ถ้าจะเรียนโหรา ให้ฆ่าอ.ทั้ง ๔

พุทธศักราช ๒๒๓๓ จุลศักราช ๑๐๕๒ ปี กับ ๒ เดือน ในวันอังคารเดือน ๘ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะเมีย โทศกนักษัตร พระราชสมภารเจ้าสมเด็จพระเพทราชา ทรงนิมนต์สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ให้เฉลยปัญหาปริศนาธรรม ๘ ประการดังนี้

ทางใหญ่อย่าเที่ยวจร, ลูกอ่อนอย่าอุ้มรัด, หลวงเจ้าวัดอย่าให้อาหาร, ไม้โกงอย่าทำกงวาน ,ช้างสารอย่าผูกกลางเมือง,ถ้าจะให้เป็นลูกให้เอาไฟสุมต้น, ถ้าจะให้ล่มบรรทุกแต่เบา , ถ้าจะเรียนโหรา ให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย

สมเด็จพระเพทราชาทรงมีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ความว่า

":อนึ่งข้าพเจ้าทุกวันนี้แสวงหาแต่ปริศนาฉะนี้ ด้วยข้าพเจ้าฉิบหายปัญญาขลาดนัก จะทำประโยชน์ในชั่วนี้ข้าพเจ้ากลัวภัย ๔ ประการ คือ ทุคติภัย กิเลสภัย วัฏภัย อุปัทวภัย แลข้าพเจ้าแสวงหาแต่ประโยชน์ซึ่งจะไปข้างหน้า ทุกวันนี้เสบียงข้าพเจ้าบรรทุกสำเภาพอเลี้ยงอาตมา ไปกว่าจะถึงฝั่งฟากโพ้น ด้วยยากแต่ต้นหน แล นายเข็ม ด้วยต้นหนข้าพเจ้านี้ชั่วนักแลสมเด็จเจ้าสิเป็นอาจารย์แห่งข้าพเจ้า แลข้าพเจ้าจะขอความรู้ที่จะปรึกษาต้นหน จะช่วยข้าพเจ้าแล่นสำเภาไปให้ถึงฝั่งฟากโพ้นอย่าให้มีอันตรายกลางทางนั้นได้ กราบไหว้พระอาจารย์บอกมาเถิด"::

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ถวายพระพรว่า

":ด้วยอาตมาภาพได้รับพระราชกระแสรับสั่งว่า ทุกวันนี้เสบียงข้าพเจ้าบรรทุกสำเภาพอเลี้ยงอาตมาไปกว่าจะถึงฝั่งฟากโพ้นแล้ว ด้วยยากแต่ต้นหนแลนายเข็ม เหตุดังนี้อาตมาภาพจะขอพระราชทานพิจารณาอรรถแห่งปริศนานี้ ตามพุทธฎีกาสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสเทศนานั้นถวาย จึงจะเป็นต้นหน แลนายเข็ม ผู้มั่น สันทัด ฉลาด อาจสามารถ เพื่อจะนำสำเภาเภตราคือพระบวรอาตมาของพระองค์ผู้ประเสริฐ ให้เสด็จพระราชดำเนินข้ามสมุทรสาครอรรณนพสงสาร คือ จตุรโอฆะ ทั้ง ๔ ประการอันมีนามบัญญัติ คือ กาโมโฆ ภโวโฆ ทิฏโฐโฆ อวิชโชโฆ อกุศลธรรมทั้งหลาย ๔ ประการนี้ ย่อมท่วมทับสัตว์ให้จมอยู่ในสงสารสาครอันลึก แลกว้างขวางยิ่งนักหนา แลมิอาจข้ามด้วยสำเภาเภตรา นาวายานอันเที่ยวทางชลธี แลมีต้นหน แลนายเข็มอันเป็นปกตินั้นได้ แลพระอริยเจ้าทั้งหลายย่อมข้ามสงสารสาครสมุทรนั้น ด้วยพระธรรมนาวาอันกล่าวคือ พระปัญญาอันตรัสรู้พระจตุราริยสัจธรรม ๔ ประการ อันเป็นนาวายานอันล้ำเลิศประเสริฐ ยิ่งกว่ายานนาวาทั้งปวงอันมีในโลกนี้ อันว่าพระธรรมนาวาคือพระปัญญาอันตรัสรู้พระจตุราริยสัจนี้ ก็มีแต่ในกาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าบังเกิดในโลกนี้ จึงมีพระธรรมนาวา เหตุดังนี้

อาตมาภาพขอถวายวิสัชนาอัฏฐมปัญหาปริศนาคำรบ ๘ ว่า ถ้าจะเรียนโหราให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสีย นั้น อธิบายว่า ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียจึงจะรู้คัมภีร์โหรา ถ้ามิฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียมิรู้จักคัมภีร์โหรา อันว่าคัมภีร์โหรานั้นคือ ไตรวิชา ๓ ประการ คือ ทิพพจักขุญาณ ๑ บุพเพนิวาสานุสติญาณ ๑ อาสวักขยญาณ ๑ อันว่าคัมภีร์โหรานั้นย่อมให้รู้จักผล บาปเคราะห์ แลสมเคราะห์ ว่าครั้นบาปเคราะห์มาถึงในกาลเมื่อใด ก็บังเกิดสุขในกาลเมื่อนั้น

