พ้นข้างขึ้นเดือน 11 ออกพรรษามาแล้วหลายวันจนย่างเข้าเดือน 12 กฐินหลวง กฐินราษฎร์ ก็ทอดกันทั่วแล้วทุกวัด พระบวชใหม่เมื่อครบพรรษาก็ลาสึกขาบทกลับไปครงเหย้าครองเรือนตามฆราวาสวิสัยเสียเป็นส่วนมาก ฝนปลายฤดูตกพรำมาตั้งแต่สายตกๆหายๆเรื่อยมาจนบ่ายก็ยังไม่ขาดเม็ด เป็นละอองโปรยเปียกชายสองคนที่มุ่งหน้าเดินเร่งร้อนเข้ามาในวัดและมุ่งสู่กุฏิหลวงตาชื้น พอขึ้นบันไดเปิดประตูระเบียงก็ถูกทักทาย “เออน่ะ หมอเถา ครูก้อนกำลังคิดถึง” ครูสมศักดิ์ซึ่งนั่งอยู่กับหลวงตาชื้นทักทายดีใจ หมอเถาหัวร่อฟันขาว แต่ครูก้อนไม่ว่ากระไร ทั้งคู่ตรงเข้าไปกราบหลวงตาถึงตัว “เป็นอย่างไรไปหรือ หมอเถากะครูก้อน ได้ข่าวว่าป่วย หายไปเสีย 2 วัน เป็นอะไรไปหรือ” หลวงตาทักถามอารมณ์ดี หมอเถาหันมาสบตาครูก้อน ครูก้อนพยักหน้า หมอเถาจึงตกเป็นหน้าที่ หมอเถาเป็นผู้ตอบ “ผมและครูก้อน ผิดสำแดงคะรับหลวงตา” “บ๊ะ พูดภาหมอไม่เข้าใจ” หลวงตาหัวเราะ “อ้ายโรคผิดสำแดงมันเป็นยังไงฟังดูยังกะโรคของเด็กๆแล้วทำไมมันจะต้องป็นพร้อมๆกันยังกะนัดเป็นทีเดียว” ถูกซักรายละเอียด หมอเถาก็ต้องตอบ “ท้องเดินแรงถึงขนาดคลานไปส้วมนั่นแหละขอรับ ถ่ายเสียวันหนึ่ง พักเสียวันหนึ่ง ผมกะครูก้อนเลยหายไปสองวัน” “สองคนแอบไปกินอะไรด้วยกันมาหรือ” ครูสมศักดิ์ถามมั่ง หมอเถารับหน้าที่ประชาสัมพันธ์ “กินยาอายุวัฒนะ แต่ยามันแรงไปจนเกือบกลายเป็นยาอายุหายนะไป” หลวงตาสนใจ “ยาอะไรน๊ะหมอเถาลองบอกมั่งซี เผื่อจะได้ลองฉันดูมั่ง” หมอเถานิ่งคิดว่าจะตอบให้รู้ดีหรือไม่ จนหลวงตาต้องถามซ้ำอีก “ต้องปกปิดกันเป็นความลับด้วยหรือหมอเถา ไม่นึกว่าจะหวงวิชา” หมอเถาตกใจที่ถูกเข้าใจผิดรีบก้มลงกราบ “ไม่ได้ปิดคะรับ ผมอายหลวงตา” “บ๊ะ…ยาอะไรมันต้องน่าอายบอกเถอะว๊ะหมอเถา” หมอเถาตัดสินใจโพล่งตอบชื่อยา “ตับแร้ง คะรับ” ทั้งหลวงตาและครูสมศักดิ์หัวเราะก๊ากนึกไม่ถึง “อ้อ…แร้งมันอายุยืน ถือเคล็ดกินตับมันให้อายุยืนยังงั้นซี” “เป็นตำราเก่าในสมุดข่อยคะรับ” หมอเถาเจ้าตำรายาวิเศษอธิบาย “ต้องกินสด ๆ 3 ชิ้น ขนาดชิ้นเท่านิ้วชี้ 3 ชิ้น