เว็บบอร์ด

กระทู้ ถามตอบโหราศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์

ปิดปรับปรุงชั่วคราว

วิธีเจริญจิตภาวนา

ผมได้รับบทความมาจากเพื่อน "วิธีเจริญจิตภาวนา" หลังจากได้อ่านแล้วผมรู้สึกประทับใจในเนื้อหาผู้เขียน/ผู้เรียบเรียงบทความเขียนและถ่ายทอดบทความได้ชัดเจน ตรง เข้าใจง่าย ได้สาระและประโยชน์มาก ผมเห็นว่า "วิธีเจริญจิตภาวนา" คงจะเป็นประโยชน์สำหรับพวกเราหมู่นักเรียนโหรหรือผู้ที่สนใจใฝ่ธรรมอยู่มาก จึงได้ตั้งกระทู้post บทความ "วิธีเจริญจิตภาวนา" ให้ทุกคนได้อ่าน ...

ศิษย์ fa 200

วิธีเจริญจิตภาวนา

จากหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม

บันทึกโดย พระโพธินันทะมุนี (สมศักดิ์ ปฺณฑิโต)

รวบรวมและเรียบเรียงโดย รศ. ดร.ปฐม นิคมานนท์

ผู้เขียนขอกราบอาราธนาคำสอนเรื่อง "วิธีเจริญจิตภาวนา" ของพระอริยเจ้า หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่บันทึกไว้ในหนังสือ อตุโล ไม่มีใดเทียม (หน้า๔๑๕) มาบันทึกไว้ ณ.ที่นี้ โดยครบถ้วนตามต้นฉบับเดิม [แต่มีการเพิ่มเติมขยายความคำอธิบายของผู้เขียนโดยใช้อักษรสีนํ้าเงิน] และ เน้นข้อความของท่านที่เห็นความสำคัญโดยสีม่วง นอกนั้นผู้เขียนได้คงไว้ตามต้นฉบับเดิมอย่างครบถ้วนบริบูรณ์

นักปฏิบัติที่มีความเข้าใจใน ปฏิจจสมุปบาท หรือ ขันธ์๕ โดยเฉพาะผู้ที่เห็น จิต(จิตสังขาร หรือสังขารขันธ์ เช่น ความคิด, โลภะ, โทสะ, โมหะ ฯ.)หรือเห็น เวทนา ในขณะใดๆบ้างแล้ว(จิตตานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนา) เช่น เห็นจิตหรือเวทนาขณะที่เกิดขึ้นบ้าง หรือขณะเสื่อม(แปรปรวน)บ้าง หรือขณะดับไปอย่างไม่มีแก่นแกนบ้าง ก็จะเข้าใจได้ง่าย และขอให้โยนิโสมนสิการในความเป็นสภาวะธรรม(ชาติ) หรือปรมัตถสัจจะของความคิดที่เมื่อกระทบกับจิตแล้ว ย่อมเกิดผลขึ้นเป็นธรรมดา ประดุจเดียวกับเมื่อสิ่งต่างๆกระทบกับกาย (กายผัสสะกับสิ่งต่างๆ) ก็จะยังประโยชน์แก่นักปฏิบัติอย่างสูง

วิธีเจริญจิตภาวนา ตามแนวการสอนของ หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ๑. เริ่มต้นอิริยาบถที่สบาย ยืน เดิน นั่ง นอน ได้ตามสะดวก [ไม่จำเป็นต้องเป็นรูปแบบสมาธิปฏิบัติ เช่น การปฏิบัติสมถะสมาธิ ทำในขณะจิตตื่นปกติในวิถีชีวิตประจำวันก็ได้ ในช่วงว่างๆ ใจไม่ซัดส่าย]

ทำความรู้ตัวเต็มที่ และ รู้อยู่กับที่ โดยไม่ต้องรู้อะไร คือ รู้ตัว อย่างเดียว [มีสติแค่รู้ โดยพยายามไม่คิด,ไม่คิดนึกปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น ใหม่ๆก็ยากหน่อยเป็นธรรมดา]

