึงจะเข้าใจ อยู่ในหมวดของนามธาตุ แยกออกไปต่างหากจากจำนวนที่เป็นรูปวัตถุ เอาคร่าวๆในที่นี้ จะพูดถึงเพียงเลขจำนวนตามรูปวัตถุ ที่พอเขียนย่อๆได้

1 / ปริมาณ หมายถึง ปริมาณที่ไม่มีหน่วยนับ ในโหราศาสตร์จะเป็นพวกที่เป็นหมู่ หรือ mass ใหญ่ๆ หรือ เป็นกลุ่มก้อน เช่น ทรัพย์สมบัติ ที่ดิน ปศุสัตว์ เหล่านี้ จะใช้ความหมายของ (ธาตุ) ดาว เช่น เสาร์ เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด รองลงมา คือ จันทร์ ศุกร์ พุธ ราหู อังคาร พฤหัส จะเห็นว่า พฤหัสนั้นต่ำที่สุดในกลุ่มปริมาณ แต่ทางคุณภาพนั้น จะเรียงเป็น ศุกร์ จันทร์ พฤหัส พุธ ราหู เสาร์ นี่เป็นเพียงคุณสมบัติที่เกิดจากธาตุเริ่มต้นที่เกิดขึ้น ซึ่งในธรรมชาติสถานะนี้ไม่มีเสถียรภาพ เมื่อธาตุเกิดแล้วจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนภพภูมิไปตลอดเวลา เช่นโดยคร่าวๆ พฤหัสจะเลื่อนขึ้น ส่วนเสาร์จะเลื่อนลง นอกจากนั้น คุณสมบัติของธาตุที่เป็น อุจ มหาจักร นิจประราชาโชค ต่างๆเหล่านี้จะมีผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพด้วย เช่นเราทำนาย พฤหัสราชาโชคอยู่ในเรือนกดุมภะ ต้องทำนายว่า เดิมขาดแคลนไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงเพิ่มพูนขึ้นสมบูรณ์ภายหลัง ส่วนจะเป็นเมื่อใด อัตราเท่าใด ต้องไปศึกษาเรื่องคุณภาพและวัยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่า

2 / ขนาด หมายถึง การกินเนื้อที่ ที่ปรากฏ ในโหราศาสตร์ล้วนเป็นขนาดที่เปรียบเทียบ เช่น ใหญ่ เล็ก สูง ต่ำ มาก น้อย คือเป็นคุณศัพท์บอกปริมาณ มากกว่าเป็นขนาดที่แท้จริง เหล่านี้จะใช้คุณสมบัติของธาตุ เช่น อุจ นิจ ประ และเรือน เช่น อริ มรณะ วินาสน์ พันธุ ปัตนิ ซึ่งเรือนทั้ง 12 เรือนจะทำให้วัตถุมีขนาด และธรรมชาติไม่เท่ากัน ที่ว่าเป็นขนาดเปรียบเทียบ คือจะ หนึ่ง เปรียบเทียบกับดาว 2 ดาว คือ ๑ และ ๒ สอง เปรียบเทียบกับ เจ้าเรือน คือ ตนุลัคน์ และตนุเกษตร สาม เปรียบเทียบกับเรือน คือ พันธุ ศุภะ เป็นเบื้องต้น อย่างเช่นสมมุติ ลัคนาอยู่ราศีตุลย์ อังคารพันธุเป็นนิจอยู่กรกฏ อ่านว่า ญาติพี่น้องของเจ้าชะตาควรจะรูปร่างเล็กกว่าเจ้าชะตา แต่ถ้าบังเอิญ เจ้าเรือนลัคน์คือศุกร์เป็นนิจในราศีมีนด้วย จะกลายเป็นเงื่อนไขของชะตา คือเจ้าชะตาควรจะร่างเล็กกว่าญาติพี่น้อง ญาติพี่น้องจะไม่ดี หากถ้าเจ้าชะตาสูงใหญ่กว่า จะผิดหวังเรื่องการครองคู่และความรักตามความหมายของศุกร์ ดังนี้เป็นต้น จะเห็นว่าการรู้รูปร่างผิวพรรณของเจ้าชะตา จะมีผลการทำนายหลายอย่างในโหราศาสตร์ ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นเคล็ดลับของบางสำนัก ยังมีอีกหลายเล่มเกวียน

3 / จำนวนนับ หมาย ถึง จำนวนที่เป็นหน่วยนับได้ เช่น เป็นชิ้น อัน คน ตัว เหล่านี้ ใช้ตัวเลขแทนดาวนั่นเองเป็นตัวนับ เช่น ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ คือจำนวน 1 2 3 4 5 6 7 8 ตามลำดับ เดิม โหราศาสตร์ใช้เพียงเลขฐาน 8 คือมี 8 ตัวนับ ต่อมามีการเพิ่ม ๐ และ ๙ เข้ามาด้วย ขอให้รู้ไว้ก่อนว่า ทางจำนวนนับแล้ว ๐ มฤตยู และ ๙ เกตุ จะไม่ตรงกับเลขทางอารบิค คือ มฤตยู ๐ หมายถึง 9 (เก้า) ๙ เกตุ หมายถึง 10 (สิบ) แต่การนับนี้

ไม่ได้นับตลอดเวลา เช่น ๑ ไม่ได้หมายถึง 1 (หนึ่ง) ตลอดเวลา แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่าเมื่อใด เลขแทนดาวจึงจะกลายเป็นจำนวนที่นับได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาว แต่ที่อยากจะชี้ตอนนี้ก็คือ ที่มีผู้ ใช้เลขดาวไปดูเลขที่บ้านบ้าง เลขทะเบียนรถยนต์บ้าง เลขบัตรประจำตัวบ้างนั้น ไม่ถูกตามหลักโหราศาสตร์ตัวเลข และโบราณก็ไม่มีคำว่า “เลขศาสตร์” สิ่งสำคัญของจำนวนนับเหล่านี้ ก็คือ เมื่อเลขยังแทนดาวอยู่ จะบวกลบกันไม่ได้ แต่เมื่อใดมันกลายเป็นตัวเลข จึงจะบวกลบได้ การบวกลบตัวเลขแทนดาวเหล่านี้ ไม่ได้ใช้เครื่องหมายบวกลบ (operators) แต่จะใช้เกณฑ์ระหว่างดาว เกณฑ์ที่ยกตัวอย่างง่ายที่สุด คือ เกณฑ์จตุโกณนั่นเอง นี่ก็เป็น เคล็ดลับที่ซับซ้อนอธิบายตรงนี้ไม่ได้

4 / เลขธาตุ (หรือเลขตามภูมิ) หมายถึง เลขที่เป็นชั้นสิ้นสุดของธาตุในแต่ละภูมิ (หรือ node) เลขเหล่านี้ จะเท่ากับจำนวนอยู่เสมอ เมื่อธาตุนั้นแสดงตัวออกตามภูมิ ที่อธิบายตัวอย่างง่ายหน่อย เช่น มหาทักษา นั้น ธาตุจะมีกำลัง ที่เรารู้กัน เช่น ๑ คือ 6 ๒ คือ 15 ๓ คือ 8 ๔ คือ 17 ๕ คือ 19 ๖ คือ 21 ๗ คือ 10 ๘ คือ 12 เลขเหล่านี้จะเกิดผลทันทีเมื่อธาตุนั้นแสดงตัวออกตามภูมิธาตุของมัน อย่างเช่น พฤหัส เมื่อมันแสดงปรัชญาเป็นพฤหัส มันจะมีเลข 19 โดยอัตโนมัติ และมีเลขพิเศษ คือ 9 (เก้า ไม่ใช่ เกตุ) ด้วย เลขธาตุนี้ แปลได้ทั้งไปและกลับ เช่น หากเขียนเลข 9 ก็จะ หมายถึงพฤหัสทันที ดังนั้น นักวางฤกษ์จึงใช้เลข 9 เสมอ เพราะ 9 ตัวนี้ไม่ใช่เกตุ และไม่ใช่ตัวเลขบวกลบได้อย่างข้อ 3 / ไม่ใช่ ปริมาณตามข้อ 1 / นอกจากนั้น ยังมี เสาร์ก็คือ 10 และมีพิเศษ คือ 0 (ศูนย์ ไม่ใช่ มฤตยู) เลข 0 ที่ไม่ใช่จำนวนนับ และปริมาณ จะเป็น เสาร์ เป็นต้น (ดังนั้น ฤกษ์ทางไทย จึงไม่ใช้ฤกษ์ที่ 0 หรือ ไม่ใช้ 0 ในฤกษ์ เพราะเสียงอ่านยังไปคล้ายกับ คำว่า “สูญ” ด้วย) เลขตามภูมิยังมีอีกจำนวนหนึ่ง ที่เขามักเก็บกันไว้ไม่บอก แต่ต้องใช้โดยมีเงื่อนไขบางอย่าง

5 / เลขลำดับ หมายถึง ลำดับที่ (order) ของสิ่งต่างๆ เลขลำดับนี้มีสองพวก คือ เลขลำดับธรรมชาติ กับเลขลำดับตามเกณฑ์ (เงื่อนไข) เลขลำดับธรรมชาตินี้ เกิดจากวงรอบธรรมชาติ อาจจะเรียกว่า เลขธรรมชาติก็ได้ เลขธรรมชาตินี้เกิดจากวงรอบที่เราเลือกมาใช้เป็นฐานในการศึกษาโหราศาสตร์ ยกตัวอย่างที่ง่ายสุด ก็คือ ตัวเลขแทนมหาทักษา จะเรียงจากเริ่มทื่พุธ ๔ ๗ ๕ ๘ ๖ ๑ ๒ ๓ คือ ลำดับที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 เสมอ แต่ในราศีจักร เลขลำดับนี้ จะเป็นลำดับของดาวเคราะห์ที่ห่างจากดวงอาทิตย์ เช่น ๑ ๔ ๖ ๓ ๕ ๗ (๘) การใช้เลขลำดับ มักใช้เป็นฐานในการหาเลขอื่น พวกที่เรียนทางวงรอบธรรมชาติ เช่น เลข 7 ตัว 12 ตัว เลข ฐาน 14 อะไรเหล่านี้จะใช้มาก ส่วนทางจักรราศีจะใช้ เมื่อออกแบบโหราศาสตร์เป็นหลัก รวมทั้งใช้ในวัย ส่วนเลขลำดับตามเกณฑ์ (เงื่อนไข) ยกตัวอย่างจากมหาทักษาง่ายดี คือ การนับภูมิพยากรณ์ที่เราใช้กันในทักษาเดิม ทักษาจร คือ นับจากปัจจัยเจ้าชะตา เช่น วันเกิด อายุจร ส่วนในราศีจักร ที่ยกตัวอย่างง่ายหน่อย เช่น ตรีวัย นับเรียงเรือนจากตนุเศษ ได้แก่ ตนุ กดุมภะ กัมมะ สหัชชะ ศุภะ ลาภะ พันธุ ปุตตะ ปัตนิ อริ มรณะ วินาสน์ คือ อันดับครบรอบ 12 ลำดับ เลขลำดับเหล่านี้ เมื่อครบรอบเป็นวงกลมก็จะซ้ำใหม่ ทางโหราศาสตร์ไทยยังคงเป็นเลขฐาน 8 อยู่ แต่มีเลขลำดับอีกหลายชุดที่เกิดจากวงรอบที่ใหญ่กว่า ยังไม่พร้อมจะยกตัวอย่างตรงนี้

6 / เลขทวี หมายถึง เลขที่เป็นตัวคูณ หรือ ตัวหาร ตัวมันเองจะไม่มีผลในทางบวกลบแบบข้อ 3 / แต่มันจะไปทำให้ตัวเลขอื่นเพิ่มทวี หรือ ลดลง ที่เราใช้กันระดับประถม คือ เกตุ และ มฤตยู เกตุนั้น มักจะทำให้ ตัวเลขอื่น คูณสอง เช่นหากกุมปุตตะ อาจจะเป็นลูกฝาแฝด ส่วน มฤตยู มักตัดแบ่งหารสอง เช่น มฤตยูกุมปัตนิ มักจะอยู่ด้วยกันแค่ครึ่งเดียวของกำลังปัตนิ เช่นทำนายว่าอยู่กัน 50 ปี ก็เหลือแค่ 25 ปี ตนุลัคน์กุมมฤตยู อาจจะเหลือครึ่งเพศ เช่น เป็นเกย์ ดังนี้เป็นต้น พวกหมวดเลขทวีมีมากกว่านี้เยอะ เรียนกันสัก 6 เดือนกว่าจะหมด พึงระวังหากพิจารณาร่วมกับเกณฑ์ตามข้อ 3 / ด้วย ต้องบวกลบก่อนแล้วจึงคูณหาร

อันนี้เป็นเพียงคร่าวๆที่ควรรู้ในระดับโหราศาสตร์ชั้นกลางๆ พอให้ได้ความคิด เพราะในทางปฏิบัติต้องสอนด้วยวาจา ไม่เหมือนสอนคณิตศาสตร์ เพราะต้องใช้กับภูมิทางนามธาตุด้วย ซึ่งยังต้องรู้อีกหลายอย่าง


วรกุล - 14 กันยายน พ.ศ.2549 09:39น. (IP: 203.107.206.22)

ความคิดเห็นที่ 9
ตัวเลขที่ใช้ในทางโหราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ไทย หากแบ่งตามจะพวกจะเป็น 5 หมวด ได้แก่ ปริมาณ ขนาด จำนวนนับ เลขลำดับ และ เลขทวี ซึ่งถือเป็นเลขจำนวนของรูปวัตถุ (รูปธาตุ)

ขอโทษครับ ขอแก้เป็น 6 หมวด เพิ่ม เลขธาตุด้วย


วรกุล - 14 กันยายน พ.ศ.2549 10:03น. (IP: 203.107.203.193)

ความคิดเห็นที่ 10
ขออภัยนะครับ..ไม่ได้จะจับผิดนะครับคือ ข้อ2 /เรื่องขนาด อ.เขียนว่า"อย่างเช่นสมมุติ ลัคนาอยู่ราศีตุลย์ อังคารพันธุเป็นนิจอยู่กรกฏ อ่านว่า ญาติพี่น้องของเจ้าชะตาควรจะรูปร่างเล็กกว่าเจ้าชะตา "

อังคาร เป็นเจ้าเรื่อน กดุมภะ กับ ปัตนิ ไม่ใช่หรอครับ

แต่อ่านแล้วก็เข้าใจความหมายที่ อ. จะสื่อนะครับ

ผมมาอ่านบทความของ อ. ทุกวัน ขอบคุณ อ.วรกุล มากนะครับ สำหรับการเสียสละมาให้ความรู้อันประมาณค่ามิได้นี้

รักและเคารพ


ton - 14 กันยายน พ.ศ.2549 10:33น. (IP: 192.193.164.8)

ความคิดเห็นที่ 11
อันนี้ด้วยครับ "แต่ถ้าบังเอิญ เจ้าเรือนลัคน์คือศุกร์เป็นนิจในราศีมีนด้วย จะกลายเป็นเงื่อนไขของชะตา "

ราศีมีน ศุกร์ ตนุลัคน์ เป็นอุจ ไม่ใช่หรอครับ


ton - 14 กันยายน พ.ศ.2549 11:01น. (IP: 192.193.164.8)

