ความเป็นกลางกับศาสตร์โบราณของจีน

ขงจื้อ ::กล่าวว่า ความว่าง เป็นสภาวะ สงบนิ่ง ทางสายกลางเป็นความว่างอันยิ่งใหญ่ที่เหนือความว่างใด ๆ คำสอนขงจื้อกล่าวถึงความเป็นกลางตามแนวทางของอนุตตรญาณ ซึ่งเรียกว่า ธรรมะ หมายถึง การปฎิบัติให้เที่ยงตรงตามหลักสัจธรรมของฟ้าดิน คือการปฏิบัติโดยไม่เอนเอียงไปตามอายตนะ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ก่อเวรก่อกรรมกับตนเองและผู้อื่น การกระทำเช่นนี้เรียกว่า หนทางแห่งธรรมะ เป็นญาณของธรรม เรียกว่า ธรรมญาณ ฉะนั้นหลักแห่งการปฏิบัติธรรมจึงไม่ได้ขึ้นกับรูปลักษณ์ใด ๆ แต่ขึ้นอยู่กับอาการของ ธรรมญาณ เท่านั้น กล่าวโดยสรุป ขงจื้อให้ความหมายของธรรมญาณ คือธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ที่มีคุณสมบัติของความดีงามพร้อมมีอยู่ 5 แบบ ความดีทั้ง 5 แบบนี้ต้องมีอยู่เท่ากันและต้องแสดงออกมาพร้อม ๆ กัน จึงเรียกว่า ทางสายกลาง ประกอบด้วย เมตตาธรรม มโนธรรม จริยธรรม ปัญญาธรรมและสัตยธรรม

"::ธรรมญาณ":: เป็นญาณที่มาจากธรรมชาติดั้งเดิมแท้จริง การค้นพบภาวะ "::ธรรมญาณ":: ของตนเองจึงเป็นเรื่องที่ลึกล้ำ

ความไม่สงบสุขของโลกล้วนมีสาเหตุมาจากความไม่รู้จักพอของมนุษย์ ไม่มีความพอดี จึงทำให้เกิดความวุ่นวาย หากมนุษย์รู้จักความพอดี รู้จักพอ จะทำให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ทำให้เกิดเส้นทางสายกลางตามหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบหนทางสายกลาง โดยแบ่งเป็น 8 องค์ หรือมรรคมีองค์ 8 ประกอบด้วย ความเห็นชอบ ความดำริชอบ วาจาชอบ การงานชอบ เลี้ยงชีพชอบ ความเพียรชอบ ตั้งสติชอบ และมีสมาธิชอบ ในทางสายกลางจึงต้องเกิดองค์ 8 พร้อมกัน จะเกิดขึ้นเพราะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่เป็นทางสายกลาง

ต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ขงจื้อสอนเกี่ยวกับสภาวะที่ทำให้เกิดความเป็นกลางโดยนำเอาธรรมชาติ ที่เรียกว่าธรรมญาณ กับหลักของฟ้าดินโดยเชื่อมโยงกับสภาวะของความเป็นมนุษย์เป็นหลักในการดำเนินชีวิตซึ่งกล่าวมาข้างต้นกับคุณสมบัติ 5 อย่างดังต่อไปนี้

1. เมตตาธรรม

เมตตา คือความรัก เมตตาเป็นเครื่องค้ำจุนโลก เมตตาเป็นสิ่งที่ผู้ให้ให้โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และไม่หวังผลตอบแทนใดๆ เมตตาธรรมเปรียบกับคำสอนของพระพุทธองค์หมายถึง ศีลข้อที่ 1 คือ ละเว้นการฆ่าสัตว์ ละ เว้นจากการเบียดเบียนสัตว์ เมื่อมีเมตตาธรรมในจิตใจของคนก็ทำให้โลกนี้มีความสันติสุข ทั้งแก่ตนเองและสิ่งมีชีวิตในโลก เหลาจื้อ ศาสดาลัทธิของจีนในอดีตเปรียบเทียบเมตตาธรรมตามธาตุของธรรมชาติ คือ ธาตุไม้ ธาตุไม้หมายถึงเมตตา หากผู้ใดประพฤติปฏิบัติตนผิดต่อหลักเมตตาธรรมจะส่งผลต่อผู้นั้นคือถูกความโกรธพยาบาทครอบงำ และมีผลต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายคือ ตับ ตับทำหน้าที่กรองของเสียจากอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย อย่างเช่นหากรับประทานอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์มากเกินไป นอกจากเป็นการเบียดเบียนสัตว์แล้วยังทำให้ตับทำหน้าที่เกินกำลัง อาจทำให้ตับเสียได้ เหมือนกัน ถ้าผู้ใดมีโทสะความโกรธเป็นประจำทำให้ขาดเมตตาทำให้มีผลต่อตับด้วย ถ้าเทียบรสชาติของอาหารเพื่อรักษาตับให้ปกติไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเปรี้ยวจัดมากเกินไป