รักษาจิตเช่นนี้ไว้เรื่อยๆ ให้ "รู้อยู่เฉยๆ" ไม่ต้องไปจำแนกแยกแยะ อย่าบังคับ อย่าพยายาม อย่าปล่อยล่องลอยตามยถากรรม [คือ อย่าปล่อยให้เลื่อนไหลไปตามความคิดนึกปรุงแต่ง หรือการเลื่อนไหลไปเกิดการปรุงแต่งต่างๆตามกำลังอำนาจสมาธิที่ลึกเกินไป เช่น ภาพนิมิต หรือนามนิมิต-ความคิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ ที่ผุดขึ้นขณะอยู่ในสมาธิที่ลึกเกินไป]

เมื่อรักษาได้สักครู่ จิตจะคิดแส่ไปในอารมณ์ต่างๆ [แส่ไปตามความคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆ หรือการสอดแส่ไปใน อารมณ์ อันหมายถึงในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จากภายนอกต่างๆที่มากระทบก็ได้] โดยไม่มีทางรู้ทันก่อนเป็นธรรมดา[หมายถึงต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกต้องไม่ต้องกังวล โดยเฉพาะ]สำหรับผู้ฝึกใหม่ ต่อเมื่อจิตแล่นไป คิดไปในอารมณ์ [ความคิด,คิดนึกปรุงแต่ง ฯ.] นั้นๆ จนอิ่มแล้ว ก็จะรู้สึกตัวขึ้นมาเอง เมื่อรู้สึกตัวแล้วให้พิจารณาเปรียบเทียบภาวะของตนเอง ระหว่างที่มีความรู้อยู่กับที่(มีสติ) และระหว่างที่จิตคิดไปในอารมณ์ [จิตที่สอดแส่ไปคิด,คิดนึกปรุงแต่งต่างๆนาๆ หรือปรุงไปใน รูป เสียง ฯ.ที่กระทบ] ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร เพื่อเป็นอุบายสอนจิตให้จดจำ [คือสังเกตความรู้สึกที่เกิดขึ้นระหว่าง จิตมีความรู้ตัวอยู่กับที่คือมีสติ กับ จิตขณะปรุงแต่ง ให้เห็นความแตกต่าง อันจะยังให้เกิดปัญญาญาณอันสำคัญยิ่ง จากการได้เห็นได้สัมผัสด้วยตัวตนเอง-ปัจจัตตัง]

จากนั้น ค่อยๆ รักษาจิตให้อยู่ในสภาวะรู้อยู่กับที่ [มีสติ] ต่อไป ครั้นพลั้งเผลอรักษาไม่ดีพอ จิตก็จะแล่นไปเสวยอารมณ์ข้างนอกอีก [เป็นธรรมดาอีกเช่นเดิม-โดยธรรมชาติของจิต จึงไม่ต้องกังวลเมื่อเกิดขึ้น แต่เมื่อจิตปรุงแต่ง]จนอิ่มแล้ว ก็จะกลับรู้ตัว [ขณะที่จิตอิ่มตัว แล้วกลับมารู้ตัวนั้น ต้องทำอุเบกขา คือไม่เอนเอียงไปแทรกแซงด้วยถ้อยคิดใดๆ] รู้ตัวแล้วก็พิจารณา และรักษาจิตต่อไป

ด้วยอุบายอย่างนี้ ไม่นานนัก ก็จะสามารถควบคุมจิตได้ และบรรลุสมาธิ [เป็นสัมมาสมาธิ] ในที่สุด และจะเป็นผู้ฉลาดใน "พฤติแห่งจิต" [กริยา อาการ และการกระทำของจิต] โดยไม่ต้องไปปรึกษาหารือใคร [อันจะสั่งสมจนเกิดเป็น สังขาร อันมิได้เกิดแต่อวิชชา แต่เป็น สังขารที่จะนำพาให้พ้นทุกข์อย่างถาวรต่อไป]