ความคิดเห็นที่ 12


ถุกแล้วครับที่ท้วง บังเอิญผมเขียนแล้วตัดต่อ ไม่ถูกเอง จะว่า เสาร์เป็นพันธุ เป็นนิจ แล้วมาพิมพ์เปลี่ยนเป็นอังคาร แล้วก็ผิดเรื่องศุกร์ ต้องเป็นนิจในราศีกันย์ มัวแต่แก้คำผิด เลยลืมแก้ เนื้อหาให้ตามกัน เพราะตาลายไปหมด แต่หวังว่าคงเข้าใจที่ยกตัวอย่างนะครับ สาระไม่ได้อยู่ตรงนั้น ผมมีเวลาน้อย แต่ก็ยอมรับผิด


วรกุล - 14 กันยายน พ.ศ.2549 16:52น. (IP: 203.107.205.46)

ความคิดเห็นที่ 13
เรียน อ.วรกุล

ขอบคุณครับที่สละเวลาให้เห็นแนวคิด และขอบคุณคุณton ที่กรุณาถามท้วง เพราะผมเองอ่านตอนแรกก็งงๆ กำลังจะเข้ามาถามเช้านี้พอดี และขอถามอาจารย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อ 1 และ 2 เนื่องจากผมพอจะเห็นว่าสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมต่อได้ และน่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆด้วย เรื่องแรก เกี่ยวกับปริมาณ หมายความว่ากรณีเราดูพื้นดวงชะตา ถ้ามีดาวอะไรเข้ามาอยู่ในเรือนที่เราต้องการดู(ไม่ว่าจะเป็นดาวเจ้าเรือนอะไรก็ตาม) นั้นสามารถดูได้เลยว่ามีความเกี่ยวข้องกับปริมาณได้ ตามหลักที่อาจารย์ให้มา รวมถึงคุณภาพที่ดูจากคุณสมบัติทางธาตุด้วย ยกตัวอย่างถ้าจันทร์ อยู่ในภพกดุมภะ น่าจะมีปริมาณมากกว่า ราหู เป็นเกษตร ในภพกดุมพะ(กรณีมีลัคนาอยู่ราศีมังกร) ทั้งๆที่ ราหูเป็นเกษตร อันนี้เข้าใจถูกต้องหรือป่าวครับ ขออาจารย์แนะนำด้วย ขอเป็นหลักการเบื้องต้น ส่วนยกเว้นแล้วแต่ว่าอาจารย์เห็นสมควรจะเพิ่มเติมให้หรือไม่ครับ

กรณีที่ 2 เรื่องขนาดเชิงเปรียบเทียบ ทั้ง 3 กรณี แยกใช้แตกต่างกันอย่างไรครับ

ขอบคุณครับ


อายครู บ่รู้วิชา - 15 กันยายน พ.ศ.2549 08:03น. (IP: 203.150.137.113)

ความคิดเห็นที่ 14
ยังต้องแก้ไขอยู่ครับโดยเฉพาะในข้อ 1 / ยังบกพร่องอยู่ ดังนั้น ข้อเขียนความเห็นที่ 9 ขอโพสต์ใหม่ เป็นเพียงการแก้คำผิดและเพิ่มส่วนที่ตกไป เนื้อความอื่นยังคงเดิม

ตอบคุณ อายครู บ่รู้วิชา (ความเห็น 8) ............ดูเหมือนผมจะเขียนไปบ้างแล้วเมื่อปีก่อน หนังสือตำราเบื้องต้นจะไม่มีบอกไว้หรอกครับ ปกติเรื่องนี้เขาเอาไว้เรียนในระดับสูงขึ้นไป เพราะการใช้ตัวเลข ที่หมายถึงจำนวนต่างๆในดวงชะตา ไม่ได้ใช้โดยตรง ส่วนใหญ่จะใช้ตาม “เกณฑ์” ซึ่งต้องเข้าใจเรื่องเกณฑ์ก่อน จึงทำให้ไม่มีการสอนกันในระดับต้นๆ แล้วก็กลายเป็น “เคล็ด"”การดูดวงไปเสียอีก ผมเคยคิดจะเขียนให้เหมือนกัน แต่มันยืดยาวมาก และความรู้ผู้ที่อ่านอาจไม่เพียงพอ คนที่เป็น “อาจารย์” แล้ว เขาก็ไม่มาอ่าน เรื่องนี้พอๆกับสอนคณิตศาสตร์ให้ชั้นมัธยมถึงมหาวิทยาลัยแหละครับ จะมาสรุปเป็นคีย์เวิร์ดหรือ สูตรได้ก็ต้องรู้เรื่องก่อนแล้ว จะเล่าเรื่องกว้างๆให้ดูสักหน่อยก็แล้วกัน

ตัวเลขที่ใช้ในทางโหราศาสตร์ และ โหราศาสตร์ไทย หากแบ่งตามจะพวกจะเป็น 6 หมวด ได้แก่ ปริมาณ ขนาด จำนวนนับ เลขธาตุ เลขลำดับ และ เลขทวี ซึ่งถือเป็นเลขจำนวนของรูปวัตถุ (รูปธาตุ) นอกจากนั้น จะเป็นเลขพิเศษ หรือ เลขเฉพาะ ซึ่งเป็นเกณฑ์เลขพิเศษ ใช้โดยตรงไม่ได้ ต้องใช้ในการคำนวณในระดับสูงขึ้นไป ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับ เกณฑ์วัด (parameters) ของจักรราศี นอกจากนั้น จะมี “เกณฑ์เวลา” ที่จะต้องรู้เรื่อง เวลา กาล โหรา นาที อันโตนาที ฯลฯ เหล่านี้ก่อน จึงจะเข้าใจ อยู่ในหมวดของนามธาตุ แยกออกไปต่างหากจากจำนวนที่เป็นรูปวัตถุ เอาคร่าวๆในที่นี้ จะพูดถึงเพียงเลขจำนวนตามรูปวัตถุ ที่พอเขียนย่อๆได้

1 / ปริมาณ หมายถึง ปริมาณที่ไม่มีหน่วยนับ ในโหราศาสตร์จะเป็นพวกที่เป็นหมู่ หรือ mass ใหญ่ๆ หรือ เป็นกลุ่มก้อน เช่น ทรัพย์สมบัติ ที่ดิน ปศุสัตว์ เหล่านี้ จะใช้ความหมายของ (ธาตุ) ดาว เช่น เสาร์ เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด รองลงมา คือ จันทร์ ศุกร์ อาทิตย์ พุธ ราหู อังคาร พฤหัส จะเห็นว่า พฤหัสนั้นต่ำที่สุดในกลุ่มปริมาณ แต่ทางคุณภาพนั้น จะเรียงเป็น ศุกร์ จันทร์ พฤหัส อาทิตย์ พุธ อังคาร ราหู เสาร์ นี่เป็นเพียงคุณสมบัติที่เกิดจากธาตุเริ่มต้นที่เกิดขึ้น ซึ่งในธรรมชาติสถานะนี้ไม่มีเสถียรภาพ เมื่อธาตุเกิดแล้วจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนภพภูมิไปตลอดเวลา เช่นโดยคร่าวๆ พฤหัสจะเลื่อนขึ้น ส่วนเสาร์จะเลื่อนลง นอกจากนั้น คุณสมบัติของธาตุที่เป็น อุจ มหาจักร นิจประราชาโชค ต่างๆเหล่านี้จะมีผลต่อทั้งปริมาณและคุณภาพด้วย เช่นเราทำนาย พฤหัสราชาโชคอยู่ในเรือนกดุมภะ ต้องทำนายว่า เดิมขาดแคลนไม่มีอยู่ก่อน แล้วจึงเพิ่มพูนขึ้นสมบูรณ์ภายหลัง ส่วนจะเป็นเมื่อใด อัตราเท่าใด ต้องไปศึกษาเรื่องคุณภาพและวัยซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่า

2 / ขนาด หมายถึง การกินเนื้อที่ ที่ปรากฏ ในโหราศาสตร์ล้วนเป็นขนาดที่เปรียบเทียบ เช่น ใหญ่ เล็ก สูง ต่ำ มาก น้อย คือเป็นคุณศัพท์บอกปริมาณ มากกว่าเป็นขนาดที่แท้จริง เหล่านี้จะใช้คุณสมบัติของธาตุ เช่น อุจ นิจ ประ และเรือน เช่น อริ มรณะ วินาสน์ พันธุ ปัตนิ ซึ่งเรือนทั้ง 12 เรือนจะทำให้วัตถุมีขนาด และธรรมชาติไม่เท่ากัน ที่ว่าเป็นขนาดเปรียบเทียบ คือจะ หนึ่ง เปรียบเทียบกับดาว 2 ดาว คือ ๑ และ ๒ สอง เปรียบเทียบกับ เจ้าเรือน คือ ตนุลัคน์ และตนุเกษตร สาม เปรียบเทียบกับเรือน คือ พันธุ ศุภะ เป็นเบื้องต้น อย่างเช่นสมมุติ ลัคนาอยู่ราศีตุลย์ เสารพันธุเป็นนิจอยู่เมษ อ่านว่า ญาติพี่น้องของเจ้าชะตาควรจะรูปร่างเล็กกว่าเจ้าชะตา แต่ถ้าบังเอิญ เจ้าเรือนลัคน์คือศุกร์เป็นนิจในราศีกันย์ด้วย จะกลายเป็นเงื่อนไขของชะตา คือเจ้าชะตาควรจะร่างเล็กกว่าญาติพี่น้อง ญาติพี่น้องจะไม่ดี หากถ้าเจ้าชะตาสูงใหญ่กว่า จะผิดหวังเรื่องการครองคู่และความรักตามความหมายของศุกร์ ดังนี้เป็นต้น จะเห็นว่าการรู้รูปร่างผิวพรรณของเจ้าชะตา จะมีผลการทำนายหลายอย่างในโหราศาสตร์ ดังที่ยกตัวอย่างมานี้ เป็นเคล็ดลับของบางสำนัก ยังมีอีกหลายเล่มเกวียน

3 / จำนวนนับ หมาย ถึง จำนวนที่เป็นหน่วยนับได้ เช่น เป็นชิ้น อัน คน ตัว เหล่านี้ ใช้ตัวเลขแทนดาวนั่นเองเป็นตัวนับ เช่น ๑ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ๗ ๘ คือจำนวน 1 2 3 4 5 6 7 8 ตามลำดับ เดิม โหราศาสตร์ใช้เพียงเลขฐาน 8 คือมี 8 ตัวนับ ต่อมามีการเพิ่ม ๐ และ ๙ เข้ามาด้วย ขอให้รู้ไว้ก่อนว่า ทางจำนวนนับแล้ว ๐ มฤตยู และ ๙ เกตุ จะไม่ตรงกับเลขทางอารบิค คือ มฤตยู ๐ หมายถึง 9 (เก้า) ๙ เกตุ หมายถึง 10 (สิบ) แต่การนับนี้ไม่ได้นับตลอดเวลา เช่น ๑ ไม่ได้หมายถึง 1 (หนึ่ง) ตลอดเวลา แต่มีเงื่อนไขอยู่ว่าเมื่อใด เลขแทนดาวจึงจะกลายเป็นจำนวนที่นับได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องยาว แต่ที่อยากจะชี้ตอนนี้ก็คือ ที่มีผู้ ใช้เลขดาวไปดูเลขที่บ้านบ้าง เลขทะเบียนรถยนต์บ้าง เลขบัตรประจำตัวบ้างนั้น ไม่ถูกตามหลักโหราศาสตร์ตัวเลข และโบราณก็ไม่มีคำว่า “เลขศาสตร์” สิ่งสำคัญของจำนวนนับเหล่านี้ ก็คือ เมื่อเลขยังแทนดาวอยู่ จะบวกลบกันไม่ได้ แต่เมื่อใดมันกลายเป็นตัวเลข จึงจะบวกลบได้ การบวกลบตัวเลขแทนดาวเหล่านี้ ไม่ได้ใช้เครื่องหมายบวกลบ (operators) แต่จะใช้เกณฑ์ระหว่างดาว เกณฑ์ที่ยกตัวอย่างง่ายที่สุด คือ เกณฑ์จตุโกณนั่นเอง นี่ก็เป็น เคล็ดลับที่ซับซ้อนอธิบายตรงนี้ไม่ได้

4 / เลขธาตุ (หรือเลขตามภูมิ) หมายถึง เลขที่เป็นชั้นสิ้นสุดของธาตุในแต่ละภูมิ (หรือ node) เลขเหล่านี้ จะเท่ากับจำนวนอยู่เสมอ เมื่อธาตุนั้นแสดงตัวออกตามภูมิ ที่อธิบายตัวอย่างง่ายหน่อย เช่น มหาทักษา นั้น ธาตุจะมีกำลัง ที่เรารู้กัน เช่น ๑ คือ 6 ๒ คือ 15 ๓ คือ 8 ๔ คือ 17 ๕ คือ 19 ๖ คือ 21 ๗ คือ 10 ๘ คือ 12 เลขเหล่านี้จะเกิดผลทันทีเมื่อธาตุนั้นแสดงตัวออกตามภูมิธาตุของมัน อย่างเช่น พฤหัส เมื่อมันแสดงปรัชญาเป็นพฤหัส มันจะมีเลข 19 โดยอัตโนมัติ และมีเลขพิเศษ คือ 9 (เก้า ไม่ใช่ เกตุ) ด้วย เลขธาตุนี้ แปลได้ทั้งไปและกลับ เช่น หากเขียนเลข 9 ก็จะ หมายถึงพฤหัสทันที ดังนั้น นักวางฤกษ์จึงใช้เลข 9 เสมอ เพราะ 9 ตัวนี้ไม่ใช่เกตุ และไม่ใช่ตัวเลขบวกลบได้อย่างข้อ 3 / ไม่ใช่ ปริมาณตามข้อ 1 / นอกจากนั้น ยังมี เสาร์ก็คือ 10 และมีพิเศษ คือ 0 (ศูนย์ ไม่ใช่ มฤตยู) เลข 0 ที่ไม่ใช่จำนวนนับ และปริมาณ จะเป็น เสาร์ เป็นต้น (ดังนั้น ฤกษ์ทางไทย จึงไม่ใช้ฤกษ์ที่ 0 หรือ ไม่ใช้ 0 ในฤกษ์ เพราะเสียงอ่านยังไปคล้ายกับ คำว่า “สูญ” ด้วย) เลขตามภูมิยังมีอีกจำนวนหนึ่ง ที่เขามักเก็บกันไว้ไม่บอก แต่ต้องใช้โดยมีเงื่อนไขบางอย่าง