แลอุปมาดุจใด อันว่าทิพพจักขุญาณก็ย่อมเล็งเห็นวิบากแห่งกุศลธรรม แลอกุศลธรรมดังนี้ อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้ กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ครั้นจุติก็ไปบังเกิดในอบายทั้ง ๔ คือเปรต แลนรก แลดิรัจฉาน แลอสุรกายนั้น ก็มีอุปมัยดุจคัมภีร์โหรา อันรู้จักบาปเคราะห์ แลสมเคราะห์นั้นแล ประการหนึ่ง อันว่าคัมภีร์โหรานั้น บอกให้รู้จักสุข แลทุกข์ในอดีตกาล แลอนาคตกาลดังนี้ว่า จำเดิมแต่ท่านแรกเกิดนั้นท่านได้เสวยสุข ทุกข์ดังนี้แล้ว เมื่อท่านใหญ่มานี้ อายุถึงเท่านี้ ท่านได้เสวยสุข ทุกข์ดังนี้ ๆ แลแต่นี้ไปข้างหน้า เมื่ออายุท่านถึงเท่านั้น ๆ ท่านจะได้เสวยสุข ทุกข์ดังนี้ แลอุปมาดุจใด อันว่าบุพเพนิวาสานุสติญาณ ก็รู้จักสัตว์ อันเสวยสุข ทุกข์ ในอดีตชาติ แลอนาคตชาติ ดังนี้ อันว่าหมู่สัตว์ทั้งหลายหมู่นี้ เมื่อชาติก่อนโพ้นได้เสวยสุข ทุกข์ ดังนี้ ๆ แล้ว แลสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้ จะบังเกิดสืบไปในอนาคตชาติ ก็จะได้เสวยสุข ทุกข์ดังนี้ ก็มีอุปมาดุจคัมภีร์โหรา อันให้รู้สุข ทุกข์ ในอดีตกาลนั้นแล ประการหนึ่ง อันว่าคัมภีร์อันตัดอายุนั้น ก็ให้จักรู้ว่าบุคคลหมู่นี้มีอายุสิ้นแล้วมิได้สืบไปภายหน้ากว่านั้น อันว่าบุคคลผู้นี้มีอายุยังมิสิ้น แลยังสืบไปภายหน้า แลอุปมาดุจใด อันว่าอาสวักขยญาณ ก็รู้ว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้มีอาสวะทั้ง ๔ ประการ คือ กามสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ แลอวิชาสวะสิ้นแล้ว แลจะนิพพานบมิเกิดสืบไปภายหน้ากว่านั้น อันว่าสัตว์ทั้งหลายหมู่นี้มีอาสวะทั้ง ๔ ประการ ยังไปมิสิ้น ยังจะเกิดในสงสารสืบไป

ก็มีอุปมัยดุจคัมภีร์โหรา อันตัดอายุ แลรู้ว่าอายุยังไปมิได้ฉะนี้นั้นแล เหตุดังนั้นจึงว่าคัมภีร์โหรานั้น คือไตรวิชาทั้ง ๓

ประการนั้นแล อันว่าอาจารย์ทั้ง ๔ นั้นคือ โลภะ โทสะ โมหะ มานะ นั้น อันว่ากุศลทั้ง ๔ นี้บังเกิดในทวารทั้งหลาย มีจักขุทวารเป็นอาทิแห่งสัตว์ทั้งหลายนั้น แล้วก็ครอบงำ ข่มเหง สั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย ให้กระทำบาปกรรมทั้งปวงดังนี้

อันว่าโลภะนั้น บังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเป็นวิสัยแห่งโลภะ อันยินดีในกามคุณทั้ง ๕ ประการนั้น อันว่าโทสะ บังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลายนั้น ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเป็นวิสัยแห่งโทสะ อันยินดีในอาฆาตวัตถุ ๙ ประการนั้น อันว่าโมหะ อันบังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเป็นวิสัยแห่งโมหะ อันมิรู้จักอริยสัจทั้ง ๔ ประการนั้น อันว่ามานะ อันบังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งสัตว์ทั้งหลาย แล้วก็ครอบงำข่มเหงสั่งสอนสัตว์ทั้งหลาย ให้กระทำกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต อันเป็นวิสัยแห่งมานะด้วยมทะทั้งหลาย มีชาติมโทเป็นอาทิ ดุจกล่าวในขุททกวัตถุนิกายวิภังค์นั้น เหตุดังนี้จึงว่า อกุศลทั้ง ๔ ตัวนี้เป็นอาจารย์แล

สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสเทศนาในสังยุตตนิกายดังนี้ ฯ อนนฺเตวาสิกมิทํ ภิกฺขเว พฺรหฺม-จริยํ วุสฺสติ อนาจริยกํ สานฺเตวาสิโก ภิกฺขเว ภิกฺขุ สาจริยโก ทุกฺขํ น ผาสุ วิหรติ&:hellip:อนนฺเตวาสิโก อนาจริยโก สุขํ ผาสุ วิหรติ? อิธ ภิกฺขเว ภิกขุโน จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา น อุปชฺชนฺติ ปาปกา อกุสลา ธมฺมา สรสงฺกปฺปา สญฺโญชนิยา ตฺยาสฺส น อนฺโต วสนฺติ&:hellip:ตสฺมา อนนฺเตวาสิโกติ วุจฺจติ เต นํ สมุทาจรนฺติตสฺมา อนาจริยโกติ วุจฺจติ ฯ ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลายอันว่าภิกษุในศาสนานี้พึงเจริญสมณธรรม ด้วยอันหาลูกศิษย์สืบไปมิได้ ด้วยอันหาอาจารย์มิได้นั้นเถิด

ภิกฺขเว ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันว่าภิกษุรูปใด อันอยู่กอปรด้วยลูกศิษย์ กอปรอาจารย์ อันว่าภิกษุนั้นอยู่เป็นทุกข์บ่มิสบาย อันว่า ภิกษุรูปใดอันอยู่หาลูกศิษย์บ่มิได้ หาอาจารบ่มิได้นั้น อันว่าภิกษุรูปนั้น ๆ อยู่เป็นสุข อยู่เป็นอันสบายยิ่งนักหนา จะปรารถนาธรรมสิ่งใดก็ได้ตามแต่จะปรารถนาเที่ยงแท้แล จึงตรัสปุจฉาว่าดังนี้ อันว่าลูกศิษย์นั้นคือสิ่งใด อันว่าอาจารย์นั้นคือสิ่งใด จึงตรัสวิสัชนาดังนี้ ภิกขเว ดูกรภิกษุทั้งหลายอันว่าภิกษุในศาสนานี้ เล็งเห็นรูปารมณ์ด้วยจักษุนั้นก็ดี ได้ฟังสัททารมณ์ด้วยโสตะนั้นก็ดี ได้สูดดมคันทารมณ์ด้วยฆานะก็ดี ได้ลิ้มเลียรสารมณ์ด้วยชิวหาก็ดี ได้ถูกต้องโผฏฐัพพารมณ์ด้วยกายก็ดี ได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยมโนวิญญาณก็ดี อันว่าธรรมเป็นอกุศลทั้งหลายหมู่ใด แลบังเกิดในทวารทั้ง ๖ แห่งภิกษุรูปนั้น อันว่าธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ตั้งอยู่ภายในสันดานแห่งภิกษุรูปนั้น พระตถาคตตรัสเทศนาชื่อว่าเป็นลูกศิษย์แห่งภิกษุรูปนั้น เหตุว่าธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ตั้งอยู่ภายในสันดานแห่งภิกษุรูปนั้น ประการหนึ่ง พระตถาคตตรัสเทศนาธรรมอันเป็นอกุศลทั้งหลายหมู่นั้น ได้ชื่อว่าเป็นครู เป็นอาจารย์ ข่มเหงสั่งสอนภิกษุรูปนั้น ให้กระทำผิดธรรมนั้นแล สมเด็จพระสรรเพชญพุทธเจ้าตรัสเทศนาดังนี้

นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงรู้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทั้ง ๔ นี้หามิได้แล้ว อกุศลทั้งปวงก็หามิได้ เหตุดังนั้นจึงว่า ให้ฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียจึงรู้คัมภีร์โหรานั้นแล อธิบายดังนี้ อันว่าพระอรหันต์ทั้งปวงอันทรงไตรวิชาทั้ง ๓ นั้น ก็ย่อมฆ่าเสียซึ่งโลภจิต อันกอปรด้วยทิฏฐิ แลโมหจิตอันกอปรด้วยวิจิกิจฉานั้นให้พินาศ ด้วยโสดาปัตติมรรคญาณแล้ว ก็ย่อมฆ่าเสียซึ่งโลภจิต อันปราศจากทิฏฐิ อันเป็นกามราคะอันหยาบ แลโทสจิตอันเป็นพยาบาทอันหยาบนั้น ให้พินาศด้วย สกิทาคามิมรรคญาณ

แล้วก็จะฆ่าเสียซึ่งโลภจิต อันเป็นกามราคะอันสุขุม แลโทสจิตอันเป็นพยาบาทอันสุขุมนั้น ให้พินาศด้วยอนาคามิมรรคญาณแล้ว ก็ฆ่าเสียซึ่งมานะ แลโมหะ อันกอปรด้วยอุทธัจจะนั้นให้พินาศด้วยอรหัตตมรรคญาณ จึงได้ตรัสรู้ไตรวิชา ๓ ประการ คือ ทิพจักขุญาณ ปุพเพนิวาสญาณ อาสวักขยญาณ เหตุฆ่าเสียซึ่ง โลภะ โทสะ โมหะ มานะ ทั้ง ๔ ประการนี้ให้พินาศด้วยสมุจเฉทปหาน ก็ได้ชื่อว่าพระอรหันต์ทั้งหลายเรียนโหรา แลฆ่าอาจารย์ทั้ง ๔ เสียนั้นแล

