เว็บบอร์ด

กระทู้ ถามตอบโหราศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์

ปิดปรับปรุงชั่วคราว

พรรคประชาธิปัตย์และพรรคไทยรักไทยความเหมือนบนความต่าง โดยอาจารย์วิโรจน์ กรดนิยมชัย

ในโอกาสที่มูลนิธิสมาคมโหรแห่งประเทศไทยในพระสังฆราชูปถัมภ์จะรวบรวมบทความทางโหราศาสตร์เพื่อแจกจ่ายให้นักศึกษาของมูลนิธิฯ ในฐานะที่ผมรับหน้าที่เป็นผู้สอนวิชาโหราศาสตร์ยูเรเนียนจึงขอเสนอบทความทางวิชาการในการพยากรณ์เหตุการณ์ดวงเมืองประเทศไทย โดยใช้หลัก และปรัชญาทางโหราศาสตร์ที่ไม่ค่อยมีให้เห็นกันในยุคสมัยนี้ โดยทั่วไปเมื่อเอ่ยถึง ยูเรเนียน ก็จะมีปริศนาว่าเป็นเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นยากแก่การเข้าใจ หรือยากที่จะนำมาใช้ และมักพบว่าการตอบปัญหาทางโหราศาสตร์ยูเรเนียน มักใช้พระเคราะห์สนธิเป็นหลักในการพยากรณ์ ซึ่งก็เป็นวิธีการหนึ่งในหลายๆวิธีการของโหราศาสตร์แนวคลาสสิคที่อาจารย์พลตรีประยูร พลอารีย์เคยกล่าวเอาไว้ น่าเสียดายที่นักศึกษาโหราศาสตร์สมัยนี้ยังขาดความเข้าใจในการนำปรัชญามาใช้ในการอ่านดวงชะตา หรือใช้พยากรณ์ บทความนี้หวังว่าคงเป็นประโยชน์แก่ผู้สนใจในการนำหลักปรัชญา การโคจรของดวงดาวไม่ว่าจะเป็นเรื่องของวงรอบ 19 ปีเมโทนิค หรือวงรอบดาวเสาร์ 30 ปี ซึ่งสามารถนำไปใช้พยากรณ์ได้กับโหราศาสตร์ทุกประเภท

พรรคประชาธิปัตย์ และ พรรคไทยรักไทย

ความเหมือนบนความต่าง

วิโรจน์ กรดนิยมชัย

29 มิถุนายน 2549

วิกฤติการณ์ในสังคมไทยวันนี้ สิ่งหนึ่งต้องยอมรับว่ามีผลมาจากพฤติกรรมและวิธีการปฏิบัติของพรรคการเมือง 2 พรรคที่เป็นหัวข้อเรื่องนี้ ในสายตาของประชาชนทั่วไปต่างก็วิเคราะห์สถานการณ์ตามข่าวที่ปรากฏในสื่อต่างๆ หรืออาจจะมีบ้างที่มีข่าวจาก “คนวงใน” ว่ากันมา ในฐานะนักโหราศาสตร์ จึงใคร่เสนอความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ในหลักวิชาการทางโหราศาสตร์ยูเรเนียน โดยอาศัยหลักปรัชญา

“อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน”