5 / เลขลำดับ หมายถึง ลำดับที่ (order) ของสิ่งต่างๆ เลขลำดับนี้มีสองพวก คือ เลขลำดับธรรมชาติ กับเลขลำดับตามเกณฑ์ (เงื่อนไข) เลขลำดับธรรมชาตินี้ เกิดจากวงรอบธรรมชาติ อาจจะเรียกว่า เลขธรรมชาติก็ได้ เลขธรรมชาตินี้เกิดจากวงรอบที่เราเลือกมาใช้เป็นฐานในการศึกษาโหราศาสตร์ ยกตัวอย่างที่ง่ายสุด ก็คือ ตัวเลขแทนมหาทักษา จะเรียงจากเริ่มทื่พุธ ๔ ๗ ๕ ๘ ๖ ๑ ๒ ๓ คือ ลำดับที่ 1 2 3 4 5 6 7 8 เสมอ แต่ในราศีจักร เลขลำดับนี้ จะเป็นลำดับของดาวเคราะห์ที่ห่างจากดวงอาทิตย์ เช่น ๑ ๔ ๖ ๓ ๕ ๗ (๘) การใช้เลขลำดับ มักใช้เป็นฐานในการหาเลขอื่น พวกที่เรียนทางวงรอบธรรมชาติ เช่น เลข 7 ตัว 12 ตัว เลข ฐาน 14 อะไรเหล่านี้จะใช้มาก ส่วนทางจักรราศีจะใช้ เมื่อออกแบบโหราศาสตร์เป็นหลัก รวมทั้งใช้ในวัย ส่วนเลขลำดับตามเกณฑ์ (เงื่อนไข) ยกตัวอย่างจากมหาทักษาง่ายดี คือ การนับภูมิพยากรณ์ที่เราใช้กันในทักษาเดิม ทักษาจร คือ นับจากปัจจัยเจ้าชะตา เช่น วันเกิด อายุจร ส่วนในราศีจักร ที่ยกตัวอย่างง่ายหน่อย เช่น ตรีวัย นับเรียงเรือนจากตนุเศษ ได้แก่ ตนุ กดุมภะ กัมมะ สหัชชะ ศุภะ ลาภะ พันธุ ปุตตะ ปัตนิ อริ มรณะ วินาสน์ คือ อันดับครบรอบ 12 ลำดับ เลขลำดับเหล่านี้ เมื่อครบรอบเป็นวงกลมก็จะซ้ำใหม่ ทางโหราศาสตร์ไทยยังคงเป็นเลขฐาน 8 อยู่ แต่มีเลขลำดับอีกหลายชุดที่เกิดจากวงรอบที่ใหญ่กว่า ยังไม่พร้อมจะยกตัวอย่างตรงนี้

6 / เลขทวี หมายถึง เลขที่เป็นตัวคูณ หรือ ตัวหาร ตัวมันเองจะไม่มีผลในทางบวกลบแบบข้อ 3 / แต่มันจะไปทำให้ตัวเลขอื่นเพิ่มทวี หรือ ลดลง ที่เราใช้กันระดับประถม คือ เกตุ และ มฤตยู เกตุนั้น มักจะทำให้ ตัวเลขอื่น คูณสอง เช่นหากกุมปุตตะ อาจจะเป็นลูกฝาแฝด ส่วน มฤตยู มักตัดแบ่งหารสอง เช่น มฤตยูกุมปัตนิ มักจะอยู่ด้วยกันแค่ครึ่งเดียวของกำลังปัตนิ เช่นทำนายว่าอยู่กัน 50 ปี ก็เหลือแค่ 25 ปี ตนุลัคน์กุมมฤตยู อาจจะเหลือครึ่งเพศ เช่น เป็นเกย์ ดังนี้เป็นต้น พวกหมวดเลขทวีมีมากกว่านี้เยอะ เรียนกันสัก 6 เดือนกว่าจะหมด พึงระวังหากพิจารณาร่วมกับเกณฑ์ตามข้อ 3 / ด้วย ต้องบวกลบก่อนแล้วจึงคูณหาร

อันนี้เป็นเพียงคร่าวๆที่ควรรู้ในระดับโหราศาสตร์ชั้นกลางๆ พอให้ได้ความคิด เพราะในทางปฏิบัติต้องสอนด้วยวาจา ไม่เหมือนสอนคณิตศาสตร์ เพราะต้องใช้กับภูมิทางนามธาตุด้วย ซึ่งยังต้องรู้อีกหลายอย่าง


วรกุล - 15 กันยายน พ.ศ.2549 13:05น. (IP: 203.107.205.96)

ความคิดเห็นที่ 15
เรียนท่านอาจารย์วรกุล

ผมศรัทธาวิชาตรีภพ (เศษพระจอมเกล้า) แต่มีปัญหาเรื่องการนับปีนักษัตร เพราะเท่าที่ศึกษาดูหลายๆท่านมีความเห็นเรื่องวันที่เปลี่ยนปีนักษัตรไม่ตรงกัน (เดือนอ้าย,เดือนห้า,สงกรานต์ และอื่นๆ)

จึงอยากขอเรียนถามท่านอาจารย์ว่า พระองค์ท่าน (รัชกาลที่สี่) ทรงใช้แบบใดครับ

ขอรบกวนด้วย ขอบพระคุณมากครับ


สุวรรณ - 15 กันยายน พ.ศ.2549 17:53น. (IP: 203.156.32.142)

ความคิดเห็นที่ 16
ตอบคุณ อายครู บ่รู้วิชา (ความเห็น 15) ............ต้องขอโทษทุกท่านที่อ่านด้วยครับ บังเอิญผมมีเวลาช่วงเช้าน้อย ไม่ได้ทบทวนมาก ทำให้ผิดพลาดหลายอย่าง และไม่สามารถอธิบายทุกหัวข้อได้ เพราะแต่ละหัวข้อนั้นเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดและวิธีการมาก เมื่อเขียนย่อๆก็บกพร่อง อธิบายแต่ต้นก็ไม่ได้ เพราะต่างคนต่างไม่ได้เรียนกันมาเป็นส่วนมาก รวมทั้งต้องคำนึงถึงผู้อ่านที่มีความรู้ ความคิดไม่เท่ากันด้วย ดังนั้น ขอให้เข้าใจว่า ผมคงทำได้เพียงมาบอกให้ทราบแนวทางว่า มากกว่าจะมาอธิบายให้กระจ่างแจ้งในทุกเรื่อง

ตามข้อ 1 / จำนวนเชิงปริมาณนั้นเป็นธรรมชาติของดาว (จะเห็นว่าผมมาโพสต์ดาวที่ขาดหายไปครบ 8 ดวงแล้ว) ตามที่เรียงลำดับดาวดังกล่าวถือว่าเป็นดาวที่มีความเท่าเทียมกัน (หมายถึง มีกำลังธาตุและกำลังดาว เสมอกัน) เช่น เป็นเกษตร เหมือนกันทุกดวง ก่อนที่มันจะแปรเปลี่ยนไป เช่น ลัคนาราศีมิถุน มีจันทร์กดุมภะเป็นเกษตร เทียบกับ ลัคนาราศีกุมภ์ มีพฤหัสเป็นเกษตร เช่นนี้ พูดง่ายๆ ลัคนาราศีมิถุนตั้งต้นน่าจะรวยกว่า สมบัติมีคุณภาพมากกว่า เพราะจันทร์นั้นดีกว่าพฤหัสทั้งปริมาณและคุณภาพ ทำนองนี้เป็นต้น แต่การดูเชิงปริมาณนั้น ไม่ได้ดูดาวเดี่ยวๆ แต่จะต้องขึ้นอยู่กับ 1 / เจ้าเรือนที่มันอยู่ 2 / คุณสมบัติของดาวนั้นเอง เช่นมีความเข้มแข็งสูง ปริมาณก็จะมากขึ้นกว่าที่เป็นเกษตร คำว่าเข้มแข็งนี้หมายถึง ตัวมันเองมีตำแหน่งดี ถูกเสริมด้วยดาวที่ดีๆ และมีความมั่นคงสูง ดังนั้นก็ต้องวิเคราะห์ดาวทั้งหมดอยู่นั่นเอง 3 / วัย เพราะดาวจะเปลี่ยนสถานะ ขึ้นหรือลง ตามเวลาที่ผ่านไป และต้องดูตามเรื่องด้วย เช่นเด็กเกิดใหม่ แม้จะมีดาวดีๆ หากพ่อแม่เขาไม่รวย เขาจะรวยเอง ดวงจรก็ต้องมีโชคลาภใหญ่ อะไรประมาณนี้ แม้ผู้ใหญ่ก็เหมือนกัน หากดาวดูว่าอายุนี้น่าจะรวยแล้ว แต่ตอนนี้เขาจนอยู่ ต้องหันไปดูโชคลาภว่ามีไหม หรือควรจะได้มาจากไหน

ส่วนคำถามต่อไป เรื่องขนาดเชิงเปรียบเทียบ นั้น เป็นการเปรียบเทียบในกรอบที่ต่างกัน คือ หนึ่ง เปรียบเทียบกับดาว 2 ดาว คือ ๑ และ ๒ ส่วนใหญ่จะเปรียบเทียบด้าน ระดับของชีวิต ความสำคัญ และวาสนา สูงต่ำ ๑ ใช้เทียบ ระดับชื่อเสียง ความสำคัญ เช่นคนสองคนเป็นดาราเหมือนกัน หากคนแรก มี ๑ เป็นนิจอยู่ คนที่สอง ๑ เป็นอุจ คนหลังจะขึ้นสู่ชื่อเสียงเร็วกว่า สูงกว่าหรือ ทนกว่า ไม่ตกต่ำง่ายเหมือนคนแรก หรือ ตัวคนเดียว หากดาวกัมมะ ศุภะ เป็นอุจ แต่ ๑ เป็นนิจ ก็ทำให้ชื่อเสียงนั้นไม่คงทน หรือ เกิดขึ้นช้า ส่วน ๒ นั้นมักดูเทียบ ขั้นเกียรติยศ ตำแหน่ง (เช่น ยศทหารตำรวจ นายพล คุณหญิง ขั้นซี ราชการ) ทำนองเดียวกัน

ในดาวสองดวงนี้ ยังเทียบกันเองได้อีก เช่น เมื่อดูเปรียบเทียบจากดวงชะตาแล้วตำแหน่งที่เท่ากัน เช่นเป็นพลเอก เหมือนกัน มี ๒ เป็นอุจเหมือนกัน แต่คนที่ ๑ เป็นนิจ อาจจะมีตำแหน่งลอยๆ ไม่มีความสำคัญเลยก็ได้ หรือ อย่างผู้หญิงมี ๒ ราศีเมษ เป็นคุณหญิงเหมือนกัน ถ้า ๑ อุจ หรือ ๑ ดีเด่นด้วย จะเป็นคุณหญิงสำคัญกว่า ดังกว่า สูงกว่า หรือ บางคนอาจจะมี ดาว ๑ อุจ ทำงานสำคัญแทบตาย แต่ดาว ๒ นิจ ตำแหน่งไม่เลื่อนสูงเลย อะไรประมาณนั้น ดาว ๑ หรือ ๒ นั้น จะเป็นดาวที่ให้พลังงานไม่เท่ากัน ทำให้ขนาด หรือ ระดับของขนาดไม่เท่ากัน แต่ต้องดูเรื่องตามดวงชะตามาก่อน

สอง เปรียบเทียบกับ เจ้าเรือน คือ ตนุลัคน์ และตนุเกษตร ใช้เปรียบเทียบ คุณสมบัติ เช่น ความรู้ ฐานะ สุขภาพ สมรรถภาพ อะไรประมาณนี้ เช่น หากดวงชะตาที่มีปัตนิ เป็นนิจ อาจจะทำนายว่า คู่ครองของเจ้าชะตาด้อยกว่าเจ้าชะตาสักอย่างหนึ่ง ต้องตรวจว่าด้อยกว่าในเรื่องอะไร เช่น พุธ เป็นนิจ อาจจะด้อยระดับการศึกษา เป็นต้น สาม เปรียบเทียบกับเรือน คือ พันธุ ศุภะ จะเปรียบเทียบกับชาติกำเนิด เช่น รูปร่าง ผิวพรรณ ของเจ้าชะตา กับ พันธุ ญาติพี่น้อง บิดามารดา หรือ ศุภะ คือ ผู้อุปถัมภ์เลี้ยงดู ที่ถือกำเนิดมา ซึ่งสัมพันธ์กับคุณสมบัติดาวด้วย ตามที่ยกตัวอย่างคราวก่อน ที่ควรสังเกตคือ ข้อสองนั้นเอา ตนุเป็นหลักเพื่อเทียบดูผู้อื่น ข้อสามเอาตนุเทียบเข้าหาชาติกำเนิด แต่เป็นคนละเรื่องกัน

สิ่งที่สำคัญก็คือ การเปรียบเทียบนี้เป็นไปตามสายตาของโลก ไม่ใช่ความรู้สึกของเจ้าชะตา อย่างเช่น เจ้าชะตาอาจจะนึกว่า ตัวเองจบปริญญา แล้วเก่งกว่าภรรยาที่จบ ป.4 อันนั้นเป็นเพียงความเห็นของเจ้าชะตา ซึ่งจะแสดงให้เห็นอ่านได้ในดวงชะตาอีกแบบหนึ่ง แต่ดาวที่เปรียบเทียบในข้อนี้ จะเป็นสายตาของโลก คือ เราอาจจะรู้ว่าภรรยานั้นเก่งกว่า หรือกรณีผิวพรรณ หากเจ้าชะตาเป็นลูกนิโกร แม้จะบอกว่าผิวขาวกว่าพี่น้อง แต่ทางโลกก็ยังเห็นว่ายังดำกว่าคนไทยที่ว่าดำมากมาย ที่ยกตัวอย่างมาง่ายๆ ก็เพื่อให้เข้าใจคำอธิบายเท่านั้น การดูดวงชะตาจะซับซ้อนกว่านี้ และ การใช้เกณฑ์หลายอย่างที่จะสัมพันธ์กันไป ไม่ใช่ดูอะไรอย่างเดียวแล้วสรุปเลย


วรกุล - 15 กันยายน พ.ศ.2549 20:00น. (IP: 203.107.204.174)

ความคิดเห็นที่ 17
ตอบคุณ สุวรรณ (ความเห็น 17) ............ขอแบ่งประเด็นตามที่คุณถามออกเป็นหลายประเด็นนะครับ

ข้อแรก เรื่องตำรา “เศษพระจอมเกล้า” เป็นเรื่องที่มีมานานมากแล้ว เป็นเหมือนตำราพื้นบ้าน เดิมเรียนกันในหมู่ชาวบ้าน แม้แต่ในประเทศใกล้บ้านเรา ก็รู้เรื่องนี้ มักจะทำนายจาก ปีเป็นนักษัตร (ชวด ฉลู ขาล....) วัน เดือนปีจันทรคติ เอามาคำนวณบวกลบคูณหารแล้วหา “เศษ” แต่เรื่องชื่อนั้น มักอ้างกันต่อมาว่า เป็นของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 ซึ่งเรื่องนี้มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมามากแล้วว่า “ไม่มีหลักฐาน” บางท่านก็สรุปเลยว่า “ไม่ใช่” แต่ถ้าไม่นับเรื่องชื่อ ตำรานี้ก็แม่นยำในระดับที่เชื่อถือได้ ในแนวชีวิตกว้างๆในระดับหนึ่ง มาภายหลัง จึงมีการเปลี่ยนชื่อวิชาไปเป็นชื่ออื่นบ้าง และมีวิชางอกเพิ่มออกมาบ้าง แต่ผมกลับเห็นว่า ในเมื่อชื่อวิชาเป็นมรดกตกทอดในสังคมไทยมานานหลายร้อยปีแล้ว ไปเปลี่ยนชื่อเสีย ก็น่าเสียดายอยู่เหมือนกัน ข้อเสียแต่ตรงที่มาใช้พระนามให้เข้าใจว่าเป็นของรัชกาลที่ 4 ซึ่งเดิมอาจจะหมายถึง “เขียนขึ้นในสมัยสมเด็จพระจอมเกล้า” ก็ได้

