เว็บบอร์ด

กระทู้ ถามตอบโหราศาสตร์ พยากรณ์ศาสตร์

ปิดปรับปรุงชั่วคราว

คุยกันสบายๆ..........ตามประสาโหราศาสตร์ไทย ( 20)

(..เนื่องจากกระทู้ ที่ 19 เดิมมีความยาวมากเรียกได้ช้า จึงขอเปิดเป็นกระทู้ที่ 20 ครับ)

กระทู้นี้ตั้งขึ้นเพื่อต้องการใช้เป็นสื่อกลางแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็น ในแวดวงวิชาโหราศาสตร์ไทย สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดโลกทัศน์ และปรารภปัญหาที่มีอยู่ จะได้ช่วยกันอธิบายแก้ไข เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อวิชาโหราศาสตร์
วรกุล - 1 มิถุนายน พ.ศ.2552 00:00น. (IP: 203.107.204.136)

ความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
กราบเรียน อาจารย์วรกุลที่เคารพ

ขอบพระคุณมากสำหรับคำอธิบายค่ะ อ่านแล้วก็ต้องพักความสนใจเรื่องโหราศาสตร์จันทรคติ ไว้ก่อนค่ะเพราะเป็นอะไรที่ออกจะไกลตัว นอกจากไม่มีผู้สอนแล้ว คาดว่าตำราก็คงหาไม่ได้เช่นกันแต่เรื่องจุดอิทธิพลของจันทร์ ในข้อ 3 น่าสนใจมากค่ะ

ที่สะดุดใจ คือประโยคในย่อหน้าแรกของอาจารย์ “...ทำไมเหตุการณ์ในชีวิตเราจึงเป็นไปตามโหราศาสตร์ได้ ดูเป็นเรื่องแปลก ก็จะอยากติดตามดูต่อไปเรื่อยๆ...” เพราะเป็นความจริงและตรงกับที่ใจคิดเป๊ะเลยค่ะ นี่ก็เป็นอีกเรื่องที่แปลกนะคะ เพราะอาจารย์มักจะเขียนหรือตอบอะไรๆ ที่ตรงใจผู้คนเสมอๆ เลยค่ะ

วันนี้ขออนุญาตออกนอกเรื่อง เรียนถามเรื่องการฝึกปฏิบัติธรรมค่ะ อ่านในหนังสือว่า ภายในภายของเรานี้แบ่งออกเป็น ๕ ขันธ์ คือ

๑.รูป ๒.เวทนา ๓.สัญญา ๔.สังขาร ๕.วิญญาณ

ไม่เข้าใจ เรื่อง การพิจารณาสังขาร ที่ท่านว่า เป็นความนึกคิดปรุงแต่งในอารมณ์ ซึ่งจะต้องติดตามพิจารณา ในตอนที่เราตื่นอยู่ถ้าเราติดตามดูอารมณ์ก็พอจะจับได้หรอกค่ะ แต่ในตอนที่ร่างกายเราหลับสิคะ เราไม่สามารถพิจารณาอารมณ์นั้นได้ ก็เลยสงสัยว่า ช่วงขณะหลับนั้น สังขารเขายังทำหน้าที่ของเขาอยู่ด้วยหรือเปล่าคะ (ซึ่งก็น่าจะทำเพราะไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็น ๔ ขันธ์ใช่ไหมคะ) อย่างไรคะ อาจารย์กรุณาอธิบายด้วยเถิดค่ะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง


สุธาวาส - 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 19:23น. (IP: 203.146.116.101)

ความคิดเห็นที่ 2
เรียน อ. วรกุล ที่เคารพ

มีเรื่องสงสัยเกี่ยวกับการอ่านดาวในเรือนเกษตร หลังจากอ่านย้อนกระทู้เก่าไปพอสมควร (ตอนนี้อยู่ที่กระทู้ 8 แล้วค่ะ เซฟไว้ตอนนี้หนา เกือบ 150หน้าแล้วค่ะ) จึงเพิ่งจะเข้าใจหลักการณ์ที่ถูกต้องตามที่ท่านอาจารย์ให้ "คาถา" ที่อยู่ในกระทู้ต้นๆ เช่น "1. ข้าจะ...." (จำไม่ได้กระทู้หมายเลขอะไร) ตรงนี้ดีมากเลยค่ะ ต่อไปนี้เวลาอ่านจะทำตามที่อาจารย์สอนค่ะ แต่พอถึงการอ่านดาวในเรือนเกษตร แล้วอ่านสัมพันธ์กับดาวอื่นที่ถึงกัน มีข้อสงสัยที่ต้องการขออนุญาติรบกวนเรียนถามอาจารย์ค่ะ คือ

1. อ่านดาวในเรือนเกษตรที่สัมพันธ์ในมุม 1 4 7 10 นั้น กล่าวว่าเป็นมุมเสีย ที่สงสัยคือ แล้วถ้าดาวเป็นคู่มิตร คู่ธาตุ แล้วเป็นดาวศุภเคราะห์ที่มาต้องกันในมุมนี้ เราจะอ่านไปทางเสียหรือดีคะ

2. ในทำนองเดียวกัน ในมุมโยค และ มุม ตรีโกณฑ์ร่วมธาตุ คือ เป็น 3 และ 5 9 แก่กันนั้น กล่าวว่าเป็นมุมให้คุณ แต่ถ้าดาวที่ต้องกันเป็นดาวบาปเคราะห์ต้องกับดาวศุภเคราะห์ หรือ ดาวบาปเคราะห์ต้องกับบาปเคราะห์ในมุมให้คุณ เราควรจะอ่านไปในทางดีหรือเสียคะ