ก็เก้าองคุลีตามตำรา” ครูก้อนยังจดจำภาพตอนกินตับแร้งได้ส่ายหน้าระทดระทวย “กว่าจะกินได้เกือบตายครูสมศักดิ์เอ๋ย หลงคารมหมอเถาเกือบเอาชีวิตไม่รอด” ครูสมศักดิ์สงสัย “มันยากเย็นแสนเข็ญสักเท่าไรเชียว มันก็เหมือนตับหมู ตับวัวสดๆ มันก็คาวหน่อย” ครูก้อนเมินหน้า “เช๊อะ ครูสมศักดิ์ไม่ลองก็ไม่รู้ อ้ายสดอ้ายคาวน่ะพอทน แต่กลิ่นสาบแร้งน่าซีมันฉุนเฉียวจนสำลัก ชิ้นที่หนึ่งหยอดลงคอไปแล้วกลิ่นมันฟุ้งจมูกไปหมดพอหยอดชิ้นที่สองลงไปเท่านั้น อ๊อบ” ครูก้อนกระอ๊อกทำท่าจะอาเจียนจริงๆ รู้สึกว่ากลิ่นสาปมันฟุ้งขึ้นมาอีกเลยไม่อยากเล่าต่อ “หอมเถาเล่าเถอะ ยิ่งพูดถึงยิ่งชวนออกเสียให้ได้” หมอเถาก็สาธยายเป็นฉาก “อ้ายชิ้นที่สองพอหย่อนถึงคอ ครูก้อนก็กระอ๊อกจูงเอาชิ้นแรกออกมาอีก แล้วยังจูงอะไรต่ออะไรอาเจียนตามออกมาหมด” หลวงตาส่ายหน้าสังเวชใจ “โธ่ มันช่างริพิเรนกันแท้ๆ” หมอเถาเล่าต่อ “ต้องค่อยๆเก็บเอามล้างเพราะได้มาจำกัดล้างเสร็จก็มาลองวิธีใหม่ใช้อมเหล้าแหงนคอแล้วหยอดลงไปจะได้ดับกลิ่นสาบได้” ครูสมศักดิ์ฟังไปหัวร่อไป “เออปัญญาหมอเถาฉลาดดี” ครูก้อนตั้งสติได้ก็เล่าต่อ “มันไม่ง่ายยังงั้นซี อมเหล้าไว้พอหยอดตับแร้งลงไปกลืน เจ้าตับแร้งมันติดคอเพราะคอหอยมันตีบ เพราะเหม็นสาบ มันล่วงคอลงไปแต่เหล้าต้องกรอกเหล้าเข้าไปใหม่อีกหลาย อมกว่าจะได้สักชิ้นและต้องคอยผลัดกันช่วยบีบจมูกไว้ไม่ให้ได้กลิ่นพอครบทั้งสามชิ้นทั้งสองก็พอดีกัน” ทั้งหมอเถาและครุก้อนหัวร่อกิ๊กพร้อมกันทั้งสองคน “เหล้าหมดไปค่อนขวดเลยเมากลับอยู่โคนไม้กลางทุ่งนั้นเอง กว่าจะพื้นร่วมเย็น ถึงโผเผกลับบ้านได้” ครูก้อนซึ่งอาการหนักกว่าเพื่อนเล่า “พอกลับมาถึงบ้านท้องมันลงยังกะอหิวาต์ร่วม 20 ครั้ง บางครั้งทั้งลงทั้งราก ผมเลยนั่งอยู่ในห้องส้วมตลอดคืน มันจะได้ไม่ต้องเข้าๆออกๆ” ครูสมศักดิ์และหลวงตาหัวเราะจนน้ำตาไหล “แล้วหมอเถาล่ะ” “ผมก็ท้องเดิน แต่ไม่ต้องเข้าห้องส้วม เพราะพอนึกจะไปมันก็ไหลเสียแล้ว พอขยับตัวมันก็ไหล นอนสวดอิติปิโสทั้งคืน นึกว่าเสร็จเสียแล้ว” ครูสมศักดิ์หันมาทางครูก้อน “ผมแวะบ้านเห็นแม่บ้านบอกแต่ว่าไม่สบาย