ข้อสอง ดังนั้น ในเมื่อมีปัญหาเรื่องพระนามที่ปรากฏในชื่อวิชา การที่เราจะพิจารณาว่า รัชกาลที่ 4 ทรงใช้นักษัตรอย่างใด เปลี่ยนปีนักษัตรเมื่อใด จึงกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เพราะการอ้างดังนี้ เหมือนเป็นการอ้างเอาว่า ในเมื่อตำรานี้เป็นของพระองค์ และพระองค์ใช้นักษัตรอย่างใด จะเป็นเครื่องยืนยันการเปลี่ยนปีนักษัตรที่ “ถูกต้อง” ไปด้วย ประเด็นที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้ จึงกลับเป็นประเด็นที่สาม

ข้อสาม คือ นักษัตรเปลี่ยนปีเมื่อใด ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องถกเถียงกันมานานแล้ว ตั้งแต่ยังไม่มีเว็บบอร์ดให้เถียงกันอย่างสมัยนี้ เนื่องจากการนับนักษัตร เป็นฐานเลขของหลักวิชาโหราศาสตร์ประเภทวงรอบธรรมชาติจำนวนมาก แม้ในประเทศอื่น เช่น จีน ปัจจุบันก็ยังมีลูกศิษย์แต่ละข้าง ที่บัดนี้กลายเป็นโหรใหญ่ หรือ อาจารย์ไปแล้ว มาถกเถียงอยู่ การที่จะมายกเหตุผลข้างใดข้างหนึ่งมาแสดงให้ดู หากไม่ครบ ก็คงจะถูกด่าตามไปด้วย ซึ่งอันที่จริงผู้ที่รู้เรื่องนักษัตรจริงๆ จะไม่มีใครมาเถียงอยู่ในพวกทั้ง 2 – 3 ข้างนี้เลย ปัญหาจึงต้องตอบให้ได้ก่อนว่า นักษัตร คืออะไร มาจากไหน เพราะหากผู้ที่เถียงกันอยู่นั้น รู้คำตอบดีแล้ว ก็รับรองได้ว่าจะไม่ต้องเถียงกันอีกเลย และก็จะรู้ทันทีว่า “อะไรถูก” เพื่อที่จะให้ท่านอื่นที่มาอ่านด้วยเข้าใจว่า ปัญหาอะไรที่เถียงกันอยู่ แบ่งเป็น 4 พวก สรุปได้ว่า

1 / พวกแรกถือว่า ปีนักษัตรเปลี่ยนเมื่อขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย (ไทย) ในขณะที่ประเทศที่ใช้นักษัตรจีน จะถือรอยต่อเมื่อขึ้นปีใหม่จีน (ลิบชุน) คือ ระหว่างเดือนสิบสอง กับ เดือนอ้าย หรือ ตรุษจีน นับเอา ขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย(จีน)หรือ ชิวอิด เป็นวันเริ่มปีนักษัตร ทั้งสองอย่างนี้ ตามปฏิทินจะเห็นว่าไม่ตรงกัน กลายเป็น 2 กรณี

2 / พวกที่สองถือเอา ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ไทย ในปีปกติมาส เป็นวันตั้งต้นปีนักษัตรใหม่ และปีใดที่เป็นปี อธิกมาส (มีเดือน 8 สองหน) ให้ใช้ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 6 ในพวก ข้อ 1 / และ 2 / นี้ถือเอาจันทรคติ

3 / พวกที่สาม ถือเอาสุริยคติ เมื่ออาทิตย์ยกเข้าสู่ราศีเมษ ที่เราเรียกว่า มหาสงกรานต์ เป็นจุดเปลี่ยนทั้งกาลโยค จุลศักราช และ นักษัตรด้วย อันที่จริงวันมหาสงกรานต์เมื่อสอบจากองศาอาทิตย์ยกเข้าราศีเมษจริงๆ อาจจะช้าหรือเร็วกว่าวันที่ 13 เมษายน แต่บางท่านไปถือเอาประกาศทางราชการว่า สงกรานต์คือ 13 เมษายน แล้วเอามาใช้ในโหราศาสตร์ด้วย จึงเป็นคนที่น่าชมเชยในเรื่องความง่าย ดีแท้ๆ

4 / พวกที่สี่ ยิ่งง่ายกว่าทุกพวก คือ ถือเอาปฏิทินสุริยคติสากล (ฝรั่ง) ใช้ 1 มกราคม ของทุกปี เป็นจุดเปลี่ยนนักษัตร เพราะเป็นประกาศของทางราชการ มาเถียงกับเขาด้วย พวกนี้นับว่าไม่ควรมีอะไรไปเถียงกับใครเลย

มีพวกที่ 5 ที่มักนั่งเฉยอยู่ ไม่พูด เพราะจะคอยฟังบรรดาผู้ที่ไม่ทราบว่า นักษัตรมาจากไหน ซึ่งยังไม่อยากบอก แต่ขออธิบายกรณีที่เป็นนักษัตรแท้ หรือ นักษัตรโหร หรือ อาจจะเรียกว่า นักษัตรทางโหราศาสตร์ (จะนับทางไทยอย่างเดียว เพราะทางจีนเป็นเรื่องยาวไป ) ก็นับว่าทั้งสี่กรณีข้างต้น ล้วนแต่ไม่มีใครตรงกับการเริ่มของนักษัตรแท้ทั้งสิ้น แต่มีกรณีที่ 2 / พวกที่ใช้จันทรคติ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 ไทย นับว่าโดยเฉลี่ยใกล้เคียงที่สุด แต่มีความคลาดเคลื่อนสะสม และ กรณีที่ 3 / พวกที่ใช้ มหาสงกรานต์ ใกล้เคียงน้อยกว่า แต่แน่นอนกว่า (ความผิดพลาดคลาดเคลื่อน เกือบคงที่)

เหตุผลที่เป็นดังนี้ ก็เพราะ นักษัตรแต่เดิม ใช้จันทรคติ เป็นหน่วยวัด แต่จันทรคติเอง มีเวลาครบรอบของดวงจันทร์โคจรเป็นจำนวนวันไม่เท่ากันในหนึ่งเดือน จำเป็นต้องทดเพิ่มอีก หนึ่งเดือน ในปีอธิกมาส เป็นเดือน 8 สองหน ดังนั้น การกำหนดขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 ในทุกปี จึงใช้ได้ในกรณีกำหนดปฏิทินนักษัตร ซึ่งไม่ใช่การกำหนด นักษัตรโหร เพราะจะคลาดเคลื่อนไปทุกปีมากขึ้น จนกว่าจะถึงปีอธิกมาส จึงตัดคลาดเคลื่อนได้ครั้งหนึ่ง (แต่ยังเหลืออยู่) จึงใช้ได้กับการบัญญัติวันเดือนปี ในสังคมเพื่อให้ตรงกันเท่านั้น ดังนั้น การนำมาใช้กับวิชาโหราศาสตร์จริงๆแล้ว จึงต้องปรับไปใช้ นักษัตรโหร (ทำนองเดียวกับการคำนวณเวลาตามองศาอาทิตย์ที่ยกเข้าสู่มหาสงกรานต์จริงๆ ในการขึ้นจุลศักราชใหม่นั่นเอง) แต่การปรับค่าดังกล่าว ชาวบ้าน หรือ โหรชาวบ้านเอง ไม่มีรายละเอียดเวลานักษัตรที่ใช้ นักโหราศาสตร์จันทรคติ จึงเพียงอนุโลมเอาวันขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 นั้น เป็นวันเปลี่ยนนักษัตร แล้วเอามาใช้กับการเรียนโหราศาสตร์ด้วย

แต่การที่ ใช้จันทรคติมาชี้กำหนดนักษัตรโหร ไม่ใช่เป็นข้อบังคับทางโหราศาสตร์โดยตรง จึงมีโหรบางพวกที่เห็นว่า ในเมื่อถือเอาวันมหาสงกรานต์ เป็นจุดเปลี่ยนปีจุลศักราช (โดยประมาณ) และเปลี่ยนกาลโยคตามไป ก็ควรเปลี่ยนนักษัตรไปด้วย จะไม่คลาดเคลื่อนเพิ่มสะสมแบบจันทรคติ แต่จริงๆแล้ว วันมหาสงกรานต์ โดยเฉลี่ยแล้วก็ห่างจากนักษัตรโหร เช่นกัน เพียงแต่ห่างเป็นระยะแน่นอน นักโหราศาสตร์สุริยคติจึงถือโอกาสนี้ ใช้วันมหาสงกรานต์นี้เอง เปลี่ยนปีนักษัตร จึงยุ่งยากน้อยกว่า ซึ่งใช้ได้เพียงการกำหนดปฏิทินเช่นกัน ไม่ใช่การกำหนดนักษัตรโหร และเอาไปใช้ในทางสุริยคติอยู่แล้ว

ในโหราศาสตร์ หากคิดทางวิชาการ ไม่ว่ากำหนดทางกรณีใด ก็ผิดทุกวิธีอยู่แล้ว วิธีที่ถูกคือ การคำนวณเวลาของนักษัตรโหร ซึ่งทำได้ แต่ไม่ค่อยจำเป็นนัก พวกที่เดือดร้อนที่สุด คือ เหล่าโหราศาสตร์ทางจันทรคติ เพราะวิชาต่างๆ สร้างมาจากวงรอบของจันทรคติล้วนๆ รวมทั้งกรณี ตำรา“เศษพระจอมเกล้า” ที่ถามมาด้วย ดังนั้น จึงควรใช้ ขึ้น 1 ค่ำเดือน 5 เป็นวันใกล้เคียงกว่า แล้วเปลี่ยนเป็นเดือน 6 ตามอธิกมาสด้วย ก็เพียงเท่านั้น ส่วนใครจะใช้ วันมหาสงกรานต์เพื่อกำหนดปฏิทินนักษัตร ก็ไม่ห้าม เพราะไม่เกี่ยวกับนักษัตรโหร หากอ้างเป็นนักษัตรโหร ไม่ว่าวิธีใดก็ผิดทั้งนั้น และหากคำนวณนักษัตรโหรไม่ว่าจากวิธีใด ก็ต้องได้ผลตรงกัน ดังนั้น จึงมีแต่ผู้ที่ไม่รู้เท่านั้น ที่มาเถียงกันอยู่ ส่วนคำถามที่ว่า รัชกาลที่ 4 ทรงใช้วันเวลาใดเปลี่ยนนักษัตร ก็ตอบได้ว่า ทรงเป็นเอกในทางวิชาโหราศาสตร์ด้วย หากทรงใช้วิชา “เศษพระจอมเกล้า” จริง ก็เชื่อว่าทรงใช้นักษัตรโหร หรือ อย่างหยาบกว่าก็ใช้ วันที่ ขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 นั่นเอง


วรกุล - 16 กันยายน พ.ศ.2549 17:03น. (IP: 203.107.204.17)

ความคิดเห็นที่ 18
เรียนท่านอาจารย์วรกุล

ขอบพระคุณอีกครั้งที่กรุณาชี้แนะครับ


สุวรรณ - 16 กันยายน พ.ศ.2549 19:45น. (IP: 203.156.34.81)

ความคิดเห็นที่ 20
เรียนอาจารย์วรกุลที่เคารพ

เมื่อเย็นวันเสาร์ที่ (23 ก.ย.49) ดูข่าวช่อง ไอทีวี ที่มีข่าวเกี่ยวกับสนามบินสุวรรณภูมิ ขณะที่มีพระกำลังสวดมนต์ ได้เกิดเหตุหนุ่มในบริษัทที่ทำงานในสนามบิน มีอาการเหมือนคนแก่และบอกชื่อที่ไม่ใช่ชื่อของตนเอง ไม่ทราบว่าอาจารย์ได้ดูข่าวหรือไม่ และเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรคะ ดิฉันไม่ทราบว่าเรียนถามอาจารย์ผิดกติกาหรือไม่ หากผิดกราบขออภัยอาจารย์ไม่ตอบก็ได้ค่ะ


ทิพย์ - 24 กันยายน พ.ศ.2549 10:15น. (IP: 58.136.209.205)

ความคิดเห็นที่ 21
เรียน อ.วรกุลที่เคารพ

ดิฉันได้อ่านหนังสือโหราศาสตร์เกี่ยวกับดาวพฤหัสแล้วมีข้อสงสัยบางอย่างค่ะ เนื่องจากดาวพฤหัสใกล้จะย้ายมาสู่ราศีพิจิกเร็วๆ นี้แล้ว (ดิฉันราศีพิจิกค่ะ) บางตำราบอกว่าถ้าดาวพฤหัสทับลัคนาจะโชคดี ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ อาจได้ลาภ ฯลฯ แต่บางตำรากลับบอกว่าให้ระวังผู้ใหญ่เพ่งเล็ง ให้โทษ ผิดใจกับเพื่อนฝูง ระวังสุขภาพจะทรุดหนัก เป็นต้น

อย่างนี้แล้วจะยึดถืออะไรเป็นหลักได้ค่ะ ตามความเข้าใจของดิฉัน ดาวพฤหัสเป็นตัวแทนของปัญญา ความรู้ ผู้ใหญ่ ศีลธรรม อะไรทำนองนี้ ถ้ามาทับลัคนาก็น่าจะดีไม่ใช่หรือค่ะ หรือว่าการพยากรณ์จะต้องคำนึงถึงว่าดาวพฤหัสเป็นเจ้าเรือนอะไรของเจ้าของดวง อย่างเช่นถ้าดาวพฤห้สเป็นเจ้าเรือน อริ มรณะ หรือวินาสย์ เมื่อมากระทบลัคนา ก็ไม่ดี ดิฉันเข้าใจอย่างนี้ถูกไหมค่ะอาจารย์

ขอรบกวนอาจารย์วรกุลชี้แนะด้วยค่ะ ขอบคุณค่ะ


นภาพร - 25 กันยายน พ.ศ.2549 12:15น. (IP: 210.246.69.38)

ความคิดเห็นที่ 22
เรียน อาราจรย์วรกุล ที่เคารพ

ปลายเดือนนี้ราหูจะย้ายมาอยู่ราศีกุมภ์ เล็งกับราศีสิงห์ จะทำให้ชาวราศีสิงห์เดือดร้อนเเร่องคู่ไหมครับ ผมเห็นตั้งคำถามในเว็บอื่น และตัวเองก็ราศีสิงห์พอดี เลยสงสัยเหมือนกันครับ


เอกเอก - 25 กันยายน พ.ศ.2549 20:48น. (IP: 202.139.205.84)

ความคิดเห็นที่ 23
การตั้งจิต...