สิ่งที่นักโหราศาสตร์จะต้องเข้าใจในลำดับแรก คือการเข้าใจปรัชญาในข้อนี้ ความหมายของปรัชญานี้คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ย่อมเกิดขึ้นอีกในปัจจุบัน และจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ภายใต้กฎเกณฑ์เฉพาะของแต่ละบุคคล ปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาได้แก่วงรอบการโคจรของดวงดาว 2 เรื่อง ได้แก่ วงรอบจันทรคติ 18-19 ปีหรือวงรอบเมโทนิค 19 ปี และวงรอบ 30 ปีของดาวเสาร์ โดยมีหลักว่า เหตุการณ์ใดๆที่จะเกิดขึ้นซ้ำอีกภายใต้วงรอบนั้นๆจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันในทางปรัชญา อันได้แก่ ความนานของช่วงเวลา และอิทธิพลหรือผลที่ปรากฏ เช่น พ่อ เป็นอย่างไรลูกก็จะเป็นเช่นนั้น พ่อคืออดีตของลูก ลูกคือปัจจุบัน และสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นแก่หลานในอนาคตด้วย ในทางโหราศาสตร์จะบอกว่า ผู้ชายจะเหมือนพ่อ รวมทั้งพ่อตาด้วย ส่วนผู้หญิงจะมีชีวิตเหมือน แม่ และ แม่สามีด้วย ดังนั้นภรรยาของนาย ก. ก็จะเหมือนแม่ของนาย ก. หรือ สามีของนาง ข. ก็จะเหมือน กับบิดาของ นาง ข. ด้วยเช่นกัน ในกรณีของการเกิดเหตุการณ์ใดๆก็เช่นกัน เหตุการณ์หนึ่งที่เคยเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลาหนึ่ง ย่อมเกิดขึ้นอีกเมื่อสถานการณ์แวดล้อมเหมือนเช่นที่เคยเกิดขึ้นอีก เช่น กรณีการเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อีก 19 ปีต่อมา ก็เกิดเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ระยะเวลา ห่างกัน 18 ปีเศษ เหตุการณ์เกิดขึ้นบนถนนราชดำเนิน สถานที่ต่างๆที่เคยถูกเผาในปี 2516 ก็ถูกเผาอีกในปี 2535 เช่น อาคารกรมสรรพากรถูกเผาถึง 3 ครั้ง ในปี 2516 2519 และ 2535 เพราะทุกครั้งที่ผ่านมาอาคารกรมสรรพากรจะได้รับการซ่อมแซมใช้งานทุกครั้ง แต่หลังเหตุการณ์ในปี 2535 กรมสรรพากรไม่ได้มีการซ่อมแซม ถูกปล่อยทิ้งไว้และสุดท้ายก็ทุบทิ้งและปรับเป็นสวนหย่อมอย่างที่เห็นกันในทุกวันนี้ ในปี 2538 (19 ปี จากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519) จึงไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงบนถนนราชดำเนิน เช่นเดียวกับ ปี 2546 (30 ปี จาก 14 ตุลาคม2516) ก็ไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงบนถนนราชดำเนิน และคงเป็นคำถามว่า ปี 2549 (30 ปี จาก 6 ตุลาคม 2519) จะมีความรุนแรงหรือไม่ ซึ่งถ้าหากพิจารณาในทางปรัชญาแล้วไม่น่าเกิดเหตุการณ์รุนแรง แต่อาจจะเป็นเหตุการณ์ความสูญเสีย หรือเหตุการณ์การพลัดพรากของผู้มีตำแหน่งสำคัญอย่างอื่นที่เทียบเคียงกันได้ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงก็คงเกิดจากอิทธิพลของดวงชะตาวงรอบชนิดอื่นซึ่งจะต้องวิเคราะห์ต่อว่าคืออะไร

การมองภาพพรรคการเมือง 2 พรรคนี้จะใช้ดวงชะตาของพรรคประชาธิปัตย์ กับวงรอบ 30 ปีของดาวเสาร์ และดวงชะตาของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทย กับวงรอบ เมโทนิค 19 ปี และวงรอบ 30 ปีของดาวเสาร์ด้วย เปรียบเทียบกัน เนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีความเก่าแก่ยาวนานและมีอายุมาถึงวันที่พิจารณาเป็นเวลา 60 ปี หรือ 2 รอบของดางเสาร์ และสถานะในปัจจุบันของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แม้จะเป็นหัวหน้าพรรค แต่ก็ยังไม่เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงถือว่ายังไม่มีบทบาทเด่นชัดเพียงพอที่จะนำมาใช้เป็น “ตัวแทนความเป็นพรรคได้” ซึ่งแตกต่างจากพรรคไทยรักไทยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคมีความโดดเด่นอย่างมาก การจะเรียก “พรรคไทยรักไทย หรือ พรรคทักษิณ” ก็ดูไม่แตกต่างกัน บทความนี้มีความยาวค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องการให้ผู้อ่านได้ใช้เวลาพิจารณา และวิเคราะห์สิ่งต่างๆที่ปรากฏด้วยความตั้งใจ การที่จะอ่านบทความที่ตัดสินปัญหาสำคัญๆ แต่เพียงผิวเผิน หรืออ่านเพียงบทสรุป โดยไม่รู้ที่มาที่ไปว่าเป็นมาอย่างไร หรือที่เรียกว่า อ่านเพียงฉาบฉวยนั้น บทความนี้ก็จะสูญเสียคุณค่าทางวิชาการลงไปอย่างมาก