เลยไม่ทราบเรื่อง” ครูก้อน “ผมบอกให้แม่บ้านเขาปิดเรื่องไว้เพราะอายๆ” เสียงประตูชานกุฏิลั่นเอี๊ยด หลวงตายืดตัวมองข้ามหัวหมอเถาดูว่าใครมา ทุกคนก็พลอยเหลียวดูบ้าง ผู้เปิดประตูเข้ามาเป็นสมณเพศ เช่นเดียวกับหลวงตา และถือดอกบัวกับธูปเทียนใส่พานมาด้วย ท่าทางดูเคร่งครัดเดินช้าๆสำรวมตรงเข้ามาหาหลวงตา ปูผ้าแล้วกราบเคารพตามผู้อาวุโสน้อยกว่า “อ้อ ท่านเพียร เชิญนั่งตามสบาย” หลวงตาชื้นบอกอนุญาตพระที่บวชใหม่เมื่อต้นพรรษานี้ โดยหลวงตาเป็นคู่สวดให้ มีกิจอะไรเชิญตามที่ผมเคยปราวณาไว้” ภิกษุเพียร มองหน้าคนที่นั่งอยู่ข้างๆหลายคน “ผมใคร่จะมาปรึกษาหลวงตา ขออาศัยปัญญาเพราะผมเวียนนึกเวียนคิดมา 7 วันแล้วตรองมิตก” หลวงตาเห็นสีหน้าทุกข์ร้อนของภิกษุเพียรก็รู้ว่าเป็นเรื่องสำคัญจึงบอก “คนเหล่านี้มิใช่คนแปลกหน้า เป็นศิษย์คนสนิททั้งนั้นมีอะไรก็จงเล่าสู่กันฟังเถิดท่านเพียร” พระภิกษุเพียรก็ค่อยเริ่มลำดับเรื่อง “พระบวชใหม่พรรษานี้ 10 องค์ ออกพรรษารับกฐินแล้วสึกกันไปจนหมดเหลือแต่ผมคนเดียวคนสุดท้าย ทางบ้านก็มารบเร้าให้สึกอยู่ทุกวัน ผมเองก็ยังตัดสินใจไม่ถูก” หลวงตาย้อนถาม “ท่านคงจะคิดไม่สึกละซี” “ขอรับหลวงตา” ภิกษุบวชใหม่รับคำจริงจัง “อยู่ในชีวิตใต้ผ้ากาสาวพัตร์ มีความสุขสงบสบายใจเหลือเกินใจไม่อยากคิดสึก แต่ไม่รู้ว่าดวงชะตาจะอำนวยให้มีชีวิตเช่นนี้ได้หรือไม่ จึงมากราบรบกวนหลวงตาช่วยดูให้ด้วย” หลวงตาคว้ากระดานโหรถามวันเดือนปีและเวลาเกิด และผลักกระดานมาข้าหน้าครูก้อน ให้เปิดปูมวางดาวในดวง เป็นการฝึกศิษย์ไปในตัว ครูก้อนรับมาผูกดวงวางดาวด้วยความแคล่วคล่องถูกใจ หลวงตาพิจารณาดูดวงชะตาภิกษุเพียรนิ่งอยู่ศิษย์ทั้งสามก็จับตานิ่งดูเช่นกัน หูคอยฟังคำหลวงตาพยากรณ์ จะได้อ่านดาวตามไปด้วย หลวงตาถอนใจยาว “เออชีวิตทางฆราวาสมันยุ่งๆมากนักก็น่าหนีบวชยึดครงอผ้าเหลืองเป็นที่พึ่งหรอก” ภิกษุบวชใหม่รับคำ “ชีวิตชาวบ้านของผมหาความสุขมิได้เลยขอรับ” หลวงตาหันมาลองภูมิศิษย์ “ครูสมศักดิ์ลองดูพื้นชะตาเขาซิว่าจะลำบากหรือสบายไปข้างหน้า” ครูสมศักดิ์พนมมือขออภัย “ผมติดใจดาว 2 ดวง