เราจะตั้งอย่างไรดีครับ เพราะบางทีอาจจะทำให้เราเฉยเมยไปทุกๆ เรื่อง ตามความเข้าใจของคนทั่วไป อาจดูไม่กระตือรือร้น(จริงๆ คงไม่ใช่แบบนี้ในทางพุทธศาสนา) แต่ว่า ในฐานะที่เราเป็นคนในสังคม(ไม่เป็นนักบวช) เราควรถือการดูหมิ่นดูแคลนขนาดไหน การที่จะนับว่าเรานับถือตนเองนั้น นับแค่ไหน เช่น สมมติมีคนรังแก(ทางกายหรือ วาจา หรือ ใจ) เราก็พยายามให้ผ่านเลยไป พยายามละความโกรธ อาจจะยอมให้ดูถูกดูหมิ่นแต่เมื่อเวลาผ่านไปคนที่มารังแกเราก็อาจจะวกกลับมาอีกด้วยอาการข่ม ทำให้เราอาจจะควบคุมสติไม่ได้

ผมอยากเรียนถาม อ.วรกุล ครับ เพราะมีหลายๆ เรื่องทำให้ผมรู้สึกจิตใจอ่อนแอ ทำให้หวั่นไหวไป(หมายถึงไม่ตั้งอยู่ในกุศลจิต) ผมพบว่าในปัจจุบัน ขอพิจารณาในเฉพาะกรอบที่ผมใช้ชีวิตอยู่ ผู้คนส่วนมาก(อาจจะรวมถึงตัวผมเอง แต่อาจจะไม่รู้ตัวก็ได้) ที่ต้องพบพาน มักไม่เกรงใจเคารพสิทธิ์ส่วนบุคคล มักฉกฉวย ล่วงละเมิด จนเราอาจจะตั้งสติไม่อยู่ ระงับอารมณ์ไม่อยู่ บางทีขนาดพยายามหนีมาจากสถานการนั้นๆ แล้วอย่างสงบ ก็ยังตามมารังควาญ คล้ายๆ จะสร้างบาปสร้างกรรมต่อกันไป

บุคคลหลายคนฟุ้งซ่าน ผมก็ยอมรับว่าตัวเองก็อาจจะฟุ้งซ่านบ่อยๆ แต่ก็โดยส่วนตัวจึงไม่ชอบไปยุ่มย่างกับใคร อาจจะกล่าวได้ว่าไม่อยากไปยุ่งกับใครๆ แต่ผมค่อนข้างจะรำคาญ กับบุคคลบางจำพวก ผมรู้สึกว่าตัวตนของพวกเขาร้อน ไปที่ไหนก็นำความยุ่งยากลำบากมาให้(พวกเขาเองอาจจะไม่รู้ตัว) ต้องการตามตัณหาที่ตนเองต้องการ และที่แย่ที่สุด คือ การสนองตัณหาตนเอง โดยการล่วงละเมิดบุคคลอื่น ด้วยวิธีการต่างๆ กันตามแต่ละบุคคล ทั้งที่ตัวเขาเองอาจจะไม่รู้ตัว หรือ มัวเมาในตัณหา

เวลาที่ให้ กับการเขียนหมดพอดี ขอรบกวน อ.วรกุลชี้แนะครับ...


หนูน้อย - 26 กันยายน พ.ศ.2549 08:00น. (IP: 161.200.117.174)

ความคิดเห็นที่ 24
ขอโทษทุกท่านที่ตอบช้านะครับ กำลังคิดว่าอาจจะไม่มีเวลาเขียนตรงนี้อีกแล้ว เพราะต้องทำสิ่งสำคัญหลายเรื่อง เอาเป็นว่าตอบช้ามาก เพราะไม่มีเวลาเข้าเน็ทเลยครับ คงตอบได้สั้นๆ อาจจะไม่มีเวลาเขียนเรื่องโหราศาสตร์ให้อ่าน จนกว่าจะมีเวลาพอครับ

0000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

ตอบคุณ ทิพย์ (ความเห็น 22) ............ผมดูข่าวแล้วครับ ใครเป็นจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาก็ไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว เข้าใจว่าหนุ่มคนนี้จะคิดไปเอง เพราะในใจมนุษย์จะมีเรื่องราวบางอย่างที่ต้องการจะทำ แต่ไม่ต้องการแสดงออกในเวลาปกติ จึงใช้วิธีแสดงออกมาแบบคนเข้าทรง ทางไสยศาสตร์ ยิ่งไม่เชื่อใหญ่เลย เรื่องการทรงผ่านทางคนทั่วไปแบบนี้ไม่จริงและเป็นไปไม่ได้ครับ หากจะมีวิญญาณจริงที่จะแสดงออกแบบการทรงแท้จะทำยากมาก คือยากสำหรับวิญญาณเอง และ ยากสำหรับผู้รับ หากเป็นวิญญาณ ก็คือ ปมทางจิตใจที่อยู่ในจิตส่วนลึกของเขา กรณีนี้เป็นเรื่องธรรมดา จิตอาจจะระบายความรู้สึกส่วนลึกออกมา แต่ไม่กล้าแสดงออกในสภาพปกติเท่านั้นเอง มีคำอธิบายที่ดีกว่านี้ แต่เขียนตรงนี้ไม่ได้ครับ เอาเป็นว่าไม่ได้มีวิญญาณอะไรเกี่ยวข้อง ที่เป็นเรื่องหวือหวาหน่อยก็เพราะสื่อไปทำให้ตื่นเต้นกันเอง

0000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

ตอบคุณ นภาพร(ความเห็น 23) ............เข้าใจถูกทางเบื้องต้นแล้วครับ พฤหัสเดิมเป็นเจ้าเรือนอะไร อยู่ราศีอะไรในดวงเดิม เมื่อจรมาก็จะนำเรื่องเดิมนั้นมาด้วย อาจารย์บางท่าน เรียกว่า “บุพกรรมของดาว” แต่การดูพฤหัสจรดวงเดียวไม่ได้ครับ ต้องดู 1 / เจ้าเรือนคืออังคารเดิม และจร ว่าปีนี้จะก่อเรื่องอะไร เพราะพฤหัสอยู่เรือนอังคารก็จะเอาเรื่องราวไปเกี่ยวพันกับอังคารด้วย 2 / ต้องดูวัย ว่าวัยทางจรกำลังเป็นอย่างไร คนที่ลัคน์พิจิก และ อายุในแต่ละวัย จึงมีเหตุการณ์เกิดขึ้นไม่เหมือนกัน 3 / ดูดาวเดิมที่ตั้งรับพฤหัสอยู่ เพราะพฤหัสจรเข้าสู่โครงสร้างธาตุดาวเดิมจะเกิดเป็นปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน 4 / ดูดาวจรอื่นที่กำลังแสดงเหตุอยู่ เช่นกัน ว่าก่อเรื่องสัมพันธ์กับพฤหัสจรอย่างไร สิ่งเหล่านี้เพียงดูเบื้องต้น ต้องเรียนการดูดาวจรก่อนนะครับ นี่เพียงรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ยังต้องหาว่าเกิดเมื่อใด จากใคร ฯลฯ ขอตอบเท่านี้

0000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

ตอบคุณ เอกเอก(ความเห็น 24) ............เดือดร้อนเรื่องคู่ราวครึ่งหนึ่งครับ เหตุที่เกิดจะเป็นไปตามดวงแต่ละคน อาจจะเป็นเรื่องดีก็ได้ เพราะเรือนที่ 7 อาจจะหมายถึง หุ้นส่วนการลงทุน ผู้บังคับบัญชา ผู้ร่วมงาน ฯลฯ ไม่ใช่คู่ความรักเสมอไป คนที่มีคู่อาจจะมีปัญหาความไม่เข้าใจกันเนื่องจากธรรมชาติของราหู และลัคนาราศีสิงห์จะมีความเครียดกดดันอารมณ์ได้ช่วงราหูจรอยู่

0000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

ตอบคุณ หนูน้อย(ความเห็น 25) ............ผมเข้าใจคุณดี แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะกรณีนี้แก้ยาก เรื่องที่คุณเล่า เป็นเพราะเรามี “อัตตา” ยึด “อัตตา” ของตนเองมาก ใครมากระทบ “อัตตา” ก็เกิดไม่ชอบใจ การแก้กรณีนี้ ต้องแก้ด้วยการเข้าใจด้วยตนเอง ซึ่งต้องอาศัยการฉลาดพิจารณาให้จิตรู้ และเข้าใจธรรมชาติเหล่านั้นให้ถูก ก็จะละอารมณ์ที่เป็นเรื่องไม่พอใจเหล่านั้นได้ ถ้าให้แนะนำจริงๆ ก็ต้องทำตามที่เคยแนะนำมาในกระทู้ปีที่แล้ว คือ ให้รู้ทันจิตตัวเอง ดูจิต พิจารณาอารมณ์ที่เกิดขึ้น พิจารณาซ้ำๆเช่นนั้นอยู่ จิตจะฉลาดและละวางอารมณ์ได้ การสอนแบบนี้ง่ายแต่ทำเองยากครับ ต้องอาศัยบุญเดิม และต้องฝึกสมาธิวิปัสสนาเป็นฐาน ผมเองไม่มีเวลาเขียนเรื่องการปฏิบัติธรรม หากจะหาอ่านเอาตามเว็บต่างๆ ก็ต้องกลั่นกรองเอาที่ถูกกับตัวเอง แต่มักจะจะผิดทาง และช้ามากขึ้น วิธีที่ดีสุด คือต้องหาผู้สอนธรรมะให้ หากมีผู้สอนที่ดีๆจะก้าวหน้าได้มาก คนที่ปฏิบัติธรรมมาก่อน เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องแก้เฉพาะตัว ดังนั้น จึงไม่ควรคิดอยู่คนเดียว แต่ต้องหาผู้สอนจะได้รู้เร็วขึ้น


วรกุล - 27 กันยายน พ.ศ.2549 04:58น. (IP: 203.107.205.105)

ความคิดเห็นที่ 25
กราบขอบคุณอาจารย์มากค่ะ

พวกเราระรอคอยจนกว่าอาจารย์จะเสร็จภาระกิจ และมาให้ความรู้เพิ่มเติมต่อไปค่ะ


ทิพย์ - 27 กันยายน พ.ศ.2549 10:44น. (IP: 58.136.208.203)

ความคิดเห็นที่ 26
ขอบพระคุณ อ.วรกุล ครับ...


หนูน้อย - 28 กันยายน พ.ศ.2549 09:57น. (IP: 161.200.117.174)

ความคิดเห็นที่ 27
ขอบคุณอาจารย์วรกุลมากค่ะ


นภาพร - 28 กันยายน พ.ศ.2549 11:49น. (IP: 210.246.69.162)

ความคิดเห็นที่ 28
ขอขอบคุณอาจารย์วรกุลสำหรับความเมตตาอนุเคราะห์ ที่มีให้แก่นักศึกษาโหราศาสตร์ในยุคหลัง ผมขอให้อาจารย์บรรลุในภารกิจที่พึงประสงค์ ไม่ต้องเป็นห่วงพวกเราหรอกครับอาจารย์ ผมว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะไปทบทวนความรู้ที่อาจารย์ได้กรุณาให้มาตั้งแต่ต้นอีกหน และต่อยอดความรู้ทางโหราศาสตร์ของพวกเราสักที ขอบพระคุณมากครับอาจารย์


หมอโฮจุน - 30 กันยายน พ.ศ.2549 00:07น. (IP: 221.128.86.220)

ความคิดเห็นที่ 29
เรียนอาจารย์ วรกุลครับ

ผมได้ไปพบตำราโหราศาสตร์ของคุณปู่ท่านบันทึกไว้ด้วยรายมือของท่านเอง แต่ตำแหน่งดาวต่าง ๆ เช่น เกษตร อุจ ประ นิจ ราชาโชค มหาจักร จะมีเพิ่มอีก 2 ชนิดเสมอ ในตำแหน่งตรีโกณกัน ตัวอย่าง พระ ๕ อยู่ราษีกรกฎ เปนมะหาอุจศักดิ์ ฯ พระ ๕ อยู่ราษีพิจิก เปนมะหาอุจศิล ฯ พระ ๕ อยู่ราษี มิน เปนอุจทรัพย์ หรือ พระ ๖ อยู่ ราษีพฤศภ เปนเกษตร์ศักดิ์ พระ ๖ อยู่ราษีกันย์ เปนเกษตร์ ศิลฯ พระ ๖ อยู่ราษี มังกาณ เป็นเกษตร์ทรัพย์ ฯ (เขียนตามที่ท่านคุณปู่จดไว้นะครับ)

ทุกตำแหน่งเป็นดังเช่นตัวอย่าง

ผมอยากทราบว่า คำว่า " ศักดิ์ " "ศิล" "ทรัพย์" ที่ต่อท้าย คืออะไรครับ หากจะค้นค้าวต่อจะไปสืบค้นได้ที่ไหนครับ

ดูจากตำราโหราศาสตร์ที่พบพร้อมกับสมุดที่ท่านจดด้วยลายมือท่านเองก็ไม่ปรากฎ ตำแหน่งดังกล่าวเลย ตำราที่พบคงจะเป็นตำราที่ท่านซื้อมาอ่านประกอบครับเพราะ พิมพ์ช่วงปี ๒๔๗๕ ๒๔๗๙ ๒๔๘๔ ประมาณนี้อีก 10 กว่าเล่มครับ ทำให้รู่ว่า ตำราในสมัยนั้นมีราคา .๕๐ สตางค์ .๗๕ สตางค์

อ้อ คุณปู่เป็นตำแหน่งเป็น "ท่านขุน" เก่าครับ รับราชการช่วงประมาณปี ๒๔๕๘ และสนใจโหราศาสตร์ไม่ได้เป็นอาชีพครับแต่จะดูให้ญาติเท่านั้นครับ


แดง - 30 กันยายน พ.ศ.2549 08:06น. (IP: 203.113.34.13)

ความคิดเห็นที่ 30
ขอบคุณอาจารย์ครับ

เอกเอก


เอกเอก - 30 กันยายน พ.ศ.2549 14:15น. (IP: 202.139.214.122)

ความคิดเห็นที่ 31
ตอบคุณ แดง (ความเห็น 31) ............เรื่องนี้แหละครับเป็นวิธีของวิชาโหรไทยเก่าๆ กฎของธาตุที่เข้าเกณฑ์มีหลายอย่างที่ใช้กันเป็นการขับดาว เช่น ตามตัวอย่าง ที่คุณเขียนมานั้น เป็นการหมุนตามวงจรตรีโกณ ตามหลักมีว่า เมื่อดาวสถิตอยู่ราศีใดก็ตาม การพัฒนาไปของเรื่องราวจะเป็นไปตามเกณฑ์ เช่น สมมุติมีดาวอาทิตย์เป็นอุจในราศีเมษ ภายในช่วงเวลาหนึ่ง (ซึ่งไม่เท่ากันในแต่ละดาว) ฉายาอาทิตย์จะมาอยู่ในราศีสิงห์ และ ต่อไปจะมาอยู่ในราศีธนู การขับดาวเช่นนี้ มักใช้กันในดวงกาลชะตาสมัยโบราณ เป็นกาลชะตาของเดิม ไม่เหมือนปัจจุบันที่เอาวงรอบธรรมชาติอื่นมาพัฒนากันขึ้น แต่ในดวงชะตาทั่วไป วงจรตรีโกณเช่นนี้ นำมาใช้กำหนดเวลาทำนายเหตุการณ์ตามวัย แต่จะใช้เฉพาะกับดาวสำคัญๆ เช่นเป็นอุจ มหาจักร ไม่ใช่ใช้ไปหมดทุกดาว ปัจจุบันก็ยังมีโหรบางท่านใช้วิธีนี้อยู่ คำว่า ศักดิ์ ศีล ทรัพย์ ใช้กำหนดชื่อปม ของวงจรตรีโกณนั่นเอง ความหมายไม่มีอะไร นอกจากกำหนดให้รู้ ปม ในการหมุนของตรีโกณ เราจะตั้งชื่อเป็นอย่างอื่นก็ได้ ขอให้รู้จังหวะการหมุนได้ก็เพียงพอแล้ว