ศิษย์ 2000 - 1 มิถุนายน พ.ศ.2552 00:00น. (IP: 202.57.169.158)

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
พรรคประชาธิปัตย์ บนความเปลี่ยนแปลง

ข้อมูลจาก website : http://www.democrat.or.th ของพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า

พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้มีการก่อตั้งก่อนที่จะมีพระราช บัญญัติพรรคการเมืองโดยก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 โดยมี นายควง อภัยวงศ์ เป็น หัวหน้าพรรคคนแรกและ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นเลขาธิการพรรคคนแรก ตลอดระยะเวลา 60 ปีที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ดำเนินการต่อสู้ทางการเมืองใน ระบอบประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องซึ่งพอจะจำแนกออกได้เป็น 4 ยุค กล่าวคือ

ยุคที่หนึ่ง (2489-2501) : ยุคแห่งการสร้างพรรค และสร้างประชาธิปไตย ต่อต้านเผด็จการ

ในระยะต้นสภาพการเมืองของประเทศไทยมีความผันผวนเนื่องจากอยู่ในระหว่างการเริ่มต้น การดำเนินงานทางการเมืองอยู่ในวงแคบพรรคประชาธิปัตย์ได้มีการดำเนินการทางการเมืองที่ สำคัญสรุปได้ ดังนี้

ปฏิบัติหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์

ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลรับเชิญของคณะรัฐประหาร พ.ศ 2490 (พ.ต.ควง อภัยวงศ์)

ปฏิบัติหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลย์สงคราม

ปฏิบัติหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลแห่งกลุ่มจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

ระหว่างปี 2501-2511 บทบาททางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ได้หยุดชั่วคราว เมื่อจอม

พลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง และเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จในปี 2501

ยุคที่สอง (2511-2519) : ยุคแห่งการฟื้นฟูพรรค และเชิดชูประชาธิปไตย ภายหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 ทางพรรคฯได้มีการ ดำเนินการทางการเมืองที่สำคัญ ดังนี้

ปฏิบัติหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร

ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2518 (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช)

ปฏิบัติหน้าที่เป็นฝ่ายค้านรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช

ปฏิบัติหน้าที่เป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง พ.ศ. 2519 (ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช)

(หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจการปกครอง และมีการแต่งตั้งให้นายธานินท์ กรัยวิเชียร มาดำรงตำแหน่งนายรัฐมนตรี : ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับเหตุการณ์ในสมัยนั้นที่ไม่มีใน website ของพรรคประชาธิปัตย์)

ยุคที่สาม (2522-2533) : ยุคแห่งการปรับปรุงนโยบาย และเข้ามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง ในปี พ.ศ. 2521 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และจัดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 22 เมษายน 2522 นับเป็นการเข้าสู่ยุคที่สามทางการเมืองของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งทางพรรคฯ ได้มีการดำเนินการทางการเมืองที่สำคัญสรุปได้ ดังนี้

ปฏิบัติหน้าที่เป็นพรรคฝ่ายค้านรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์

ปฏิบัติหน้าที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (1, 2, 3, 4, 5)

ปฏิบัติหน้าที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

ยุคที่สี่ (ปลายปี 2533-ปัจจุบัน):ยุคแห่งการเป็นรัฐบาลของประชาชนและฝ่ายค้านที่มี ประสิทธิภาพ

ในวันที่ 12 ธันวาคม 2533 พรรคประชาธิปัตย์ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณซึ่งหลังจากนั้นได้เกิดผันแปรทางการเมืองอย่างรุนแรงนำมาถึงเหตุการณ์ยึดอำนาจของ “คณะ รสช.” และเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในที่สุด ท่ามกลางวิกฤติการทางการเมืองในยุคที่สี่นี้พรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามามีบทบาทในการ ต่อต้านเผด็จการเคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนจนกระทั่งเหตุการณ์สงบและนำไปสู่การเลือกตั้งในเดือนกันยายน 2535

พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยมีนายชวน หลีกภัยเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนดำเนินการบริหารบ้าน เมือง มาเป็นระยะเวลา 2 ปีครึ่งจนมาถึงกลางปี 2538 ซึ่งมีเหตุการณ์พลิกผันทางการเมืองจนนำมาสู่การยุบสภาทำให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่