เหตุการณ์ดังนั้นอันว่านักปราชญ์ผู้ประเสริฐ แลบังเกิดทรงนามบัญญัติชื่อโยคาวจร เหตุกอปรด้วยความเพียรในสมถภาวนา แลวิปัสนาภาวนา ด้วยปณิธานปรารถนาจะข้ามมหรรณพสงสาร ให้ถึงอัมฤตยนิพพานด้วยอรหัตตมรรคญาณ อันตรัสรู้ไตรวิชาทั้ง ๓ ประการ ก็พึงฆ่าเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้ง ๔ ประการนี้ ด้วยมรรคญาณทั้ง ๔ โดยอันดับกัน ดุจกล่าวมานั้นแล โยคาวจรผู้ประเสริฐพระองค์นั้น ก็ลุถึงอรหัตตมรรคญาณ อันทรงไตรวิชา ๓ ประการ ดุจพระอาจารย์อรหันต์เจ้าทั้งปวงอันทรงไตรวิชานั้นแล

อาตมาภาพถวายวิสัชนาอัฏฐมปัญหา ด้วยพระธรรมเทศนา อันมีสภาวะดังนี้ ขอจงเป็นต้นหน แลนายเข็ม สำหรับสำเภาเภตราคือบวรอาตมาพระองค์ผู้ประเสริฐ วิสัชนาอัฏฐปัญหาคำรบ ๘ สำเร็จแต่เท่านี้แล

ขอถวายพระพร ด้วยอาตมาภาพได้รับพระราชกระแสรับสั่งว่าจะขอความรู้ อาตมาภาพยินดีนักหนา ด้วยอาตมาภาพได้วิสัชนาถวายมาแต่ก่อนบ้างแล้ว บัดนี้อาตมาภาพชราแล้ว จะขอถวายครั้งนี้เป็นปริโยสานให้ทราบพระญาณจงยังแล้วด้วยพระราชสมภารเจ้าผู้ประเสริฐ จะแสวงหานิพพานอันดับสังขารทุกข์เที่ยงแท้ แลในพระธรรมเทศนาในปรมัตถธรรมมี ๕๗ ประการ คือขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ นั้นเป็น ๕๗ ประการดังนี้ เมื่อจะผ่อนให้น้อยปรมัตถธรรมนี้แต่ ๒ ประการคือ นามธรรม ๑ รูปธรรม ๑

ในอินทรีย์ ๒๒ ประการนั้น อันว่าจักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ กายินทรีย์ อิตถินทรีย์ ปุริสินทรีย์ รูปชีวิตินทรีย์ ๘ ประการนี้เป็นรูปธรรม อันเหลือ ๑๔ นั้นเป็นนามธรรม

ในธาตุ ๑๘ นั้น อันว่าจักขุธาตุ รูปธาตุ โสตธาตุ สัททธาตุ ฆานธาตุ คันทธาตุ ชิวหาธาตุ รสธาตุ กายธาตุ โผฏฐัพธาตุ ๑๐ ประการเป็นรูปธรรม สัตตวิญญาณธาตุทั้ง ๗ นั้นเป็นนามธรรม อันว่าธรรมธาตุเป็นทั้งนามธรรม แลรูปธรรม

ในอายตนะ ๑๒ นั้น อันว่าจักขวายตนะ รูปายตนะ โสตายตนะ สัททายตนะ ฆานายตนะ คันธายตนะ ชิวหายตนะ รสายตนะ กายายตนะ โผฏฐัพพายตนะ ๑๐ ประการนี้เป็นรูปธรรม มนายตนะ เป็นนามธรรม ธรรมายตนะนั้นเป็นทั้งนามธรรม แลรูปธรรม

ในขันธ์ ๕ ประการนั้น อันว่ารูปขันธ์นั้นเป็นรูปธรรม เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขัน ทั้ง ๔ นั้นเป็นนามธรรม เหตุดังนั้นเมื่อโยคาวจร เจริญวิปัสนาภาวนา ก็ผ่อนเอา ปรมัตถธรรมทั้ง ๕๗ นั้นเข้ามาแต่ นามธรรมแล รูปธรรมทั้ง ๒ ประการนี้แล เจริญบริกรรมภาวนาว่าดังนี้ ฯ นามรูปํอนิจฺจํ นามรูปํทุกฺขํ นามรูปํอนตฺตา ฯ แลไตรลักษณญาณทั้ง ๓ ครั้นพิจารณาเป็นอนิจจัง ก็เห็นด้วยกันทั้ง ๓ เหตุว่า ครั้นอนิจจลักขณปรากฏในปัญญาแห่งโยคาวจร ทุกขลักขณ อนัตตลักขณ ก็ปรากฏด้วย ครั้นทุกขลักขณปรากฏอนิจจลักขณ อนัตตลักขณก็ปรากฏด้วย เอาแต่นามธรรม แลรูปธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ เป็นบาทแห่งวิปัสนาก็เจริญไปได้ลุถึงอรหัตเป็นอันมาก ประการหนึ่ง

พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย เมื่อจุตินั้นก็พิจารณาแต่นามธรรม แลรูปธรรมทั้ง ๒ ประการนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นอารมณ์ตราบเท่าถึงจุติจิตอันกรรมนิมิตก็ดี คตินิมิตก็ดี มิได้บังเกิดปรากฏแก่พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย เหตุดังนั้นครั้นจุติจิต รูปธรรม แลนามธรรม ทั้งปวงนั้นก็ดับพร้อมกัน ดุจเปลวประทีป อันมีไส้ประทีป แลน้ำมัน สิ้นพร้อมกัน เหตุดังนั้นปฏิสนธิจิตก็หามิได้แก่พระอรหันต์ ก็ได้ชื่อว่า อนุปทิเสสนิพพานธาตุพ้นจากสังขารทุกข์แท้แล

อาตมาภาพเห็นว่าความรู้ดังนี้ เป็นที่สุดความรู้ทั้งปวง เป็นยอดความรู้ทั้งปวง จึงขอถวายประดับพระปัญญาบารมี สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้าพระองค์ผู้ประเสริฐแล ฯลฯ

เทศน์ ๑๒ นักษัตร

สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรงฺสี)

ท่านพระยาผู้หนึ่งเคยนิมนต์พระมาแสดงพระธรรมเทศนาให้ ฟังอยู่เนืองๆ ที่บ้านของท่าน วันหนึ่งท่านคิดอยากจะฟังเทศน์จตุราริยสัจ จึงใช้บ่าวคนหนึ่งว่าเจ้าจงไปนิมนต์สมเด็จฯ ที่วัดมาเทศน์จตุราริยสัจสักกัณฑ์หนึ่งในค่ำวันนี้ แต่ท่านไม่ได้เขียนฎีกาบอกชื่ออริยสัจให้บ่าวไป บ่าวก็รับ คำสั่งไปนิมนต์สมเด็จฯ ที่วัดว่าเจ้าคุณที่บ้านให้อาราธนาไปแสดงธรรมที่บ้าน ค่ำวันนี้ สมเด็จฯจึงถามว่า ท่านจะให้เทศน์ เรื่องอะไร บ่าวลืมชื่ออริยสัจเสีย จำไม่ได้นึกคะเนได้แต่ว่า ๑๒ นักษัตร จึงกราบเรียนว่า ๑๒ นักษัตรขอรับผม แล้วก็กราบลามา

ฝ่ายสมเด็จฯ ก็คิดว่า เห็นท่านพระยาจะให้เทศน์อริยสัจ แต่บ่าวลืมชื่อไป จึงมาบอกว่า ๑๒ นักษัตร พอถึงเวลาค่ำท่านก็มีลูกศิษย์ตามไป เข้าไปแสดงธรรมเทศนาที่บ้านท่าน พระยาผู้นั้น มีพวกอุบาสก อุบาสิกามาคอยฟังอยู่ด้วยกันมาก

สมเด็จฯ จึงขึ้นธรรมาสน์ ให้ศีลบอกพุทธศักราช แลตั้งนโม ๓ หนจบแล้ว จึงว่าจุณณียบทสิบสองนักษัตรว่า มุสิโก อุสโภ พยคฺโฆ สโส นาโค สปฺโป อสฺโส เอฬโก มกฺกโฏ กุกฺกุโฏ สุนโข สุกโร แล้วแปลเป็นภาษาไทยว่า มุสิโก หนู อุสโภ วัวผู้ พยคฺโฆ เสือ สโส กระต่าย นาโค งูใหญ่ สปฺโป งูเล็ก อสฺโส ม้า เอฬโก แพะ มกฺกโฏ ลิง กุกฺกุโฏ ไก่ สุนโข สุนัข สุกโร สุกร

ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับพวกทายกทายิกาก็มีความสงสัยว่า ทำไมเจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงมาเทศน์ ๑๒ นักษัตร ดังนี้เล่า สงสัยว่าบ่าวจะไปนิมนต์ท่านเรียกชื่ออริยสัจผิดไปกระมัง ท่านพระยาจึงเรียกบ่าวคนนั้นเข้ามาถามว่า เจ้าไปนิมนต์เจ้าประคุณสมเด็จเทศน์เรื่องอะไร บ่าวก็กราบเรียนว่านิมนต์เทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตร ขอรับผม ท่านพระยาจึงว่านั่นประไรเล่า เจ้าลืมชื่ออริยสัจไปเสียแล้ว ไปคว้าเอา ๑๒ นักษัตรเข้า ท่านจึงมาเทศน์ตามเจ้านิมนต์นั่นซี