วรกุล - 4 ตุลาคม พ.ศ.2549 17:02น. (IP: 203.107.204.93)

ความคิดเห็นที่ 32
เรียน อาจารย์วรกุล ที่เคารพ

ผมชื่อ ไพรี เกิดวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511 ตรงกับวันเสาร์

แรม11คํา เดือน3 อยากจะเปลี่ยนชื่อ อยากจะทราบว่าตัวอักษรที่เป็นมงคลและไม่เป็นมงคล มีตัวอะไรบ้างครับ ถ้าจะกรุณาให้ตัวอย่างชื่อมาสัก 3-4 ชื่อ จะเป็นพระคุณยิ่งครับ หวังในคำตอบของอาจารย์มากครับ


ไพรี - 9 ตุลาคม พ.ศ.2549 11:46น. (IP: 203.152.31.202)

ความคิดเห็นที่ 33
ตอบคุณ ไพรี (ความเห็น 34) ............ผมไม่เห็นด้วยเรื่องการตั้งชื่อตามวรรคอักษรที่มีผู้ตั้งกัน เคยเขียนอธิบายเอาไว้มากแล้ว และกระทู้นี้ก็ไม่ได้รับตั้งชื่อครับ ขออภัยด้วย


วรกุล - 9 ตุลาคม พ.ศ.2549 14:42น. (IP: 203.107.202.57)

ความคิดเห็นที่ 34
ข้อเขียนสองตอนนี้ มีความต่อเนื่องกัน ดังนั้นจะโพสต์ยาวต่อกันไปทีเดียว ชดเชยที่เว้นการเขียนไประยะหนึ่ง แต่ผมยังคงไม่มีเวลา ดังนั้น จึงยังคงต้องเว้นระยะการเขียนไปอีก เว้นแต่หากมีผู้ถามอะไรที่พอตอบได้ตามเวลาพอสมควร ก็จะมาตอบให้ เพียงแต่อาจจะช้าหน่อยเท่านั้น

0000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

หากเราเคยเรียนโหราศาสตร์อื่นแล้วหันมาเรียนโหราศาสตร์ไทยตอนนี้ เราจะเริ่มสับสนเพราะโหราศาสตร์ไทยใช้ระบบดวงชะตารวมทั้งวิธีทำนายที่ไม่เหมือนโหราศาสตร์อื่นทั่วไป บางตำราเอาเรื่องโหราศาสตร์อื่นๆมาปนกับโหราศาสตร์ไทยเพราะเข้าใจว่า “เหมือนกัน” ทำให้ผู้ที่เรียนตามมาเข้าใจเช่นนั้นไปด้วย

โหราศาสตร์ทั่วไป มักจะวางดาวในดวงชะตาตามตำแหน่งดาวบนท้องฟ้า จากดาวนั้น เรายังมีปัจจัยคล้ายดาว เช่น ลัคนา หรือ คราส หรือ ดาวที่เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพล รวมทั้งอาจจะมีดาวทิพย์ หรือ จุดอิทธิพลที่เกิดจากวงรอบธรรมชาติอีกหลายอย่าง สิ่งเหล่านี้ ลอยตัวอยู่รอบ “วงกลมเสมือน” ในดวงชะตา ที่คล้ายกับแบบจำลองของท้องฟ้าสองมิติ ยกตัวอย่าง เช่นสมมุติเรามีดาวพฤหัส และจันทร์ อยู่ราศีเมษกุมลัคนา ดาวพุธอยู่ราศีกรกฏ ดาวเสาร์อยู่ราศีพิจิก เวลาเราดูความสัมพันธ์ของดาว เราใช้วิธีวัดมุมดาวระหว่างกัน เราบอกว่า พุธทำมุมราว 90 องศากับพฤหัสและจันทร์ เสาร์ทำมุมราว 120 องศากับพุธ เหตุที่เรามองเช่นนี้ได้ ก็เพราะเรามองความสัมพันธ์ที่ดาวรวมอยู่ที่เดียวกัน เวลาเดียวกัน ราวกับเห็นอยู่ในมโนภาพ นี่เป็นภาพในมิติเดียวกัน แม้ “เวลา” ของดาวแต่ละดวง ที่ปรากฏต่อเรา อาจจะไม่ตรงกันก็ได้ คือ เราอาจจะเห็นพฤหัส และจันทร์ก่อน เห็น พุธ หรือ เห็น เสาร์ แต่เมื่อวัดตำแหน่งของดาว และเวลาที่เห็น นี่ยังเป็นกรอบของธรรมชาติเดียวกันในวงกลมนั้น พูดภาษาโดยสรุปว่า ดาวทั้งสี่เป็นสิ่งที่อยู่ในมิติเดียวกัน ในระนาบสมมุติเดียวกัน การมองแบบนี้เป็นการมองดาวล้วนๆ แม้จะคิดว่ามีผลกระทบต่อเรา ก็เป็นเรื่องที่ครอบคลุมกว้างๆไปหมดทุกคน

แต่ถ้าเรามาคิดว่าตัวเราที่อยู่บนโลกมองเห็นดาวเหล่านี้เมื่อใด หากมองไปทางทิศตะวันออก ถ้าวัดจากจุดเกิดคือลัคนา เราเห็นพฤหัส และจันทร์ ก่อนตรงขอบฟ้าที่เป็นลัคนา แล้วจึงจะเห็นดาวพุธในราศีกรกฏขึ้นจากขอบฟ้ามาในตอนบ่าย กว่าดาวเสาร์ในราศีพิจิกจะโพล่ขึ้นมาให้เราเห็นก็เป็นเวลาเกือบจะเช้าวันใหม่แล้ว เราจะเห็นว่า แม้ดาวจะสัมพันธ์กันเองอย่างไร ดาวก็ยังสัมพันธ์กับตัวเราอยู่คนละ“เวลา” หากดาวเหล่านี้มีผลต่อธาตุของเรา ก็จะเหมือนธาตุที่โผล่ฟ้าขึ้นมานั้น มีผลเรียงลำดับไปตามกระแสธาตุที่วนจากลัคนาไปตามทิศทวนเข็มนาฬิกา หรือ เรียกว่าตามทิศของสุริยาตร์ (ทางเดินของอาทิตย์) นั่นเอง นี่เป็นแนวคิดที่ต่างออกไปของโหราศาสตร์ตะวันออก เช่นในโหราศาสตร์ไทย ซึ่งจะใช้ลำดับของธาตุที่จะเข้ามาสัมพันธ์(กระทบ)ต่อชีวิต ลำดับนี้จึงเป็นลำดับเชิงเส้นที่เรียงกันมา โหราศาสตร์ไม่เหมือนดาราศาสตร์ประการหนึ่ง ตรงที่ดาราศาสตร์เน้นตำแหน่งของดาวตามระนาบและมิติเดียวกัน จากตำแหน่งสมมุติของผู้มอง (หรือ จุดอื่นตามแต่ประสงค์) แต่โหราศาสตร์มีแนวคิดถึงธรรมชาติที่ดวงดาวมีความสัมพันธ์กับชีวิตใดชีวิตหนึ่งบนโลก

การวัดความสัมพันธ์ระหว่างดาวในดาราศาสตร์ เราวัดด้วยระยะห่างระหว่างดาว ซึ่งในวงกลม เราใช้ระยะเชิงมุม ซึ่งก็ไม่แตกต่างจากความสัมพันธ์เชิงเส้น ของโหราศาสตร์ไทย แต่จะมีความสัมพันธ์ต่อชีวิตแตกต่างกัน เมื่อโหราศาสตร์ศึกษาดาวแต่ละดวงว่าเป็นตัวแทนความหมายทางปรัชญาของอะไร ดาวแต่ละดวงจึงมีความสัมพันธ์กันโดยใช้ความหมายทางปรัชญาของดาวนั้น รวมทั้งเชิงมุมระหว่างกัน ที่แทนลักษณะที่สัมพันธ์กันนั่นเอง โหราศาสตร์แต่ละระบบ ตีความจากปัจจัยหลักสองอย่างนี้ แล้วแตกความหมายปลีกย่อยออกไปอีก ดังนั้น การกำหนดตำแหน่งของปัจจัย และเชิงมุมระหว่างกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ โหราศาสตร์ตะวันตกมักจะวัดมุมทางตรงของดาวนี้ ส่วนโหราศาสตร์ไทยก็ใช้บ้างเหมือนกัน ต่างกันเพียงแต่เป็นการวัดมุมระหว่างธาตุของดาวที่ส่งผ่านลงมาสู่ดวงชะตาแล้ว เมื่อเราพูดว่า พฤหัส กับพุธ สัมพันธ์กัน เราอาจจะพูดกันว่า ดาวพฤหัส “ส่งแสง” ถึงพุธ บ้าง “ส่งอิทธิพล” บ้าง ก็จะเห็นภาพพจน์และวัดมุมได้ ที่เรียกกันว่า ระบบดาว

โหราศาสตร์ตะวันออก โดยเฉพาะโหราศาสตร์ที่ใช้เรือนเกษตรอย่างไทยเดิม แม้จะใช้ความสัมพันธ์ทางตรงระหว่างดาวอย่างโหราศาสตร์ทั่วไป ซึ่งผ่านวงกลมดวงชะตาที่มีจุดศูนย์กลางเหมือนกัน แต่ยังมีความสัมพันธ์ทางอ้อมที่ผ่านทางเจ้าเรือนเกษตรด้วย เรียกว่า ระบบเรือน เจ้าเรือนเกษตร จะสร้างความสัมพันธ์โยงใยกับเจ้าเรือนเกษตรเรือนอื่นๆ ก่อให้เกิดเรื่องราวขึ้นมาได้มากมาย ที่สำคัญก็คือ ความสัมพันธ์เหล่านี้ไม่ได้อยู่ในมิติเดียวกัน ในระนาบเดียวกัน แต่อยู่ในระหว่างระดับชั้นภูมิของรูปธรรมและนามธรรมที่ซับซ้อน ในกาลเวลาที่แตกต่างกันด้วย ดังนั้น ตัวเลขไทย ที่แทนดาวดวงหนึ่ง เช่น เลข ๕ จึงไม่ได้หมายความเพียงถึง “ดาว” พฤหัส แต่ยังหมายถึง ความสัมพันธ์ที่เกิดจากพฤหัส ไปยังตำแหน่งของดาวอื่นๆด้วย

เพื่อให้เห็นภาพที่เขียนในย่อหน้าที่แล้วๆมา เราลองสมมุติว่า มีแอปเปิ้ลผิวสวยอยู่ผลหนึ่ง มีหนอนอยู่ตัวหนึ่ง เริ่มเจาะกินแอ้ปเปิ้ล จากผิวเปลือกนอกลงไปเป็นเส้นคดเคี้ยวจนไปโผล่ตรงผิวที่ใดที่หนึ่ง แล้วมันก็มุดกลับไป เจาะกินไปเรื่อยจนไปโผล่ที่ใหม่อีก จนกระทั่งบนเปลือกนอกของแอ้ปเปิ้ลมีปากทางเข้าที่เป็นรูอยู่ 7 รู แต่ภายในนั้น มีเส้นทางคดเคี้ยวที่ทำให้รูแต่ละรูสัมพันธ์กัน อาจจะระหว่างรู 2 รูบ้าง 3 รูบ้าง ไปจนอาจถึงทั้ง 7 รู หากแอ้ปเปิ้ลผลนี้ คือ แบบจำลองของธาตุในดวงชะตา ปากทางเข้าของรูหนอนบนเปลือกนอกของแอ้ปเปิ้ล ทั้ง 7 รู คือตำแหน่งของดาวทั้ง 7 ดวง บนผิวรอบนอกของแอ้ปเปิ้ล นี่เอง โหราศาสตร์ทั่วไป มองเพียงรูบนผิวเปลือกนอกของแอ้ปเปิ้ล แต่ไม่ได้มองลึกลงไปถึงเส้นทางคดเคี้ยวที่อยู่ภายใน การวัดมุมระหว่างรูที่อยู่บนผิวแอ้ปเปิ้ล คือการวัดในระบบดาว ในขณะที่รูหนอนที่คดเคี้ยวอยู่ในเนื้อในของแอ้ปเปิ้ลนั้น เป็นความสัมพันธ์ทางธาตุ นี่คือระบบเรือน ของโหรไทย โหราศาสตร์ระบบเรือน อย่างโหราศาสตร์ไทยเดิม จึงต้องบัญญัติใหม่ ให้เลขดาวที่เราเห็นในดวงชะตาแบบไทยนั้นแทนด้วยความหมายสองอย่าง คือ เป็นทั้งตัวแทนของดาว และเป็นทั้งจุดปลายสัมพันธ์ธาตุในระบบเจ้าเรือน เราจึงใช้ตัวเลขเพื่อหมายถึง ธาตุดาว แล้วใช้ความสัมพันธ์ระหว่างธาตุผ่านเรือนนั่นเอง แทนรูคดเคี้ยวในผลแอ้ปเปิ้ล

สิ่งที่ต้องเน้นตรงนี้ ก็คือ ระบบดาว เป็นความสัมพันธ์ของปัจจัยในมิติเดียวกัน แต่ในระบบเรือน เป็นความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้งสิ่งที่อยู่ในหลายมิติ โหราศาสตร์ไทย ถือปัจจัยสำคัญ คือธาตุในดวงชะตา ธาตุเหล่านี้มีภพภูมิ ที่จำแนกธาตุออกได้เป็นหลายระดับที่ต่างกัน ดังนั้น การแปลความหมายของธรรมชาติ ในโหราศาสตร์ไทย ในระบบเรือน จึงเป็นไปในทางลึกที่แทนด้วยรูปธรรมและนามธรรม จำนวนมากมาย ในขณะที่ระบบดาวของไทย ที่เป็นไปในแนวกว้างเช่นโหราศาสตร์อื่น ก็อาศัยมุมดาวที่ไม่เคร่งครัด และอาศัยมุมดาวเหล่านั้นนั่นเองแทนวิถีทางที่จะมีการแลกเปลี่ยนธาตุระหว่างกัน ดังนั้น จึงควรระวังเอาไว้ว่า การนำเอาเรื่องของมุม หรือ เกณฑ์ดาวจากโหราศาสตร์อื่นมาใช้ในดวงชะตาไทย จะไม่ตรงตามแนวคิดข้อกำหนดของโหราศาสตร์ไทย ทำให้แปลความหมายผิดไป