วันที่ 2 กรกฏาคม 2538 เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลนายบรรหาร ศิลปอาชา

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539 เป็นฝ่ายค้านรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2540 ภายหลังการลาออกของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จากปัญหาฟองสบู่แตกและการลดค่าเงินบาทจนเป็นที่มาของวิกฤติเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่สะเทือนไปทั่วโลก นายชวน หลีกภัย ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ

แต่หลังการเลือกตั้ง มกราคม 2544 พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

ดวงชะตาพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้วงรอบดาวเสาร์ 30 ปี

หากเรียงลำดับเหตุการณ์หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 เป็นต้นมา พบว่าบุคคลสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์นับตั้งแต่ หลวงโกวิทอภัยวงศ์ หรือพันตรีควง อภัยวงศ์ ผู้ก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์นั้นมีบทบาททางการเมืองโดยได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี (คนที่ 4 ของประเทศไทย) ครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2487 แม้แต่ มรว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศไทยก็ดำรงตำแหน่ง เมื่อปี 2488 -2489 พันตรีควง อภัยวงศ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 ระหว่างวันที่ 31 มกราคม 2489 ถึง 24 มีนาคม 2489 เป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนการจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์ แล้วจึงมาจัดตั้งพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2489 โดยเริ่มต้นการเป็นพรรคการเมืองด้วยการเป็นฝ่ายค้าน รัฐบาลหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) ตราบจนถึงปัจจุบัน พรรคประชาธิปัตย์ดำรงความเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้านมากกว่าเป็นแกนนำพรรครัฐบาลและรวมทั้งการเป็นพรรคร่วมรัฐบาลหลายสมัยด้วย

เมื่อนำเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเปรียบเทียบกับดวงชะตาวันก่อตั้งพรรคประชาธิปัตย์ 6 เมษายน 2489 พบว่า ในดวงชะตาการจัดตั้งพรรคนั้นผู้ก่อตั้งคงมีเจตนาที่จะกำหนดบทบาทความเป็นผู้คัดค้านการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของผู้มีอำนาจในยุคสมัยนั้น จึงได้วางดวงชะตาของพรรคให้มีความแข็งแกร่งในเชิงโวหาร การสืบค้นข้อมูลในทางลับ และการเป็นนักตรวจสอบ (ดาวพุธในราศีมีนใกล้จุดเมษสากลและเป็นเรือนที่ 6 ซึ่ง หมายถึงกิจกรรมทางการเมือง) และวางตำแหน่งอาทิตย์ไว้ที่เรือนที่ 7 ซึ่งหมายถึงการเป็นฝ่ายตรงข้ามของผู้อื่นเสมอ

เมื่อพิจารณาจุดอับของดวงชะตาก็พบว่า จุดที่หมายถึงการถูกหน่วงเหนี่ยวกักขังในดวงชะตาปรากฏให้เห็นชัดถึง 2 ครั้ง และทั้ง 2 ครั้งมีระยะเวลาห่างกัน 30 ปี (วงรอบดาวเสาร์ 30 ปี และปรัชญา อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ล้วนเป็นสิ่งเดียวกัน เหตุการณ์ต่างๆจะเกิดขึ้นภายใต้สถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน )

โดยครั้งแรก เมื่อปี 2519 มรว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี กับเหตุการณ์ความไม่สงบ เนื่อง จากการต่อต้านการเดินทางกลับประเทศไทยของ จอมพลถนอม กิตติขจร จนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงทำให้มีการนองเลือด ประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมากในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนเป็นเหตุให้พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ทำการรัฐประหารยึดอำนาจในนาม “คณะปฏิรูปการปกครอง” ยุติการใช้รัฐธรรมนูญ และมีการแต่งตั้งให้นายธานินท์ กรัยวิเชียรเป็นนายกรัฐมนตรี (8 ตุลาคม 2519 – 20 ตุลาคม 2520) (แม้ว่าในปี2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนรัชต์ จะทำการปฏิวัติเพื่อช่วงชิงอำนาจจาก พลเอกถนอม กิตติขจร มีผลทำให้พรรคการเมืองต่างๆรวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์จะต้องยุติบทบาททางการเมืองในช่วงระหว่างปี 2501-2511 ก็ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างผู้นำพรรคประชาธิปัตย์กับผู้มีอำนาจในขณะนั้น)

หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญในปี 2520 และหลังการเลือกตั้ง พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคประชาธิปัตย์ก็เริ่มต้นกลับมาเป็นฝ่ายค้าน

ครั้งที่ 2 คือในปีนี้ 2549 ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ระหว่างรัฐบาลพรรคไทยรักไทย กับ พรรคฝ่ายค้าน และกลุ่มพันธมิตรประชาธิปไตย รัฐบาลเลือกยุบสภาพร้อมกับประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อหวังจะกลับมาครองเสียงข้างมากและกลับมาเป็นรัฐบาลด้วยความชอบธรรมจากการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่ง แต่ทว่าในการเลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 มีการกล่าวหาถึงการทุจริตการเลือกตั้ง “พรรคใหญ่จ้างพรรคเล็ก” มีการฟ้องร้องกันมากมายหลายคดี และจนถึงที่ กกต. จำต้องชี้มูลคดีในโทษความผิดถึงขั้นยุบพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องรวม 5 พรรค และพรรคประชาธิปัตย์กำลังจะถูกตัดสินให้ถูกยุบพรรคพร้อมกับพรรคไทยรักไทยและพรรคเล็กอีก 3 พรรค และอัยการสูงสุดได้ส่งสำนวนการสอบสวนทั้งหมดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาและตัดสินคดีเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 และศาลรัฐธรรมนูญนัดสั่งคดีว่าจะรับพิจารณาหรือไม่ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2549

ในขณะที่เขียนบทความนี้8 กรกฎาคม 2549 ยังไม่มีใครทราบว่าเหตุการณ์จะเป็นอย่างไร

การพยากรณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับพรรคประชาธิปัตย์ในปี 2549

เมื่อลำดับเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับพรรคประชาธิปัตย์ตั้งแต่เริ่มตั้งพรรคเมื่อปี 2489 ถึงปัจจุบัน จะได้ดังนี้

2489 หลังการก่อตั้งพรรค ก็เริ่มต้นด้วยการเป็นฝ่ายค้าน

2519 อีก 30 ปีต่อมา พรรคยุติบทบาทไป 1 ปี แล้วกลับมาเป็นฝ่ายค้านอีกครั้งหนึ่งในปี 2520

ดังนั้น ในปี 2549 พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสที่จะต้องยุติบทบาททางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อาจจะต้องหา “บ้านหลังใหม่” อยู่ชั่วคราวเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองต่อไป และรอวันหวนกลับมาเป็นพรรคฝ่ายค้านอีกครั้งหนึ่งในปี 2550 เช่นเดียวกับเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว

หากนำดวงชะตาของคุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์มาพิจารณาด้วยจะพบว่า คุณอภิสิทธิ์ เป็นชาวราศีสิงห์ ในดวงชะตาก็แทบจะไม่ต่างกับคุณทักษิณที่เป็นชาวราศีสิงห์สากลเช่นกันเท่าไรนักที่จะต้องพบกับดาวเสาร์ที่มาทับอยู่ในราศีเกิดทำให้เกิดข้อจำกัดและการพลัดพราก และยังโชคดีที่ พฤหัสจรในราศีพิจิกทำมุมฉากกับราศีสิงห์ ทำให้ได้รับโชคดีด้วย แต่ทว่า ดาวพฤหัสเมื่อโคจรมาแล้วก็จะผ่านไปในช่วงปลานปีนี้ ส่วนดาวเสาร์จะยังย่ำอยู่ในราศีสิงห์อีกหลายเดือนและตลอดถึงปี 2550 ดังนั้นชะตากรรมของหัวหน้าพรรคทั้ง 2 ท่าน ก็คงต้องมองดูผู้อื่นทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ไม่ว่าจะเลือกตั้งปลายปีนี้ หรือในปี 2550 ก็ตาม

พรรคประชาธิปัตย์น่าที่จะพลิกวิกฤติครั้งนี้ให้เป็นโอกาสในการ “เกิดใหม่” ด้วยการตั้งพรรคใหม่ โดยหาฤกษ์วันตั้งพรรคให้มีโอกาสเป็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพเข้มแข็ง เหมือนอดีตที่ผ่านมา ที่ตั้งพรรคให้เป็นฝ่ายค้านที่เข้มแข็งมาแล้ว