คือ อาทิตย์ เป็นนิจกุมลัคน์ และเล็งยันกับเสาร์ที่เป็นนิจอยู่ราศีเมษ ชีวิตน่าจะดีเด่นเพราะเสาร์กับอาทิตย์เป็นคู่ธาตุแลกเรือนอุจจ์กันอยู่” “ช๊ะๆครูสมศักดิ์มันชอบเล่นผาดโผน” หลวงตาตำหนิ “ถ้าจะเอาแบบโหรแขกโหรฝรั่งอาตมาไม่รู้ แต่ทางโหรไทยๆเขาไม่เล่นกัน เพราะเรือนอุจจ์ของตนนั้นเป็นเรือนที่ตัวอาศัยเขาอยู่เป็นอุจจ์ไม่ใช่บ้านของตนเอง จะเที่ยวเอาไปแลกกะใครไม่ได้ มันไม่เหมือนสลับเรือนเกษตรหรือประแลกเรือนและการดูดาวลอยด้วยตำแหน่งอย่างนี้ มันไม่มีรายละเอียดดูเขาแต่เพียงว่าดีหรือไม่ดีเท่านั้นเอง ครูสมศักดิ์รีบออกตัว “เห็นเกจิอาจารย์เขาเล่นๆกันผมเลยตามๆเขาไป” “เคยพบดวงอย่างนี้มาหลายๆดวง” หลวงตาว่า “สังเกตมามักพบว่าพอเกือบๆจะดีมันก็หักพังลงเสมอ แต่ก็ยังไม่กล้าถือเป็นกฎเกณฑ์ทายเขา เพราะมันต้องดูต้องเห็นมามากๆพอ” หมอเถาขออนุญาตหลวงตาแล้วก็พยากรณ์มั่ง “ถ้าเอาทางเจ้าเรือน ก็จะได้ความว่าเสาร์เจ้าเรือนพันธุคือญาติไปอยู่เรือนปัตนิเป็นนิจและเจ้าเรือนปัตนิก็ไปเป็นอริ ญาติของเมียมาอาศัยอยู่ทำให้เจ้าชะตาลำบากตกต่ำ” พระภิกษุเพียรรับว่าจริง “ทั้งพ่อตาแม่ยายมาอาศัยผมอยู่ทั้งคู่การงานตักน้ำผ่าฟืนก็มิได้เคยช่วยให้เบาแรงผมเลย พูดจากับเมียเข้าก็ต้องทะเลาทุ่มเถียงกัน” ครูก้อนไม่ยอมน้อยหน้าหมอเถา “อาทิตย์ที่เป็นนิจกุมลัคนานั้นมาจากเรือนปุตตะมาครองอยู่ ถ้าจะอ่านอย่างหลวงตาสอนก็ว่า เจ้าชะตามีบุตรเป็นลาภ คือมีมากและทำให้ลำบากมาก” พระภิกษุเพียรก็รับว่าจริงอีก ทานมีบุตรถึง 5 คน หลวงตาถูกใจตบเข่าฉาดชมเชยศิษย์ “เออหมอเถากะครูก้อนตั้งแต่กินตับแร้งมานี่ฉลาดขึ้นเป็นกอง ทายถูกใจว่ะ” ครูสมศักดิ์ครางอ่อยๆ “ผมไม่ได้กินตับแร้งเลยเขลาไปหน่อย” ภิกษุเพียรรำพรรณเหมือนปรับทุกข์ “ชีวิตผัวเมียก็หาความสุขไม่ใคร่ได้ มักขี้ระแวงหึงหวง ทะเลาะกันบ่อย พ่อตาแม่ยายที่มาอาศัยก็พลอยเข้าข้างลูกสาว และลูกเต้าผมมันก็ดกเสียจริง มันหลายปากหลายท้องคอยกินอยู่ แต่ผมมีสองมือทำอยู่คนเดียว หนีมาบวชคราวนี้เพราะโกหกว่าแก้บน จึงมาบวชได้ นี่ก็มาเร่งอยู่ทุกวันให้สึก