2. มโนธรรม

มโนธรรม คือสามัญสำนึกการรู้ตัว การมีจิตสำนึกที่ไม่เอาเปรียบผู้อื่น ไม่โลภ ไม่หยิบฉวยของคนอื่นมาเป็นของตนเองโดยที่เขาไม่ได้อนุญาต เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ในศีลข้อที่ 2 อทินนาทานา เวระมณีสิขาปะทังสะมาทิยามิ เหลาจื้อเปรียบความหมายมโนธรรมคือธาตุทอง หมายถึงความกล้าหาญ เป็นผู้เสียสละเพื่อคนอื่นได้ เปรียบกับอวัยวะของร่างกายคือ ปอด สำนึกมโนธรรมคือไม่เห็นแก่ตัว มีความกตัญญู ไม่เนรคุณ หากขาดมโนธรรมทำให้ขาดพลัง ทำให้ฟุ้งซ่านคิดมาก เป็นตัวทำลายความเชื่อมั่น และมีผลต่ออวัยวะคือปอด

3. จริยธรรม

จริยธรรม หมายถึง ความประพฤติการปฏิบัติธรรมให้สอดคล้องกับธรรมชาติ สังคมจะมีความสงบสุขได้ด้วยความประพฤติที่ดี ตามคำสอนของพระพุทธองค์คือศีลข้อที่ 3 ไม่ก้าวล่วงด้วยราคะ เหลาจื้อเปรียบให้เหมือนธาตุไฟ ขาดจริยธรรมเป็นการเพิ่มไฟราคะ เป็นข้อที่ทำให้ขาดความพอดีมากที่สุด และควบคุมยากมากเพราะต้องควบคุมอายตนะทั้งหก คือรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ ผู้ใดที่มีจริยธรรมผู้นั้นเป็นผู้ที่มีมารยาทดีงาม มีความอ่อนน้อมถ่อมตน เปรียบจริยธรรมเป็นหัวใจเพราะไฟมักเผาผลาญทุกอย่างทำให้เจ็บปวดหัวใจ

4. ปัญญาธรรม

ปัญญาธรรม หมายถึง ความรู้ดีรู้ชั่ว เป็นตัวบอกถึงความเฉลี่ยวฉลาด หรือ ความโง่เขลา เปรียบกับศีลข้อที่ 5 ละเว้นการดื่มสุราน้ำเมา สติปัญญาจะหมดไปพรัอมกับการขาดสติหากดื่มน้ำเมาเป็นประจำ หากผู้ใดปราศจากปัญญาจะทำให้เป็นคนตกใจง่าย ขาดสติสัมปชัญญะ เหลาจื้อเปรียบเป็นธาตุน้ำ หากน้ำในร่างกายเสียทำให้อวัยวะร่างกายที่สำคัญคือไต เสียได้ เนื่องจากไตทำหน้าที่ขับของเสียที่มีอยู่ในเลือด เมื่อขาดสติทำให้ขาดปัญญา ขาดปัญญาทำให้ไม่สามารถแยกแยะดีหรือเลวได้

5. สัตยธรรม

สัตยธรรม หมายถึง ความซื่อสัตย์ซื่อตรง ความหนักแน่น เปรียบเสมือนธาตุดิน สัจจะในคำมั่นสัญญา การมีสัจจะวาจาย่อมเป็นที่สักการะของคนทั่วไป เปรียบดั่งศีลธรรมข้อที่ 4 มุสาวาทาเวระมณี ไม่พูดเท็จ ความซื่อสัตย์มีผลต่ออวัยวะที่สำคัญของร่ายกาย คือ ม้าม ม้ามเป็นตัวสร้างเม็ดเลือด ความซื่อตรงต่อตนเองและผู้อื่นย่อมได้รับคำสรรเสริญจากฟ้าดิน

การปฏิบัติธรรมทั้ง 5 ข้อพร้อมกันทำให้เกิดความพอดี ความสมดุล และเป็นทางสายกลาง บุคคลที่มีธรรมคือคนที่เชื่อมฟ้าดินตามคำสอนของปราชญ์เหลาจื้อและขงจื้อ อยู่อย่างธรรมอยู่อย่างปกติสุข เหมือนการปฏิบัติศีล 5 ได้ก็คือเป็นธรรมปกติของมนุษย์ นั่นเอง แต่ในชีวิตจริงย่อมเป็นไปได้ยากมากที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งจะสามารถเดินทางสายกลางด้วย 5 แบบที่กล่าวข้างต้น ส่วนมากมีธรรมที่เน้นเฉพาะ เช่นเป็นคนมีเมตตาธรรมมากแต่มีปัญญาธรรมน้อย เป็นต้น หากคิดว่าความเป็นกลางคืออยู่อย่างเฉย ๆ ก็แล้วแต่ความคิดของคน ทุกคนมีธรรมะในตัวเองจะมากน้อยต่างกัน อยู่ที่การปฏิบัติและการวางตัว