ศิษย์ 2000 - 6 ตุลาคม พ.ศ.2549 17:42น. (IP: 202.57.169.158)

ความคิดเห็นที่ 3
ปัจจัยบนฟ้าที่เกี่ยวข้อง

สุริยุปราคาเต็มดวง ใกล้เส้นศูนย์สูตร 29 มีนาคม 2549

แม้การเกิดคราสครั้งนี้จะไม่สามารถมองเห็นได้ในประเทศไทย แต่ตำแหน่งศูนย์กลางการเกิดคราสเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตรช่วงระหว่าง แลตติจูด 5-10 องศาเหนือ ซึ่งจะมีผลต่อประเทศต่างๆที่อยู่ในแนวแลตติจูดนี้และประเทศที่แนวคราสพาดผ่าน ตั้งแต่ ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไทย ศรีลังกา โตโก เบนิน ไนจีเรีย ไนเจอร์ ชาด และลิเบีย อิทธิพลการเกิดคราสส่งผลทั้งที่เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิดในท้องถิ่นต่างๆก็ล้วนอยู่ภายในรัศมีแลตติจูด 5-10 องศาเหนือและใต้ นอกจากนั้นยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในประเทศต่างๆ ดังจะเห็นได้จาก ตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นต้นมา เริ่มจากประเทศเยอรมันเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง และประเทศต่างๆที่มีการเลือกตั้งก็ล้วนเปลี่ยนผู้นำเป็นพรรคฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลทั้งสิ้น เหตุการณ์ความไม่สงบ จนกระทั่งถึงมีเหตุการณ์ความรุนแรง และการพลัดพรากหรือการสูญเสียบุคคลที่มีบทบาทสำคัญของประเทศต่างๆ

ในส่วนของประเทศไทย เหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆจะยังมีต่อไปอีกจนถึงวันที่ 6 กรกฎาคม 2549 เมื่อดาวพฤหัสเริ่มโคจรในทิศทางปกติ มีผลทำให้สถานการณ์ต่างๆจะเริ่มเข้าสู่สูงสุดของการเปลี่ยนแปลง (พฤหัส = ผู้พิพากษา บุคคลที่มีปรัชญา บุคคลที่ประสบความสำเร็จ) คดีความต่างๆที่มีการฟ้องร้องกันจะมีผลปรากฏที่ชัดเจนหลังวันที่ 11 กรกฎาคม 2549 ซึ่งเป็นวันเพ็ญก่อนวันเกิดอมาวสีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กระบวนการทางศาลจะมีผลทำให้สถานการณ์ต่างๆเริ่มคลี่คลายลงได้หลังเดือนสิงหาคม 2549


ศิษย์ 2000 - 6 ตุลาคม พ.ศ.2549 17:45น. (IP: 202.57.169.158)

ความคิดเห็นที่ 4
บทสรุป

สิ่งที่ประชาชนทั่วไปต้องการข้อสรุปว่า สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะเป็นอย่างไร พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย จะเป็นอย่างไร สรุปได้ดังนี้

1. สถานการณ์ของประเทศไทยนั้นไม่น่าจะมีเหตุการณ์จลาจลเหมือนอดีตที่ผ่านมา เพราะเงื่อนไขในทางปรัชญานั้นไม่เหมือนกัน

2. พรรคการเมืองต่างๆอาจจะต้องยุติบทบาททางการเมืองไม่ว่าจะต้องยุบพรรคหรือไม่ก็ตาม

3. จากดวงชะตาของประเทศไทยประจำปี 2549 มีสิ่งบอกถึงความสมานฉันท์ การรอมชอมกัน เหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน ดวงชะตาปี 2550 มีสิ่งบอกถึง ความปรองดองและการอยู่ร่วมกันภายใต้กรอบกติกาที่คนส่วนใหญ่มีความสุขเฉกเช่นเดียวกับ ครอบครัวที่ ลูกๆทำหน้าที่ตามที่พ่อแม่ชี้กรอบทางเดินให้