เพราะย่างเข้าเดือนอ้ายข้าวก็จะสุกเกี่ยวได้แล้ว” “เออมันช่างยากหัวใจแท้ๆ” หลวงตาหนักใจ “สนับสนุนให้บวชต่อไปหรือก็บาปเพราะเท่ากับยุให้ตัดช่องน้อยเอาตัวรอดแต่ผู้เดียวทิ้งลูกเมียให้ลำบากเดือนร้อนเป็นการละทิ้งหน้าที่ของมนาย์ทีเดียวได้ครั้นจะยุให้สึกก็เท่ากับทำลายบุตรตถาคตให้สิ้นไปจากพระศาสนามันเสียทั้งขึ้นทั้งล่อง” “ตามดวงผมจะบวชตลอดไปได้หรือไม่ขอรับ” ภิกษุเพียรถามย้ำอีก ครูสมศักดิ์ไม่แน่ใจก็ถามหลวงตาก่อน “ทางพระทางสงฆ์พอจับพฤหัสทายได้ไม๊ขอรับ” “เออได้ เพราะพฤหัสหมายถึงความดีงาม คุณธรรม เมื่อไปรวมกับมฤตยูก็แปลว่าทางดับศูนย์” “พฤหัสติดมรณะเสียเช่นนี้ เกรงจะไม่มีผลน๊ะขอรับ” ครูสมศักดิ์ตั้งข้อสังเกต “ก็เรือนมรณะเรามันแปลว่าตายอย่างเดียว จึงว่าไร้ผล” หลวงตาอธิบาย “เราแปลเรือนมรณะว่าหลุดพ้นทุกข์ไปมั่งมิได้หรือ เมื่ออยู่เรือนศุกร์ก็ยังเหมาเอาว่าพ้นจากกิเลศก็ได้ และลองดูทางตนุเศษเขาบ้าง อย่าปักหลักดูแต่ทางลัคนาท่าเดียว ตนุเศษคือใจเขาเป็นศุภะกับพฤหัสและมฤตยู แสดงว่าใจเขายึดมั่นเด็ดเดี่ยวในเรื่องนี้อยู่และพฤหัสก็สลับเรือนกับศุกร์ตนุลัคน์ที่ครองอยู่ราศีธนู คงจะมีโอกาสในภายหน้าแน่นอน เมื่อถึงวัยของพฤหัสนั้น” พระภิกษุเพียรหน้าเสีย “หมายถึงคราวนี้ผมคงจะบวชต่อไปมิได้แน่ ที่มานี้ถ้าหลวงตาดูว่าจะบวชมิได้ก็จะมาลาสึกด้วยขอรับและจะเลขไปลาอุปฌายะ” เมื่อพระภิกษุเพียรคุกเข่าประเคนพานดอกได้ถวาย หลวงตาก็รับไว้และเทศนาให้โอวาทปลอบใจ “มาตาปิตุอุปฎฺฐานํ ปุตฺตทารสฺสสงฺคโห อนากุลา จ กมฺมานฺตา เอตมฺมงฺคลมตฺตมฺ” “ถ้อยคำนี้เป็นพุทธวจนะ แห่งพระผู้มีพระภาคย์เจ้าทรงดำรัสไว้ในมงคลสูตร เพื่อสอนแก่มนุษย์และเทวดาและพรหมทั้งปวงว่า การบำรุงเลี้ยงบุตรบิดามารดาและภรรยาแห่งตนนั้น ย่อมเป็นมงคลคือความดีงามของมนุษย์ที่พึงกระทำ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์เป็นมงคลสูตรคำฉันท์ แจกแก่ข้าราชการบริพารแห่งพระองค์ให้ประพฤติมงคลว่า บำรุงบิดามา- ตระด้วยหทัยปรีย์ หากลูกและเมียมี ก็ถนอมประหนึ่งตน การงานกระทำไป บมิยุ่งและสับสน ข้อนี้แหละมงคล อดิเรกอุดมดี.