ในวิชาโหราศาสตร์จีน ผู้ที่เรียนจะต้องเรียนรู้ข้อธรรมที่กล่าวมาข้างต้น ในตำราเรียกว่า อิกเต็ก ซึ่งประกอบด้วยธรรม 5 ข้อ เปรียบดั่งฟ้า แล้วนำมาประพฤติปฏิบัติวางตัวให้เหมาะสมหมายถึง ยี่เห็ง คือคน แล้วจึงเรียนรู้เรื่องการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับธรรมชาติการใช้ชีวิตบนดิน คือ ซาฮวงจุ้ย นี่คือหลักปฏิบัติที่ปราชญ์ชาวจีนในอดีตเรียนรู้และปฏิบัติกันมา

นอกจากนี้ยังมีนักปรัชญาจีนในยุคหลังเหลาจื้อและขงจื้ออีกหลาย ๆ ท่านที่ออกมาแสดงความคิดทางปรัญชาในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น ปรัชญาของม่อจื้อ ที่ให้ความสำคัญกับการเจริญเมตตา บำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม และให้มนุษย์เคารพเชื้อถือเทพเจ้า ส่วนเกณฑ์การแยกแยะความเป็นกลางอยู่ที่ตัวคุณธรรม คุณธรรมของปรัชญาม่อจื้อคือการบูชาเทพเจ้า ให้ความเคารพต่อผู้อาวุโส ทำประโยชน์เพื่อคนส่วนมาก และยึดมติของคนส่วนใหญ่เป็นหลัก ดูคล้าย ๆ กับระบอบประชาธิปไตยในบ้านเรา แต่นี่เน้นที่การปฏิบัติมากกว่าทฤษฏี แม้จะเชื่อในเรื่องของโชคชะตาบ้างแต่ก็ให้รู้จักดำรงชีวิตด้วยความเรียบง่ายและรู้จักพอ

แม้แต่นักปรัชญาจีนที่ชื่อเม้งจื้อได้ให้แนวคิดและแนวปฏิบัติในแบบของธรรมภิบาล คนเรามีคุณธรรมอยู่ 4 อย่างด้วยกันคือ ความมีเมตตา รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน มีสามัญสำนึกรู้จักผิดชอบชั่วดี และให้มีหิริโอตัปปะ คือละอายชั่วไม่ทำบาป ส่วนแนวความคิดด้านการปกครองพิจารณาจากธรรมชาติเป็นหลักกล่าวคือ น้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ หากน้ำไหลจากที่ต่ำขึ้นที่สูงย่อมผิดธรรมชาติ ที่สูงในที่นี้คือผู้นำ ส่วนที่ต่ำคือประชาชน เม้งจื้อให้ความสำคัญกับประชาชนมากกว่าผู้นำ หากให้ความสำคัญกับผู้นำมากเกินไป ประชาชนก็ไม่มีความหมาย มันจะผิดธรรมชาติ เพราะประชาชนถือเป็นรากฐานของการปกครอง ผู้นำต้องรับรู้ความทุกข์สุขของประชาชนแล้วมีหน้าที่แก้ปัญหาให้ โดยไม่ใช้อำนาจมาข่มขู่ประชาชน

อีกแนวปรัชญาหนึ่งคือปรัชญาของซุ่นจื้อ ซุ่นจื้อสนับสนุนในแบบสมบูรณาญาสิทธราชย์ คือกษัตริย์ต้องมีคุณธรรม และมีสิทธิเหนือกว่าคนทั้งปวง เพราะกษัตริย์คือตัวแทนของประชาชน

ความเป็นกลางอยู่ที่ผู้ปกครองต้องมีคุณธรรม ปฏิบัติตามจารีตประเพณี และระเบียบต่าง ๆ ของสังคม ซุ่นจื้อกล่าวว่าผู้นำเปรียบเหมือนน้ำที่ไหลลงสู่ประชาชน ถ้าแหล่งแห่งต้นน้ำสะอาด น้ำที่ไหลสู่ประชาชนก็สะอาด หากผู้นำเหมือนจานกลม น้ำในจานก็จะกลม แต่หากจานเป็นรูปสี่เหลี่ยม น้ำในจานก็จะเป็นสี่เหลี่ยมด้วย ก็ลองเลือกดูเอาเองก็แล้วกัน

สรุปคือ แต่ละสำนักปรัชญาก็มีแนวคิดของตนเอง ซึ่งทั้งหมดเน้นที่หลักธรรมเป็นหลัก เพื่อประโยชน์ของคนส่วนรวม ไม่ใช่ของใครคนหนึ่งหรือกลุ่มบางกลุ่มเป็นหลัก

และนี่ก็คือความรู้เก่า ๆ มันเป็นความรู้ที่มีมานานแล้วและดีด้วย เป็นภูมิปัญญาทางตะวันออกที่ หากเราได้ศึกษาแล้วมันมีความหลากหลายมากมาย อาจจะมากกว่าภูมิปัญญาตะวันตกด้วยซ้ำไป ในขณะที่คนบางคนชอบนำเอาความรู้ที่เรียนมาทางโน้นมาใช้โดยไม่ได้ดูพื้นฐานและความลึกซื้งในหลักปรัชญาทางตะวันออกเลยก็มี



#บทความทั่วไป #บทความโหราศาสตร์ #โหราศาสตร์ #ดาราศาสตร์