ฝ่ายสมเด็จฯ เป็นผู้ฉลาดเทศน์ ท่านจึงอธิบายบรรยายหน้าธรรมาสน์ว่า อาตมภาพก็นึกอยู่แล้วว่า ผู้ไป นิมนต์จะลืมชื่ออริยสัจเสีย ไปบอกว่าท่านให้นิมนต์เทศน์ ๑๒ นักษัตร อาตมภาพก็เห็นว่า ๑๒ นักษัตรนี้ คือเป็นต้นทางของอริยสัจแท้ทีเดียว ยากที่บุคคลจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรสักครั้งสักหน เทศน์ที่ไหนๆ ก็มีแต่เทศน์อริยสัจทั้งนั้น ไม่มีใครจะเทศน์ ๑๒ นักษัตรสู่กันฟังเลย ครั้งนี้เป็นบุญลาภของมหาบพิตรเป็นมหัศจรรย์ เทพยเจ้าผู้รักษาพระพุทธศาสนาจึงได้ดลบันดาลให้ผู้รับใช้เคลิบเคลิ้มไป ให้บอกว่าเทศน์ ๑๒ นักษัตรดังนี้ อาตมภาพก็มาเทศน์ตามผู้นิมนต์ เพื่อจะให้สาธุชนแลมหาบพิตรเจ้าของกัณฑ์ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร อันเป็นต้นทางของอริยสัจทั้ง ๔ จะได้ธรรมสวนานิสงส์อันล้ำเลิศซึ่งจะได้ให้ก่อเกิดปัจจเวกขณญาณในอริยสัจ ทั้งแท้ที่จริงธรรมเนียมนับปี เดือน วัน คืนนี้ นักปราชญ์ ผู้รู้โหราศาสตร์แต่ครั้งโบราณต้นปฐมกาลในชมภูทวีปบัญญัติตั้งแต่งขึ้นไว้ คือกำหนดหมายเอาชื่อดวงดาราในอากาศเวหามาตั้งเป็นชื่อปี เดือน วัน ดังนี้คือ

หมายเอาชื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวอังอาคาร ดาวพุธ ดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดาวเสาร์ รวม ๗ ดาว มาตั้งเป็นชื่อวันทั้ง ๗ วัน แลให้นับเวียนไปเวียนมาทุกเดือนทุกปี

หมายเอาชื่อดวงดาวรูปสัตว์ แลดาวรูปสิ่งอื่นๆ มาตั้งเป็นชื่อเดือนทั้ง ๑๒ เดือน มีดังนี้ คือเดือนเมษายน ดาวรูปเนื้อ เดือนพฤษภาคม ดาวรูปวัวผู้ เดือนมิถุนายน ดาวรูปคนคู่หนึ่ง เดือนกรกฎาคม ดาวรูปปูป่าหรือปูทะเล เดือนสิงหาคม ดาวรูปราชสีห์ เดือนกันยายน ดาวรูปนางสาวที่น่ารักใคร่ เดือนตุลาคม ดาวรูปคันชั่ง เดือนพฤศจิกายน ดาวรูปแมงป่อง เดือนธันวาคม ดาวรูปธนู เดือนมกราคม ดาวรูปมังกร เดือนกุมภาพันธ์ ดาวรูปหม้อ เดือนมีนาคม ดาวรูปปลา (ตะเพียน) รวมเป็น ๑๒ ดาว หมายเป็นชื่อ ๑๒ เดือน

หมายเอาดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดาว ที่ประจำอยู่ในท้องฟ้าอากาศ เป็นชื่อปีทั้ง ๑๒ ปีดังนี้ คือ ปีชวด ดาวรูปหนู ปีฉลู ดาวรูปวัวตัวผู้ ปีขาล ดาวรูปเสือ ปีเถาะ ดาวรูปกระต่าย ปีมะโรง ดาวรูปงูใหญ่ คือ นาค ปีมะเส็ง ดาวรูปงูเล็ก คืองูธรรมดา ปีมะเมีย ดาวรูปม้า ปีมะแม ดาวรูปแพะ ปีวอก ดาวรูปลิง ปีระกา ดาวรูปไก่ ปีจอ ดาวรูปสุนัข ปีกุน ดาวรูปสุกร