นอกจากนั้น การบ่งชี้ตำแหน่งของปัจจัยเช่นธาตุดาวของโหราศาสตร์ไทย ก็ไม่ได้ชี้ที่จุดใจกลางของธาตุดาวอย่างแน่นอนตายตัว เพราะธาตุนั้นไม่ใช่ดาวเคราะห์ที่เป็นวัตถุ ดังนั้น จึงไม่ได้ใช้จุดศูนย์กลางเพื่อกำหนดตำแหน่งเหมือนดาวเป็นรูปทรงกลมสมมุติ แต่ธาตุเป็นเหมือนรูปธรรมที่ปรากฏเท่านั้น เช่น สมมุติว่า ดาวเคราะห์ในระบบดาวของโหราศาสตร์อื่น เราอาจจะมองว่า จุดศูนย์กลางของวงกลม บ่งชี้ตำแหน่งองศาของดาวดวงนั้น ส่วนธาตุในโหราศาสตร์ไทย แม้ในสถานะปกติอาจจะมองเช่นนั้นได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว ธาตุของดาวดวงหนึ่งที่สัมพันธ์กับธาตุอื่น โดยเฉพาะที่ผ่านระบบเรือนหลายมิติ (ภูมิ) หรือ ใจกลางผลแอ้ปเปิ้ลนั่นเอง ที่ทำให้ธาตุมีรูปร่างสมมุติที่ไม่ได้มีความหมายที่จุดศูนย์กลาง รูปทรงเหล่านี้ไม่สำคัญเลยในโหราศาสตร์ไทย เพราะโหรไทยจะมองที่คุณสมบัติของธาตุ เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ใช่ตำแหน่งจุดศูนย์กลางของธาตุ เหตุผลสำคัญที่ทฤษฎีโหราศาสตร์ไทยเลือกแนวทางนี้ จะเล่าในวันหลัง แต่เมื่อเราเรียนลึกลงไปยิ่งขึ้น เราจะพบว่าโหราศาสตร์ไทยใช้ค่าสัมพัทธ์ มากกว่าค่าสัมบูรณ์ เช่น อาจจะพิจารณาว่า ธาตุดาวหนึ่ง อยู่ห่างจากอีกธาตุดาวหนึ่งเท่าใด โดยสนใจตำแหน่งสัมบูรณ์ในกรอบอ้างอิงของทรงกลมท้องฟ้าน้อยกว่าตำแหน่งสัมพัทธ์ จนดูเหมือนไม่สนใจเอาเสียเลย อย่างเช่น สมมุติ ศุกร์ กำลังโคจรเข้าหาเสาร์จร เราก็สนใจความสัมพันธ์ถึงกันของศุกร์และเสาร์ ไม่ได้กลับมาระบุตำแหน่งสถิตของศุกร์และเสาร์ ในพิกัดวงกลมอย่างที่โหราศาสตร์อื่นทำกันอยู่

อันที่จริง ทางรูปธรรมโหราศาสตร์ไทยมองธาตุดาวเป็นเหมือนมวลที่อาจจะมีรูปทรงแปรเปลี่ยนได้ ทั้งนี้เกิดจากสภาวะธาตุของราศี และการเคลื่อนที่ของมัน เช่น พักร มนฑ์ เสริด รวมทั้ง การอยู่ใกล้ดาวอื่น เช่น คู่ธาตุ หรือ คู่ศัตรู ดังนั้น การหาสมผุส หรือ องศาของดาว จึงเป็นระยะจากจุดอ้างอิงอันใดอันหนึ่ง เพื่อให้รู้ตำแหน่งของมวลธาตุเท่านั้น นี่เป็นเพียงหลักในการคำนวณ แต่ธาตุดาวที่เป็นอยู่จริง มันปรากฏอยู่ทั้งในภูมิที่มีพลังงานแตกต่างกันมากมายหลายภูมิ และมีรูปทรงเปลี่ยนไป แม้แต่ในภูมิต่างๆก็ไม่เหมือนกัน ลองสมมุติว่า ธาตุดาวเป็นสัตว์ประหลาด “เนสซี” ในทะเลสาบ “ล้อคเนซ” เราระบุว่าส่วนที่มันโผล่หงอน หรือ บางส่วนพ้นน้ำ เป็นตำแหน่งของมัน ตามที่กล้องจับได้ แต่ไม่มีใครรู้ว่าลำตัวส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำลงไป มีปาก มีงวง มีขา มีหาง หรือ อาจจะมีหัวอยู่อีกกี่หัวอยู่ตรงตำแหน่งใดได้อีกบ้างและมีรูปทรงเป็นเช่นไร

อย่างที่เคยบอกว่าดวงชะตาราศีจักรของไทย เป็นจักรราศีเชิงเส้นเหมือนเส้นเชือกพันขอบวงกลม การแบ่งระยะจึงใช้ราศีต่างๆ 12 ราศีนั่นเองที่เหมือนกับโหราศาสตร์อื่น ดวงชะตาไทยแบบเดิมจะแบ่งราศีเป็นนวางค์ นวางค์นั้น เป็น “บาท” อย่างหนึ่ง คือสิ่งที่รองรับขนาดและคุณสมบัติของสิ่งอื่นที่เคลื่อนไป (บาทา คือ สิ่งที่รองรับตัวเราเวลาเดิน ที่จริง “บาท” คือสิ่งที่อยู่ใต้เท้า หรือ คือ ฐาน แต่เราใช้เรียกเท้าเลยทีเดียวในศัพท์ที่สูงขึ้นเช่นราชาศัพท์ เพราะที่จริงเท้า หรือ ตีน คือสิ่งที่เหยียบบนที่รองคือบาท คนชั้นสูงมักมีรองเท้าใส่ เมื่อเรียกเท้าว่า “บาท” ก็จึงเหมือนกัน แต่เดิมเงิน “บาท” ก็คือ อัตรา “ฐาน” ของเงินที่เป็น “สรรพนาม” ไม่ใช่ “นามเฉพาะ”) อย่างเช่น จันทร์ที่โคจรไป การที่จะกำหนดขนาดและคุณสมบัติของจันทร์ เอามาคำนวณได้ ก็จึงต้องกำหนดบาทให้ เหมือนกับรอยก้าวเดินของดาว ดังนั้น จึงเรียกบาทของจันทร์ที่จร ว่า “บาทจันทร์” ดังนี้เป็นต้น

แต่คำว่า “บาท” นั้นยังเป็นสรรพนามอยู่ ส่วนย่อยที่แท้จริงของราศี เราแบ่งเป็นนวางค์ ราศีละ 9 นวางค์ คำว่า “นวางค์” นี้มาจากคำว่า “นว” ( หรือ นพ คือ เก้า) กับ “องค์” คือ ส่วน (บางตำราสะกดด้วย “ศ” การันต์ ซึ่งไม่ถูก เพราะคำนี้ไม่ได้มาจากคำว่า “วงศ์”) ดังนั้น นวางค์ ก็คือเก้าส่วน เก้าส่วนนี้เป็น “องค์” คือ หมายถึง หน่วยที่เป็นเอกภาพ สมัยก่อนเราเรียกกันโดยสามัญว่า “ลูกนวางค์” (คำนี้มีความหมายคล้ายลูกระนาด ที่เป็นเครื่องดนตรีไทยเดิมไหม ระนาดจะมีลูกระนาดไม่ไผ่ที่ “ร้อยเรียง” เป็นแถวขนาน) ในราศีหนึ่งๆจะมีลูกนวางค์เรียงกันอยู่ 9 ลูก เมื่อเราสมผุสธาตุดาวจากองศาแล้ว ตกอยู่ที่นวางค์ลูกใด ก็คือว่าธาตุดาวอยู่บนลูกนวางค์นั้น ไม่ต้องดูสมผุสอีก เพราะลูกนวางค์ เป็นบาทของธาตุดาวนั่นเอง เหมือนธรรมดาคนใส่รองเท้า เราก็ชี้ตำแหน่งที่ตรงรองเท้าได้เลย

แต่ที่สำคัญมากก็คือ การกำหนดนวางค์นั้นเป็นการกำหนดตามระบบดาวไม่ได้กำหนดตามระบบเรือน ดังนั้น การอ่านธาตุดาวในระบบเรือน จึงไม่ต้องคำนึงถึงลูกนวางค์ เพราะราศีมีนวางค์ แต่เรือนนั้นไม่มีนวางค์และไม่มีองศาด้วย สมผุสของดาวจึงใช้เพียงในระบบดาวของโหราศาสตร์ไทยเท่านั้น

เมื่อรู้จากสมผุสว่าธาตุดาวอยู่ที่ลูกนวางค์ใด เราก็กำหนดตำแหน่งธาตุดาวจากลูกนวางค์นั้น เพราะธาตุดาวยืนอยู่บนลูกนวางค์ และอาศัยอยู่ในราศีทั้งราศี ไม่ได้ “อาศัย” อยู่ในนวางค์เดียว แต่ละลูกนวางค์นี้มีคุณสมบัติไม่เหมือนกัน นี่จึงเป็นเหตุให้เราสร้างดวงนวางค์ (ไม่ใช่ “นวางคจักร” เพราะ ดวงนวางค์ ไม่ได้เป็น “จักร”) การที่อธิบายมาตราส่วนในราศีมาพอสังเขปนี้ ก็เพื่อเอาไว้เป็นเครื่องมืออธิบายการกำหนดคุณสมบัติของปัจจัยในดวงชะตาไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะเล่าต่อไปภายหลัง


วรกุล - 9 ตุลาคม พ.ศ.2549 14:43น. (IP: 203.107.202.57)

ความคิดเห็นที่ 35
ข้อเขียนคราวที่แล้ว กำลังกล่าวถึงสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่เป็นเสาหลักของโหราศาสตร์ไทย ก็คือ โหราศาสตร์ไทย ยึดถือเอา คุณสมบัติของปัจจัยเป็นสิ่งอ้างอิง ยิ่งไปกว่าตำแหน่งของปัจจัยนั้น เหตุผลสำคัญในการที่เลือกแนวทางนี้ก็คือ เพื่อให้เลี่ยงอิทธิพลของความแปรผันจากเกณฑ์วัดนั่นเอง

ในชีวิตประจำวันทั่วไปของเรา จะเห็นว่า เมื่อสิ่งใดมีอิทธิพลต่ออีกสิ่งหนึ่ง เช่นแสงแดดมีผลต่อการเติบโตของพืช ความเจริญเติบโตของพืชนั่นเองก็จะเป็นตัววัดว่าแสงแดดที่ได้รับนั้นมีปริมาณมากน้อยเพียงใด เราเรียกว่า แสงแดดเป็นตัวแปรอิสระ และพืชนั้นเป็นตัวแปรตาม หรือ มองง่ายๆว่า เหตุเป็นที่มาของผล ดังนั้น เมื่อเหตุแปรผันไปเพียงใด ผลก็จะแปรผันไปเพียงนั้น โดยที่มีเสกลความแปรผันไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับลักษณะสหสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผล ดังนั้น ในทางกลับกัน หากเราต้องการผลที่แน่นอนอันใดอันหนึ่งที่ไม่แปรผันง่าย เราก็จะต้องเลือกแนวทางซึ่งเหตุที่แปรผันไปนั้น จะไม่ทำให้ผลเปลี่ยนแปลง หรือ เปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก

สมมุติ เรามีกระจกเงาใหญ่บานหนึ่ง ติดแขวนอยู่บนผนังบ้านที่รับแสงแดดส่องเข้ามากระทบกระจก แสงนี้จะสะท้อนกลับมายังผนังอีกด้านหนึ่งตามมุมที่แสงแดดส่อง เมื่อเรานั่งอยู่ทางผนังด้านที่รับแสงสะท้อนนี้ แสงแดดจ้าจะส่องเข้าหาเราพอดี ดังนั้น เมื่อแสงแดดเปลี่ยนจากจ้าเป็นอ่อนลง หรือ จากอ่อนเป็นเข้ม เราก็จะรับเอาความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้โดยตรง หากเราเปลี่ยนมุมนั่ง แสงที่สะท้อนมากระทบเราโดยตรงจะลดลง จนเมื่อเราเลื่อนตำแหน่งของเราไปจนกระทั่งมองเห็นสันข้างของกระจก หรือ มุมที่ห่างที่สุดจากแสงสะท้อน แสงที่กระทบเราโดยตรงจะอยู่ห่างที่สุด แม้ลำแสงนั้น จะเข้มหรือ อ่อนลง ก็จะไม่มีผลต่อเรามากนัก

โหราศาสตร์ไทยสร้างทฤษฎีตรงนี้ เพื่อบ่งชี้ตัวของปัจจัยในดวงชะตา โหรสมัยก่อนรู้ว่า ธาตุต่างๆที่อยู่บนโลกและมีผลเป็นการสร้างชีวิตขึ้นมานั้นเป็นผลมาจากจักรวาลที่อยู่ภายนอกโลก ธาตุต่างๆที่มาสู่โลก ถูกแปรเปลี่ยนโดยชั้นบรรยากาศ และเมื่อเข้ามาสู่โลกก็เข้าสู่ระบบธาตุในธรณี ต่อจากนั้นธาตุเหล่านี้จึงกลายมาเป็นระบบธาตุในดวงชะตาที่แสดง(อ่าน)ถึงชีวิต ร่างกายและจิตใจได้ ดังนั้น ระบบธาตุในดวงชะตาที่ใช้ จึงเกิดจากระบบธาตุหลายแหล่งที่เป็นเหตุ หากจะใช้การคำนวณด้วยเกณฑ์วัดเช่นเวลา ก็จำเป็นต้องใช้เครื่องวัดเวลาที่แม่นยำ เพื่อหาตำแหน่งของปัจจัยที่เคลื่อนไป เช่น ดวงดาว หรือ ธาตุ แต่เมื่อไม่มีเครื่องวัดเวลาที่แน่นอน การชี้ตำแหน่งนั้นก็พลอยไม่แน่นอนไปด้วย แต่เมื่อมองโดยวัตถุประสงค์แล้ว การใช้เวลา ก็เพื่อหาตำแหน่งของปัจจัย การหาตำแหน่งของปัจจัยก็เพื่อชี้ตัวปัจจัยนั้นเพื่อที่จะหาคุณสมบัติของมัน (เวลา –-(ชี้)--> ตำแหน่ง –-(ชี้)--> ปัจจัย --(ชี้)--> คุณสมบัติ) หากเราเปลี่ยนการชี้ตำแหน่ง ของปัจจัยไปที่ชี้ คุณสมบัติแทน เมื่อเราชี้คุณสมบัติที่เราต้องการแน่นอนได้แล้ว แม้ความคลาดเคลื่อนของเวลาจะมีเท่าใด ก็ไม่มีอิทธิพลมากนัก เนื่องจากเวลาเป็นตัวชี้ตำแหน่งของปัจจัยด้วย ดังนั้น การกำหนดปัจจัยที่คุณสมบัติของมัน จึงกลายเป็นให้ความสำคัญแก่ตำแหน่งน้อยลงไปด้วย

ยกตัวอย่างเช่นการหาลัคนา โหราศาสตร์ไทยมักใช้วิธีหาลัคนาโดยคำนวณให้รู้ตำแหน่งเพียงคร่าวๆก่อน แล้วจึงสอบทานให้รู้คุณสมบัติของลัคนานั้นว่าตรงตามเรื่องราวที่ปรากฏจริงหรือไม่ เมื่อเราอ่านล่วงหน้าได้ว่า ลัคนาที่เราต้องหานั้น มีคุณสมบัติที่รู้แล้วอย่างไร แล้วค่อยกลับมาหาตำแหน่งของลัคนา เมื่อหาตำแหน่งลัคนาที่แน่ใจได้แล้ว เราจึงค่อยย้อนกลับไปดูสมผุส (องศา) หรือ นวางค์ที่เขายืนอยู่ นี่คือวิธีที่โหรไทยวางลัคนาจริงๆ ซึ่งดูเหมือนกับการหาทวนย้อนหลังกลับไป ต่างกับโหราศาสตร์อื่นที่มักเอาเวลาเป็นตัวตั้งแล้วดูเป็นลำดับต่อเนื่องกันมาชี้ที่ลัคนา