ข้อห้าม ในเวลาจิตฟุ้งเต็มที่ อย่าทำ เพราะไม่มีประโยชน์ และยังทำให้บั่นทอนพลังความเพียร ไม่มีกำลังใจในการเจริญจิตครั้งต่อๆ ไป [ผู้ที่เห็นจิต - จิตสังขาร - สังขารขันธ์อันคือความคิดความนึก และเวทนา ได้บ้างและค่อนข้างสมํ่าเสมอจากความเข้าใจปฏิจจสมุปบาทหรือขันธ์๕ ให้ข้ามไปที่ข้อ ๒ เลย]

ในกรณีที่ไม่สามารถทำเช่นนี้ [เนื่องจากไม่เคยปฏิบัติในแนววิปัสสนาให้เห็นจิต หรือความคิดความนึก หรือเพราะยังไม่มีสัมมาสมาธิอย่างถูกต้อง] ให้ลองนึกคำว่า "พุทโธ" หรือคำอะไรก็ได้ที่ไม่เป็นเหตุเย้ายวน หรือเป็นเหตุขัดเคืองใจ นึกไปเรื่อยๆ แล้วสังเกตดูว่า คำที่นึกนั้น ชัดที่สุดที่ตรงไหน ที่ตรงนั้นแหละคือฐานแห่งจิต

พึงสังเกตว่า ฐานนี้ไม่อยู่คงที่ตลอดกาล บางวันอยู่ที่หนึ่ง บางวันอยู่อีกที่หนึ่ง [เป็นอุบายวิธีเพื่อหาที่ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง เป็นสัมมาสมาธิ]

ฐานแห่งจิตที่คำนึงพุทโธปรากฏชัดที่สุดนี้ ย่อมไม่อยู่ภายนอกกายแน่นอน ต้องอยู่ภายในกายแน่ แต่เมื่อพิจารณาดูให้ดีแล้ว จะเห็นว่าฐานนี้จะว่าอยู่ที่ส่วนไหนของร่างกายก็ไม่ถูก ดังนั้น จะว่าอยู่ภายนอกก็ไม่ใช่ จะว่าอยู่ภายในก็ไม่เชิง เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าได้กำหนดถูกฐานแห่งจิตแล้ว

เมื่อกำหนดถูก และพุทโธปรากฏในมโนนึก(ความคิดนึก)ชัดเจนดี ก็ให้กำหนดนึกไปเรื่อย อย่าให้ขาดสายได้

ถ้าขาดสายเมื่อใด จิตก็จะแล่นสู่อารมณ์ทันที

เมื่อเสวยอารมณ์อิ่มแล้ว จึงจะรู้สึกตัวเองก็ค่อยๆ นึกพุทโธต่อไป ด้วยอุบายวิธีในทำนองเดียวกับที่กล่าวไว้เบื้องต้น ในที่สุดก็จะค่อยๆ ควบคุมจิตให้อยู่ในอำนาจได้เอง

ข้อควรจำ ในการกำหนดจิตนั้น ต้องมีเจตจำนงแน่วแน่ ในอันที่จะเจริญจิตให้อยู่ในสภาวะที่ต้องการ เจตจำนงนี้ คือ ตัว "ศีล" [ข้อกำหนด ข้อบังคับ ตั้งเจตนาเพื่อให้มีความตั้งใจอันแน่วแน่]

การบริกรรม "พุทโธ" เปล่าๆ โดยไร้เจตจำนงไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย กลับเป็นเครื่องบั่นทอนความเพียร ทำลายกำลังใจในการเจริญจิตในคราวต่อๆ ไป

แต่ถ้าเจตจำนงมั่นคง การเจริญจิตจะปรากฏผลทุกครั้งไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน

ดังนั้น ในการนึก พุทโธ การเพ่งเล็งสอดส่อง ถึงความชัดเจน และความไม่ขาดสายของพุทโธ จะต้องเป็นไปด้วยความไม่ลดละ