รวมเป็นชื่อดาวรูปสัตว์ ๑๒ ดวง ตั้งเป็นชื่อปี ๑๒ ปี ใช้เป็นธรรมเนียมเยี่ยงอย่างนับปีเดือนวันคืนนี้ เป็นวิธีกำหนดนับอายุกาลแห่งสรรพสิ่งสรรพสัตว์ในโลกทั่วไป ที่นับของใหญ่ๆ ก็คือนับอายุโลกธาตุ นับเป็นอันตรกัลป มหากัลป ภัทรกัลปเป็นต้น แลนับอายุชนเป็นรอบๆ คือ ๑๒ ปี เรียกว่ารอบหนึ่ง แล ๑๒ รอบเป็น ๑๔๔ ปี แต่มนุษย์เราเกิดมาในกลียุคครั้งนี้ กำหนดอายุเป็นขัยเพียง ๑๐๐ ปี แลในทุกวันนี้อายุมนุษย์ก็ลดถอยลงน้อยกว่า ๑๐๐ ปีก็มีมาก ที่มีอายุกว่า ๑๐๐ ปีขึ้นไปถึง ๑๕๐ หรือ ๒๐๐ ปีก็มีบ้างในบางประเทศ ตามจดหมายเหตุของประเทศต่างๆ ได้กล่าวมา แต่มีเป็น พิเศษแห่งละ ๑ คน ๒ คนหรือ ๓ คน ๔ คนเท่านั้น หาเสมอทั่วกันไปไม่ แต่ที่อายุต่ำกว่า ๑๐๐ ปีลงมานั้น มีทั่วกันไปทุกประเทศ จึงเป็นที่สังเกตได้ว่า คำเรียกว่ากลียุคนี้เป็นภาษาพราหมณ์ ชาวชมภูทวีปแปลว่าคราวชั่วร้าย คือว่าสัตว์เกิดมาในภายหลัง อันเป็นครั้งคราวชั่วร้ายนี้ย่อมทำบาปอกุศลมาก จนถึงอายุสัตว์ลดน้อยถอยลงมาก ด้วย สัตว์ที่เกิดในต้นโลกต้นกัลปนั้น เห็นจะมากไปด้วยเมตตากรุณาแก่กันและกัน ชักชวนกันทำบุญกุศลมาก อายุจึงยืนหลายหมื่นหลายพันปี แลยังจะต่อลงไปข้างปลายโลก บางทีสัตว์จะทำบาปอกุศลยิ่งกว่านี้ อายุสัตว์บางทีก็จะเรียวน้อยถอยลงไปจนถึง ๑๐ ปีเป็นขัย แลสัตว์มีอายุเพียง ๕ ปี จะแต่งงาน เป็นสามีภรรยาต่อกันก็อาจจะเป็นไปได้ แลในสมัยเช่นนี้อาจจะเกิดมิคสัญญี ขาดเมตตาต่อกันแลกัน อย่างประหนึ่งว่านายพรานสำคัญในเนื้อจะฆ่าฟันกันตายลงเกลื่อนกลาด ดังมัจฉาชาติต้องยาพิษทั่วไปในโลก แต่สัตว์ที่เหลือตายนั้นจะกลับบ่ายหน้าเข้าหาบุญก่อสร้างการกุศล ฝูงคนในครั้งนั้นจะกลับมีอายุยืนยิ่งๆ ขึ้นไป จนอายุตลอดอสงขัย ซึ่งแปลว่านับไม่ได้นับไม่ถ้วน ภายหลังสัตว์ทั้งปวงก็กลับตั้งอยู่ในความประมาทก่อสร้างบาปอกุศลรุ่นๆ ไปอีกเล่า อายุสัตว์ก็กลับลดน้อยถอยลงมาอีก ตามธรรมดาของโลกเป็นไปดังนี้

สมเด็จพระพุทธเจ้าของเรา ผู้เป็นพระสัพพัญูตรัสรู้แจ้งในธรรมทั้งปวง พระองค์จึงทรงแสดงธรรมที่จริง ๔ ประการไว้ให้สัตว์ทั้งหลายรู้แจ้ง คือ ความทุกข์มีจริง สิ่งให้เกิดทุกข์มีจริง ธรรมเป็นที่ดับทุกข์มีจริง ข้อปฏิบัติให้ถึงธรรมเป็นที่ดับ

ทุกข์มีจริง

นี่แลเรียกว่าอริยสัจ ๔ คือเป็นความจริง ๔ ประการ ซึ่งเพิ่มอริยเจ้าอีกคำหนึ่งนั้น คืออริยแปลว่าพระผู้รู้ประเสริฐ อย่างหนึ่ง พระผู้ไกลจากกิเลสอย่างหนึ่ง รวมอริยสัจจะ สองคำเป็นนามเดียวกัน เรียกว่าอริยสัจ แลเติมจตุรสังขยานามเข้าอีกคำหนึ่ง แลแปลงตัว ะ เป็นตัว า เพื่อจะให้เรียกเพราะสละสลวยแก่ลิ้นว่า จตุราริยสัจ แปลว่าความจริงของพระอริยเจ้า ๔ อย่าง

ซึ่งท่านอ้างว่าความจริง ๔ อย่างนี้เป็นของพระอริยะนั้น อธิบายว่าต่อเป็นพระอริยเจ้าจึงจะเห็นจริง คือพระอริยเจ้าเห็นว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ซึ่งสัตว์เวียนว่ายทนรับความลำบากอยู่ในวัฏสงสารนั้น ให้เกิดความทุกข์จริง ตัณหาคือความอยากความดิ้นรนของสัตว์นั้น ให้เกิดความทุกข์จริง พระอมตมหานิพพาน ไม่มีเกิดแก่เจ็บตายเป็นที่ดับทุกข์จริงแลสุขจริง ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์มีจริง

พระอริยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น ย่อมเห็นจริงแจ้งประจักษ์ในธรรม ๔ อย่างดังนี้ แลสั่งสอนสัตว์ให้รู้ความจริง เพื่อจะให้ละทุกข์ เข้าหาความสุขที่จริง

แต่ฝ่ายปุถุชนนั้นเห็นจริงบ้างแต่เล็กน้อย ไม่เห็นความจริงแจ้งประจักษ์เหมือนอย่างพระอริยเจ้าทั้งปวง พวกปุถุชนเคยเห็นกลับไปว่า เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิดก็ดีไม่เป็นทุกข์อะไรนัก บ้างก็ว่าเจ็บก็เจ็บ สนุกก็สนุก ทุกข์ก็ทุกข์ สุขก็สุข จะกลัวทุกข์ทำไม

บ้างว่าถ้าตายแล้วเกิดใหม่ ได้เกิดที่ดีๆ เป็นท้าวพระยามหาเศรษฐีมั่งมีทรัพย์สมบัติมากมายแล้ว ก็หากลัวทุกข์อะไรไม่ ขอแต่อย่าให้ยากจนเท่านั้น

บ้างว่าถ้าตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ ได้เสวยทิพยสมบัติ มีนางฟ้านับพันแวดล้อมเป็นบริวาร เป็นสุขสำราญชื่นอกชื่นใจดังนั้นแล้ว ถึงจะตายบ่อยๆ เกิดบ่อยๆ ก็ไม่กลัวทุกข์กลัวร้อนอะไร

บ้างก็ว่าถ้าไปอมตมหานิพพานไปนอนเป็นสุขอยู่ นมนานแต่ผู้เดียว ไม่มีคู่เคียงเรียงหมอนจะนอนด้วยแล้ว เขาก็ไม่อยากจะไป เขาเห็นว่าอยู่เพียงเมืองมนุษย์กับเมืองสวรรค์เท่านั้นดีกว่า เขาหาอยากไปหาสุขในนิพพานไม่ พวกปุถุชนที่เป็นโลกียชนย่อมเห็นไปดังนี้

นี่แลการฟังเทศน์อริยสัจ จะให้รู้ความจริง แลเห็นธรรมที่ดับทุกข์เป็นสุขจริงของพระอริยเจ้าทั้ง ๔ อย่างนั้น ก็ควรฟังเทศน์เรื่อง ๑๒ นักษัตรเสียก่อน จะได้เห็นว่าวัน คือ เดือน ปี ซึ่งเป็นอายุของเราย่อมล่วงไปทุกวัน ทุกเวลา ประเดี๋ยวก็เกิดประเดี๋ยวก็แก่ ประเดี๋ยวก็เจ็บ ประเดี๋ยวก็ตาย เราเวียนวนทนทุกข์อยู่ด้วยความลำบาก ๔ อย่างนี้แลไม่รู้สิ้นรู้สุด เมื่อเราสลดใจเบื่อหน่ายต่อความเกิดแก่เจ็บตายในโลกแล้ว เราก็ควรรีบเร่งก่อสร้างบุญกุศลจนกว่าจะได้มีบารมีแก่กล้า จะได้ความสุขในสรวงสวรรค์แลความสุขในอมตมหานิพพานในภายหน้า ซึ่งไม่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นสุขเที่ยงแท้ถาวรอย่างเดียว ไม่มีทุกข์มาเจือปนเลย

แลเรื่อง ๑๒ นักษัตร คือดาวชื่อเดือน ๑๒ ดาว และดาวชื่อปี ๑๒ ปี แลดาวชื่อวันทั้ง ๗ วันนี้ เป็นที่นับอายุของเราไม่ให้เราประมาท แลให้คิดพิจารณาเห็นความจริงในอริยสัจทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงสั่งสอนเราไว้ ให้รู้ตามนั้น ทีเดียว

สาธุชนทั้งหลายผู้มาได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรกับอริยสัจ ๔ ด้วยในเวลานี้ ไม่ควรจะโทมนัสเสียใจต่อผู้ไปนิมนต์ ควรจะชื่นชมโสมนัสต่อผู้รับใช้ไปนิมนต์ อาตมภาพมาเทศน์ด้วย ถ้าไม่ได้อาศัยผู้นิมนต์เป็นต้นเป็นเหตุดังนี้แล้ว ที่ไหนจะได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตรเล่า ควรจะโมทนาสาธุการอวยพรแก่ผู้ไปนิมนต์จงมาก เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

ฝ่ายท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์กับสัปบุรุษทายกทั้งปวง ได้ฟังธรรมเทศนาเรื่อง ๑๒ นักษัตร กับอริยสัจทั้ง ๔ ของ สมเด็จฯ แล้ว ต่างก็ชื่นชมยินดีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส บ้างก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ท่านพระยาเจ้าของกัณฑ์จึงว่าข้าขอบใจเจ้าคนไปนิมนต์ ขอให้เจ้าได้บุญมากๆ ด้วยกันเถิด



#บทความมูลนิธิฯ #บทความโหราศาสตร์ #โหราศาสตร์ #ดาราศาสตร์