4. นายกรัฐมนตรีคนที่ 24 จะเป็นผู้ที่สร้างความสมานฉันท์และความปรองดอง และมีวินัยในการนำพาประเทศไปตามกรอบจารีตประเพณีที่สังคมยอมรับ

5. พรรคประชาธิปัตย์ควรถือเป็นโอกาสดีที่จะ “เกิดใหม่” ด้วยการวางดวงพรรคใหม่ให้มีโอกาสเป็นรัฐบาล

6. พรรคไทยรักไทย หากไม่มีผู้สืบทอดความเป็นพรรคต่อจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ก็คงจะกลายเป็นอดีตพรรคการเมืองหนึ่งที่จะถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองไทย

7. พ.ต.ท.ทักษิณ คงจะต้องมีการเดินทางไกลซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ความสัมพันธ์กับวงรอบต่างๆที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเป็นข้อเสนอว่า อย่างไรเสีย พ.ต.ท.ทักษิณก็คงต้องเดินทางไกลเหมือนเมื่อปี 2519 อย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าจะไปไหน จะไปช้าหรือเร็ว จะไปอย่างไร จะไปเองหรือจะให้มีใครพาไป ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเจ้าชะตาว่าจะใช้เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ หรือใช้คำปฏิญาณของนักเรียนเตรียมทหารที่ใช้เป็นกรอบกำหนดแนวทางชีวิต

จึงขอปิดท้ายด้วยคำปฏิญาณ 3 ข้อของนักเรียนเตรียมทหารที่ พ.ต.ท.ทักษิณยึดถืออย่างเหนียวแน่น เพราะตรงกับจริตของเจ้าชะตาอย่างมาก คือ

1. ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้

2. ตายเสียดีกว่าอยู่อย่างผู้แพ้

3. ตายเสียดีกว่าละทิ้งหน้าที่

“ทางไปสู่เกียรติศักดิ์ จักประดับดอกไม้หอมหวนชวนจิตไซร้ ไป่มี”

------------------------------------------------------------------------------------------------------


ศิษย์ 2000 - 6 ตุลาคม พ.ศ.2549 17:46น. (IP: 202.57.169.158)

ความคิดเห็นที่ 5
ความหมายของวงรอบที่ใช้

วงรอบดาวเสาร์

คือจังหวะเวลาที่ดาวเสาร์โคจรครบรอบจักรราศี 1 รอบ เป็นระยะเวลา ประมาณ 30 ปี

วงรอบจันทรคติ

คือจำนวนปี (ทางสุริยคติ) กับจำนวนรอบการโคจรของจันทร์ตรงกันพอดี ซึ่งมีผู้กำหนดตัวเลขวงรอบไว้หลายท่าน แต่ที่นิยมกันได้แก่ วงรอบเมโทนิคหรือเมโทนเชอ กำหนดว่า จันทร์โคจรรอบโลก 235 รอบ จะเท่ากับ 19 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์

จันทรคติ คือ “การใช้จันทร์เป็นมูลฐาน” ตัวอย่างเช่น การคิดอายุทางจันทรคติได้แก่ การคิดอายุโดยใช้วันเดือนปีที่คิดเทียบมาจากอัตราการโคจรของจันทร์ ( 1 ปีทางจันทรคติ = 354 วัน 8 ชั่วโมง 48 นาที 30 วินาที)

วงรอบดาวเสาร์และวงรอบจันทรคติจะนับจากเริ่มต้นจากวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทั้งของบุคคล หรือเหตุการณ์ของประเทศ หรือเหตุการณ์ใดๆก็ได้

บรรณานุกรม

วัลยา “ ทักษิณ ชินวัตร ตาดูดาว เท้าติดดิน” สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพมหานคร 2542

สรกล อดุลยานนท์ “ทักษิณ ชินวัตร อัศวินคลื่นลูกที่สาม” สำนักพิมพ์มติชน กรุงเทพมหานคร 2536

อธิวัฒน์ ทรัพย์ไพฑูรย์ “ตระ***ลชินวัตร” บริษัทสำนักพิมพ์วรรณสาส์น จำกัด กรุงเทพมหานคร 2537

หมายเหตุ บทความนี้ได้บรรยายในงานวันไหว้ครูที่มูลนิธิฯ 16 กรกฏาคม 2549


ศิษย์ 2000 - 6 ตุลาคม พ.ศ.2549 17:47น. (IP: 202.57.169.158)