เจตจำนงที่มีอยู่อย่างไม่ลดละนี้ หลวงปู่เคย เปรียบไว้ว่า มีลักษณาการประหนึ่งบุรุษหนึ่งจดจ้องสายตาอยู่ที่คมดาบที่ข้าศึกเงื้อขึ้นสุดแขนพร้อมที่จะฟันลงมา บุรุษผู้นั้นจดจ้องคอยทีอยู่ว่า ถ้าคมดาบนั้นฟาดฟันลงมา ตนจะหลบหนีประการใดจึงจะพ้นอันตราย

เจตจำนงต้องแน่วแน่เห็นปานนี้ จึงจะยังสมาธิให้บังเกิดได้ ไม่เช่นนั้นอย่าทำให้เสียเวลา และบั่นทอนความศรัทธาตนเองเลย

เมื่อจิตค่อยๆ หยั่งลงสู่ความสงบทีละน้อย ๆ อาการที่จิตแล่นไปสู่อารมณ์ [การคิดนึกปรุงแต่ง] ภายนอก ก็ค่อย ๆ ลดความรุนแรงลง ถึงไปก็ไปประเดี๋ยวประด๋าว ก็รู้สึกตัวได้เร็ว ถึงตอนนี้คำบริกรรมพุทโธ ก็จะขาดไปเอง เพราะคำบริกรรมนั้นเป็นอารมณ์หยาบ เมื่อจิตล่วงพ้นอารมณ์หยาบ และคำบริกรรมขาดไปแล้ว ไม่ต้องย้อนถอยมาบริกรรมอีก เพียงรักษาจิตไว้ในฐานที่กำหนดเดิมไปเรื่อยๆ และสังเกตดูความรู้สึกและ "พฤติแห่งจิต" ที่ฐานนั้น ๆ

บริกรรมเพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง [สัมมาสมาธิ] สังเกตดูว่า ใครเป็นผู้บริกรรมพุทโธ

๒. ดูจิตเมื่ออารมณ์สงบแล้ว ให้สติจดจ่ออยู่ที่ฐานเดิมเช่นนั้น เมื่อมีอารมณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้ละอารมณ์นั้นทิ้งไป มาดูที่จิตต่อไปอีก ไม่ต้องกังวลใจ พยายามประคับประคองรักษาให้จิตอยู่ในฐานที่ตั้งเสมอๆ สติคอยกำหนดควบคุมอยู่อย่างเงียบๆ (รู้อยู่) ไม่ต้องวิจารณ์กิริยาจิตใดๆ ที่เกิดขึ้น เพียงกำหนดรู้แล้วละไปเท่านั้น เป็นไปเช่นนี้เรื่อยๆ ก็จะค่อยๆ เข้าใจกิริยาหรือพฤติแห่งจิตได้เอง (จิตปรุงกิเลส หรือ กิเลสปรุงจิต) [จิตปรุงกิเลส คืออาการที่จิตส่งออกไปคิดนึกปรุงแต่งจนเกิดกิเลสขึ้น , ส่วนกิเลสปรุงจิต เป็นอาการของการที่สฬายตนะ(อายตนะภายใน - ตา หู จมูก ฯ.)กระทบผัสสะกับอายตนะภายนอก(รูป เสียง กลิ่น ฯ.)ทั้งหลาย แล้วเป็นปัจจัยเกิดกิเลสขึ้น หรือถ้าพิจารณาจากปฏิจจสมุปบาท จิตปรุงกิเลสก็คือสังขารอันเกิดแต่อวิชชา และกิเลสปรุงจิตก็คืออาการที่เกิดขึ้นจากสฬายตนะกระทบผัสสะกับอายตนะภายนอกนั่นเอง ดูรูปประกอบในการพิจารณา ]

ทำความเข้าใจในอารมณ์ความนึกคิด สังเกตอารมณ์ [อารมณ์ในที่นี้หมายถึง จิต-จิตสังขาร-ความคิด คือ สังขารขันธ์ในขันธ์๕นั่นเอง]ทั้งสาม คือ ราคะ โทสะ โมหะ