มีเหตุผลอยู่หลายประการในการเลือกวิธีวางปัจจัย ต่างๆในโหราศาสตร์ไทยแบบนี้ มีทั้งเรื่องที่ลึกซึ้งทางทฤษฎีโหราศาสตร์ และเรื่องตื้นๆที่เราพบอยู่ในชีวิตประจำวัน ในเรื่องตื้นๆ เราจะเห็นว่าเวลาที่พวกเราจับเวลาตกฟากที่เราเกิดกันมานั้น ส่วนใหญ่จะหยาบๆ แม้จะมีใครสักคนจับเวลาเกิดมาได้ในระดับทศนิยม เราก็ไม่มีข้อตกลงว่า เวลาใดที่เด็กเกิดตามดวงชะตากันแน่ จะเป็นหัว แขน หรือ ขา หรือ ก้น บางคนเสียเวลาหลายสิบนาทีกว่าจะหลุดออกมาทั้งตัว แล้วจะเอาเวลาวินาทีตรงไหน และมีสักกี่คนในกลุ่มคนนับร้อยๆล้านคนส่วนใหญ่มีเวลาเกิดที่ละเอียดแน่นอนเช่นนี้บ้าง แม้เราใช้เวลาละเอียด และมีนาฬิกาที่ดีเยี่ยม เวลานั้น จะสอดคล้องกับธรรมชาติที่เราใช้สร้างโหราศาสตร์ด้วยหรือไม่ โหราศาสตร์แต่ละระบบยังมีสิ่งที่ยึดถือเอา เกณฑ์วัดในธรรมชาติที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย แต่เท่าที่เป็นอยู่ บางคนยังเข้าใจว่า โหราศาสตร์ไทยใช้วิธีวัดเอาคร่าวๆ เพราะไม่สามารถวัดละเอียดได้เท่านั้นเอง แต่ถ้าโดยข้อเท็จจริงแล้ว จะพบว่า เกิดจากความแตกต่างของพื้นฐานทฤษฎีมากกว่า

เหตุที่ลึกซึ้งนั้น เพราะธรรมชาติที่เรานำมาใช้ทางโหราศาสตร์มีความไม่แน่นอนทางเกณฑ์วัด อย่างเช่นการวัดเวลา เพื่อนำมากำหนดตำแหน่งของปัจจัย เช่น ลัคนา หรือ ตำแหน่งดาวก็ตาม “เวลา” นี้ใช้วัดการเคลื่อนที่หมุนไปของโลก และ ปัจจัยเช่นดาว โหราศาสตร์ที่ยึดถือตำแหน่งดาวจริง ก็เพียงยึดเอากรอบที่คงที่ของท้องฟ้า โดยมีข้อสมมุติฐานว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับดวงดาว คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิต หรือ มีผลต่อชีวิต แต่โหราศาสตร์ที่ยึดเอาธรรมชาติที่ถูกปรุงแต่งแล้ว มาสัมพันธ์กับชีวิตนั้น ถือเอาธรรมชาติที่อยู่รอบตัวสิ่งมีชีวิตนั่นเอง เป็นสิ่งแสดงความเป็นไปของชีวิต ทั้งนี้ เพราะชีวิตที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากปัจจัยเดียว หรือ หรืออ่านได้จากแหล่งเดียว เช่นอ่านจากดวงดาว แต่ต้องอ่านมาจากปัจจัยแวดล้อมด้วย ปัจจัยแวดล้อมเหล่านี้แหละที่เป็นสิ่งแปรปรวนและไม่ใช่เส้นตรงที่เป็นกรอบคงที่ ดังนั้น การกำหนดเวลาที่คงที่ จึงไม่สอดคล้องกับการกำหนดลักษณะของปัจจัย นั่นเอง

ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติเรานัดเพื่อนเอาไว้จะไปรับเวลา 8 โมงเช้า ที่หน้าโรงแรม เมื่อไปถึงเวลา 8 โมงเช้า เราก็จะมองหาเพื่อน มากกว่าจะยึดถือตำแหน่งและเวลา เพราะหากไปรับใครก็ได้ที่มายืนหน้าโรงแรมตอน 8 โมงเช้า(ตำแหน่ง+เวลา) ก็อาจจะไม่ได้เพื่อนของเรา และเพื่อนเราจริงๆอาจจะติดปัญหาช้าเร็ว ที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม จึงอาจจะมาที่นัดหมายผิดไปจากเวลา 8 โมงเช้าก็เป็นได้ หากเปรียบเทียบกับการวางลัคนา โหรไทย กำหนดเวลาคร่าวๆเพื่อมองหาลัคนา เมื่อพบตัวลัคนาแล้ว ก็ไม่ได้ไปเคร่งครัดว่า ลัคนาตัวจริงที่พบนั้น พบเมื่อเวลาไหน พบที่ตำแหน่งไหนของโรงแรม ทั้งนี้ จึงไม่น่าแปลกใจอะไรที่ลัคนาของโหราศาสตร์แต่ละระบบจะแตกต่างกัน เพราะลัคนาที่พบนั้น ก็จะเป็นลัคนาคนละอย่างกับลัคนาของพวกโหราศาสตร์ที่กำหนดเวลาและตำแหน่งที่แน่นอนนั่นเอง

โหราศาสตร์ดั้งเดิม ไม่ได้มองเวลาตามนาฬิกาอย่างที่เรามองกันอยู่ในปัจจุบัน แนวคิดโหราศาสตร์มองธรรมชาติที่เกิดขึ้นแล้ว หยุดอยู่ แปรปรวน แล้ว เปลี่ยนไป เป็นวัฏจักรเล็กๆที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ระหว่างนี้ธรรมชาติมีการแปรปรวนออกไปจากความเคลื่อนตัวปกติ แล้วก็เปลี่ยนกลับมาอยู่เสมอ เกิดจากปัจจัยปรุงแต่งในตัวธรรมชาติเอง นี่เป็นลักษณะของ กระแสธรรมชาติ ในโหราศาสตร์ เรียกว่า “ธรรม” การวัดความต่อเนื่องของธรรมนั้น คือการเคลื่อนไปใน “กาล” กาลนี้ไม่ใช่เวลา แต่กาลเป็นความต่อเนื่องที่ธรรมชาติปรากฏจากอดีต ผ่านปัจจุบันไปยังอนาคต กาลนี้เป็นคุณสมบัติหนึ่งของธรรมชาติที่ไม่คงตัวเท่าเดิมเสมอไป กล่าวง่ายๆก็คือ กาลมีความยืดหยุ่น และแปรขนาดได้ไม่คงที่ตามแต่สภาวะและปัจจัยในธรรมชาติ แต่เดิมโบราณใช้คำว่า “กาล” ต่างจากคำว่า “เวลา” ในบัญญัติในสมัยปัจจุบัน เพราะเวลาในปัจจุบัน เป็นความต่อเนื่องที่คงที่แน่นอน ตัววัดของเวลาก็คือ “นาฬิกา” ซึ่งเราใช้เวลามาตรฐานคือ “เวลาอะตอม” เป็นตัวสร้างหน่วยวัดเวลา ตั้งแต่ ปี เดือน วัน ชั่วโมง นาที วินาที

ธรรม นั้น เปลี่ยนแปลงไปตามกาล กาลเองจึงมีลักษณะเป็นวงรอบที่ใหญ่มาก กว่าจะครบรอบก็นานมากนับกัลป์หลายกัลป์ กว่ากาลจะหมุนกลับมายังที่เดิม โบราณจึงเรียกวงรอบของกาลนี้ว่า “กาลจักร” ในมหาเอกภพนี้ กาลมีขนาดไม่เท่ากัน กาลในภพสวรรค์ มนุษย์โลก และ นรก ล้วนมีขนาดไม่เท่ากัน อย่างที่มีนิทานมักเปรียบเทียบว่า เทวดาที่เสวยสุขอยู่บนสวรรค์นั้นกาลมันเร็วมาก เพียงวันหนึ่งในสวรรค์อาจจะนานถึง 100 ปีในโลกมนุษย์ แต่ในโลกมนุษย์กาลก็ยังเร็วกว่าในนรกภูมิ โลกมนุษย์กำหนดขนาดของกาลมาจากการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์รอบโลก โลกหมุนรอบตัวเอง และ จันทร์หมุนรอบโลก โลกที่หมุนรอบตัวเองนี้เป็นตัวกำหนดขนาดของกาล ดังนั้น เมื่อโลกหมุนรอบตัวเองรอบหนึ่ง เราจึงเรียกว่า “วัน” หนึ่ง เมื่อเราแบ่งกาลออกเป็นส่วนๆ ส่วนของกาลเหล่านี้เองที่เรียกว่า “โหรา” เราแบ่งกาลในรอบวันออกเป็นโหรา เช่น เป็นชั่วโมง นาที วินาที ด้วยเหตุที่กาลในที่ต่างๆไม่เท่ากัน ดังนั้น การวัดโหราในโลกที่เราอยู่เองนี้ เราจึงใช้คำว่า “อันโต” นำหน้า เช่น อาจจะเรียกว่า อันโตชั่วโมง อันโตนาที อันโตวินาที หมายถึงเวลาที่วัดจาก(การหมุนภายในของ)โลกเอง

คำว่า “อันโต” หรือ “อันเต” หรือ “อันตะ” นั้น เป็น prefix หมายถึง “ภายใน” (เช่น อันเตวาสิก หมายถึงศิษย์ที่ไปอยู่ในบ้านของอาจารย์เพื่อเรียนวิชา ต่างจากคำว่า นิสิต ที่หมายถึง นักศึกษาที่ไปพักในหอพักของสถาบันที่ศึกษา) การกำหนดแบ่งโหราของโลก ที่เกิดจากการหมุนของโลก ออกเป็น อันโตนาที จึงขึ้นอยุ่กับธรรมชาติและความเร็วที่หมุนของโลก เมื่อโลกหมุนแกว่ง หรือ เบี่ยงเบนไปตามฤดูกาลอย่างใด อันโตนาที ย่อมเปลี่ยนแปลง แต่ตัวเลขจะคงที่ เพราะมันเป็นโหราของวันหนึ่งๆที่โลกหมุนครบรอบ แต่เมื่อเราไปกำหนด “นาที” มาตรฐานตาม “เวลาอะตอม” ของจักรวาลมาใช้แทน “อันโตนาที” มันจะไม่เท่ากันตามความหมายดั้งเดิม เพราะอันโตนาทีวัดตามกาล แต่นาที วัดตาม นาฬิกา หรือ เวลา โหราศาสตร์ดั้งเดิม ถือเอากาล หรือ กาลจักร เป็นสิ่งวัดความเคลื่อนตัวของธรรมชาติ หรือ ธรรม เพราะ โหราศาสตร์ศึกษาชีวิตจากธรรม ไม่ใช่จากดวงดาว

วิชาโหราศาสตร์นั้น ในต่างประเทศมักจะเรียกว่า astrology หมายถึง วิชาการใช้ดวงดาว ต่างจาก astronomy ที่หมายถึง ดาราศาสตร์ ทำให้พวกเราบางคนหลงเข้าใจไปว่า astrology นั้น เป็นเพียงการนำดวงดาวมาใช้เพื่อการพยากรณ์เท่านั้นเอง จนไปหลงยึดติดอยู่กับปรากฏการณ์ดวงดาวบนท้องฟ้าจริงๆ น่าขอบคุณบรรพบุรุษของโหรตะวันออกที่ยังรักษาชื่อ “โหราศาสตร์” เหลือไว้เป็นมรดกแก่เราได้ เพราะคำว่า “โหราศาสตร์" ที่ไทยเรารักษาไว้ได้นั้น แตกต่างจากคำว่า “astrology” ไปคนละเรื่อง และมีความลึกซึ้งกว่ามากมาย โหราศาสตร์ จึงหมายถึงศาสตร์ที่ศึกษาธรรมชาติและชีวิตที่แปรผันไปตามโหรา หรือ กาล นั่นเอง

โหราศาสตร์ดั้งเดิมชี้ ลัคนา ตามอันโตนาที ดังนั้น หากโลกหมุนเปลี่ยนแปลง อันโตนาทีก็เปลี่ยนขนาดไป ตำแหน่งของลัคนาก็จะเปลี่ยนไปตามกัน ในเมื่อกาลในธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปด้วย ธาตุที่อยู่ในภพภูมิต่างๆก็จะเปลี่ยนคุณสมบัติแปรผันตามไป ลัคนาที่เป็นปัจจัยสำคัญ จึงมีคุณสมบัติเปลี่ยนแปลงไปด้วย นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ โหราศาสตร์ไทยชี้ ลักษณะของปัจจัย มากกว่าตำแหน่งที่เกิดจากเวลานาฬิกาในปัจจุบัน

ที่เขียนมาข้างต้นนี้ ผู้ที่อ่านโดยมีความรู้เบื้องต้นน้อยอยู่ก็จะงงเป็นธรรมดา เพราะยังไม่เห็นภาพที่นักโหราศาสตร์โบราณมองเห็น ดังนั้น จึงแปลไทยเป็นไทยอย่างง่ายขึ้น แต่ต้องสัญญาก่อนว่า จะไม่ถือเอาสิ่งที่จะอธิบายนี้เป็นข้อเท็จจริงตามทฤษฎีไปด้วย หากสมมุติเรามีธรรมชาติเปรียบเหมือนเส้นเชือกเส้นหนึ่ง เอาตลับเมตรที่เป็นเทปวัดมาวัด ถ้าเส้นเชือก(คือธรรมชาตินี้)คงที่ เมื่อเราใช้เทปวัดความยาวได้ 1 เมตร แล้วแต้มสีแดงเอาไว้ ไม่ว่าจะวัดอีกกี่ครั้ง ที่ความยาว 1 เมตรนั้น ก็จะพบจุดสีแดงบนเชือกเสมอ แต่โหราศาสตร์ไทยบอกว่า ธรรมชาตินั้นไม่คงที่ ราวกับเชือกนั้นยืดหดได้ และตัวเทปที่คงที่ หากวัดไปบนเชือกที่ยืดหดได้ที่ตำแหน่ง 1 เมตร ก็ไม่ได้ตำแหน่งเดียวกันทุกครั้ง โหราศาสตร์ไทยจึงไม่ถือการวัดในกรอบที่คงที่เป็นเรื่องสำคัญ แต่ถือเอาตัวปัจจัย (object) นั่นเอง เป็นสิ่งสำคัญ เหมือนกับธรรมชาติที่เรามักมองออกไปจากรอบตัวเราเป็นจุดศูนย์กลาง เพราะความยึดเอาอัตตาตัวตน มากกว่าจะถือเอาว่า เราเป็นผู้ร่วมอยู่ในธรรมชาติเท่าเทียมกับผู้อื่น


วรกุล - 9 ตุลาคม พ.ศ.2549 14:44น. (IP: 203.107.202.57)

ความคิดเห็นที่ 36
กระทู้นี้ยาวมากพอสมควรแล้ว ทำให้เรียกขึ้นได้ช้า จึงขอปิดเพื่อขึ้นกระทู้ที่ 20....ครับ.........


วรกุล - 9 ตุลาคม พ.ศ.2549 14:48น. (IP: 203.107.202.57)

ความคิดเห็นที่ 37
กระทู้นี้ยาวมากพอสมควรแล้ว ทำให้เรียกขึ้นได้ช้า จึงขอปิดเพื่อขึ้นกระทู้ที่ 19....ครับ.........


วรกุล - 9 ตุลาคม พ.ศ.2549 14:50น. (IP: 203.107.202.57)