๓. อย่าส่งจิตออกนอก กำหนดรู้อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น อย่าให้ซัดส่ายไปในอารมณ์ภายนอก [ความคิดนึกที่ส่งออกไปปรุงแต่งอารมณ์อันมี รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และธรรมารมณ์ จากภายนอก] เมื่อจิตเผลอคิดไปก็ให้ตั้งสติระลึกถึงฐานกำหนดเดิม รักษาสัมปชัญญะให้สมบูรณ์อยู่เสมอ (รูปนิมิตให้ยกไว้ ส่วนนามนิมิตทั้งหลาย อย่าได้ใส่ใจกับมัน) [เพราะในบางครั้งอาจเกิดรูปนิมิตหรือภาพผุดขึ้นในใจบ้างเป็นธรรมดา แต่ถ้าเป็นนามนิมิตอันคือความคิดความนึกที่เกิดขึ้นที่ผุดขึ้นก็อย่าใส่ใจ]

ระวัง จิตไม่ให้คิดเรื่องภายนอก [ออกไปความคิดนึกปรุงแต่ง] สังเกตการหวั่นไหวของจิตตามอารมณ์[ความคิด รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส]ที่รับมาทางอายตนะ ๖[ ใจ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ]

๔. จงทำญาณ[ความเข้าใจ]ให้เห็นจิต เหมือนดั่งตาเห็นรูป เมื่อเราสังเกตกิริยาจิตไปเรื่อย ๆ จนเข้าใจถึงเหตุปัจจัยของอารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ได้แล้ว จิตก็จะค่อย ๆ รู้เท่าทันการเกิดของอารมณ์ [ความคิด,ความนึก]ต่างๆ อารมณ์ความนึกคิดต่างๆ ก็จะค่อยๆ ดับไปเรื่อยๆ จนจิตว่างจากอารมณ์[ว่างจากความคิดนึกปรุงแต่งหรือรูป เสียง ฯ.] แล้วจิตก็จะเป็นอิสระ อยู่ต่างหากจากเวทนาของรูปกาย อยู่ที่ฐานกำหนดเดิมนั่นเอง การเห็นนี้เป็นการเห็นด้วยปัญญาจักษุ

คิดเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดจึงรู้ แต่ต้องอาศัยการคิด

[อันหมายถึง คิดนึกปรุงแต่งเท่าไรก็ไม่รู้จักนิโรธ-การดับทุกข์ เมื่อหยุดคิดปรุงแต่งอันยังให้ไม่เกิดเวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาและทุกข์นั่นแหละจึงจักรู้และพบนิโรธ แต่ก็ต้องอาศัยการคิดพิจารณาธรรมโดยการโยนิโสมนสิการเสียก่อนจึงจักเกิดสัมมาญาณให้เกิดความเข้าใจ]

๕. แยกรูปถอด ด้วยวิชชา มรรคจิต [มรรคจิต-การปฏิบัติให้พ้นทุกข์ทางจิต คือการปฏิบัติโดยการเห็นจิต-ความคิดนึก ความคิดนึกปรุงแต่ง หรือเหล่าจิตสังขารนั่นเอง อันหมายรวมถึงเวทนาอันเป็นส่วนหนึ่งของจิต อันเป็นไปตามหลัก จิตตานุปัสนา เวทนานุปัสสนา ใน สติปัฏฐาน๔ นั่นเอง] เมื่อสามารถเข้าใจได้ว่า จิต กับ กาย [นาม กับ รูป] อยู่คนละส่วนได้แล้ว ให้ดูที่จิตต่อไปว่า ยังมีอะไรหลงเหลืออยู่ที่ฐานที่กำหนด (ในจิต) อีกหรือไม่ พยายามให้สติสังเกตดูที่ จิต ทำความสงบอยู่ใน จิต ไปเรื่อยๆ จนสามารถเข้าใจ พฤติของจิต ได้อย่างละเอียดลออตามขั้นตอน เข้าใจในความเป็นเหตุเป็นผลกันว่า เกิดจากความคิดมันออกไปจากจิตนี่เอง ไปหาปรุงหาแต่ง หาก่อ หาเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด [เป็นปรมัตถสัจจะ หรือ สภาวะธรรม คือ เมื่อสอดส่ายออกไปปรุงแต่งก็ย่อมเกิดการกระทบผัสสะ อันย่อมยังผลให้เกิดขึ้นเป็นธรรมดา ตามเหตุปัจจัยที่กระทบนั้น] มันเป็นมายาหลอกลวงให้คนหลง แล้วจิตก็จะเพิกถอนสิ่งที่มีอยู่ในจิตไปเรื่อยๆ จนหมด หมายถึงเจริญจิตจนสามารถเพิกรูปปรมาณูวิญญาณที่เล็กที่สุดภายในจิตได้ [จะค่อยๆเพิกถอนอาสวะกิเลส อันละเอียดอ่อนนอนเนื่องอยู่ในจิต]

คำว่า แยกรูปถอด นั้น หมายความถึง แยกรูปวิญญาณ นั่นเอง [ในที่นี้หมายถึงแยกให้เห็น อันมีความหมายถึงการแยกที่ใช้ความเข้าใจทางปัญญา เกี่ยวกับการทำงานของกายและจิต และต้องเข้าใจความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลต่อกัน อันเมื่อเห็นแล้วย่อมเป็นกำลังของปัญญาหรือจิตในการปฏิบัติให้บรรลุจุดหมาย หลายท่านคงเคยเห็นความคิดปรุงแต่งที่ก่อให้เกิดทุกข์อย่างดีแต่ไม่สามารถ ;หยุดมันได้ก็เพราะขาดกำลังของปัญญาหรือจิตนี่เอง ถ้าลงมือปฏิบัติก่อน ก็ต้องพิจารณาไตร่ตรองด้วยปัญญาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งสองนี้หมายถึงการพิจารณาแยกให้เห็นโดยใช้หลัก เพราะเหตุนี้มี ผลนี้จึงเกิดขึ้น ส่วนการปฏิบัติก่_ 629;นนั้นเป็นไปตามหลักที่ว่าเพราะผลนี้มี แล้วจึงพิจารณาไตร่ตรองให้เห็นเหตุ มิได้หมายถึงการปฏิบัติที่พยายามจะแยกกายและจิตจริงๆทางสมาธิ เช่นแยกจิตออกเป็นดวงต่างออกจากกายโดยนิมิต หรือแบบต่างๆนาๆอันเป็นความเข้าใจผิด]

๖. เหตุต้องละ ผลต้องละ เมื่อเจริญจิตจนปราศจากความคิดปรุงแต่งได้แล้ว (ว่าง) [หมายถึงว่างจากความคิดนึกปรุงแต่ง มิได้หมายถึงการไปยึดหมายความว่าง อันอาจก่อเป็นอรูปฌานหรือรูปละเอียดได้] ก็ไม่ต้องอิงอาศัยกับกฎเกณฑ์แห่งความเป็นเหตุเป็นผลใด ๆ ทั้งสิ้น จิตก็อยู่เหนือภาวะแห่งคลองความคิดนึกต่างๆ อยู่เป็นอิสระ ปราศจากสิ่งใดๆ ครอบงำอำพรางทั้งสิ้น [เพราะเมื่อไม่มีสังขารปรุงแต่งแล้ว กริยาอาการต่างๆของจิตย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ - ศึกษาได้จากเรื่อง ขันธ์๕ หรือ ปฏิจจสมุปบาท]

เรียกว่า "สมุจเฉทธรรมทั้งปวง" [การตัดขาดทั้งปวง]


ศิษย์FA 200 - 1 มิถุนายน พ.ศ.2552 00:00น. (IP: 0.0.0.0)

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
ตัวหนังสือเล็กมากจนอ่านไม่ออกเลย ช่วยขยายความหน่อยก็ดีนะคะ จะได้เข้าใจ ขอบคุรค่ะ


คำ - 22 กรกฎาคม พ.ศ.2548 20:14น. (IP: 0.0.0.0)