จึงเรียนมาเพื่อขอความกรุณาอาจารย์ช่วยอธิบายเพื่อให้เข้าใจด้วยเถิดค่ะ

ขอแสดงความนับถืออย่างสูง


mano - 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 06:07น. (IP: 210.246.80.80)

ความคิดเห็นที่ 7
กราบขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ หนูพอจะเข้าใจหลักธรรมชาติที่อาจารย์อธิบายแล้วค่ะ จะขอลองไปฝึกพิจารณาของจริงดูก่อนนะคะ ถ้าติดปัญหาขออนุญาตเรียนถามใหม่นะคะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง


สุธาวาส - 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 09:02น. (IP: 203.146.116.101)

ความคิดเห็นที่ 6
กราบขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ หนูพอจะเข้าใจหลักธรรมชาติที่อาจารย์อธิบายแล้วค่ะ จะขอลองไปฝึกพิจารณาของจริงดูก่อนนะคะ ถ้าติดปัญหาขออนุญาตเรียนถามใหม่นะคะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง


สุ - 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 09:02น. (IP: 203.146.116.101)

ความคิดเห็นที่ 8
เรียน อ.วรกุล

ผมมีเรื่องรบกวนเรียนถามอ.วรกุลอ่ะครับ เนื่องจากสงสัยมานานแล้วว่า การสอบลัคนานั้นมีขั้นตอนตรวจสอบอย่างไรครับ อาทิ สมมติว่า เรามีวันเดือนปี และเวลาเกิดของบุคคลท่านหนึ่ง และเราวางลัคนาของท่านไว้ในราศีหนึ่งๆ เราจะดำเนินการสอบลัคนาอย่างไรครับ จึงจะทราบว่าการวางลัคนาของเราถูกต้อง และสอดคล้องกับชีวิตจริงของเขาครับ

ตอนนี้ผมก็ยังคงศึกษาข้อเขียนของ อาจารย์และวิชาในระบบเรือนชะตาตามที่อาจารย์กรุณาแนะนำครับ ขอให้อาจารย์มีสุขภาพแข็งแรงและมีความสุขมากๆครับ


bcc - 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 10:22น. (IP: 61.90.136.94)

ความคิดเห็นที่ 10
เรียน อ.วรกุล ที่เคารพ

ผมได้มีโอกาสติดตามอ่านบทความของอาจารย์มาโดยตลอดและ save เป็น word ไว้ได้เกือบ 600 หน้าแล้วบางครั้งผมก็ได้นำบางส่วนไปเผยแพร่ต่อ(โดยบอกถึงแหล่งที่มาใน webนี้) จึงเรียนขออนุญาตท่านอาจารย์มาไว้ตรงนี้ด้วยครับ

ปัญหาที่อยากขอเรียนถามอาจารย์ คือ ในบางดวงการอ่านเรื่อง(เรือนชะตา)จากตนุลัคน์จะได้ตรงกับชีวิตเจ้าชะตามากกว่าอ่านเรื่อง(เรือนชะตา)จากลัคนา ไม่ทราบว่าพอจะมีข้อสังเกตประการใดได้หรือไม่ครับว่า ลักษณะของชะตาแบบใดอ่านเรื่อง(เรือนชะตา)จากตนุลัคน์หรือลัคนาจะตรงมากกว่ากัน

ขอกราบขอบพระคุณครับ


นพ - 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 12:50น. (IP: 203.147.36.33)

ความคิดเห็นที่ 9
เรียน อ.วรกุล ที่เคารพ

ผมได้มีโอกาสติดตามอ่านบทความของอาจารย์มาโดยตลอดและ save เป็น word ไว้ได้เกือบ 600 หน้าแล้วบางครั้งผมก็ได้นำบางส่วนไปเผยแพร่ต่อ(โดยบอกถึงแหล่งที่มาใน webนี้) จึงเรียนขออนุญาตท่านอาจารย์มาไว้ตรงนี้ด้วยครับ

ปัญหาที่อยากขอเรียนถามอาจารย์ คือ ในบางดวงการอ่านเรื่อง(เรือนชะตา)จากตนุลัคน์จะได้ตรงกับชีวิตเจ้าชะตามากกว่าอ่านเรื่อง(เรือนชะตา)จากลัคนา ไม่ทราบว่าพอจะมีข้อสังเกตประการใดได้หรือไม่ครับว่า ลักษณะของชะตาแบบใดอ่านเรื่อง(เรือนชะตา)จากตนุลัคน์หรือลัคนาจะตรงมากกว่ากัน

ขอกราบขอบพระคุณครับ


นพ - 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 12:50น. (IP: 203.147.36.33)

ความคิดเห็นที่ 11
ตอบคุณ mano (ความเห็นที่ 5 )...........ข้อเขียนที่ผมเขียนในกระทู้ชุดนี้ ไม่ได้เขียนเพื่อสอนโหราศาสตร์ ดังนั้น หากคิดว่าอ่านแล้วจะเข้าใจ จึงอาจจะไม่ได้ตามที่คิด ที่ผมเขียนนั้น ผมตั้งใจจะให้คนที่กำลังศึกษาหรือ สนใจโหราศาสตร์ไทย ได้เข้าใจทัศนะที่วิชานี้ใช้เป็นหลักคิดในการสร้างวิชา และก็หยิบยกเกร็ดวิชาตรงโน้นบ้างตรงนี้บ้างมาอธิบาย ดังนั้น คนที่หัดใหม่จริงๆ และยังไม่รู้วิธีพยากรณ์จริงๆ ก็จะงงและได้ประโยชน์น้อย คนที่ได้ประโยชน์ตามที่ผมคิด ก็คือคนที่เรียนจบแล้ว หรือ อ่านตำรามาหมดแล้ว แต่กำลัง งงว่าสิ่งที่เราเรียนมานั้นคืออะไรกันแน่ อะไรมาจากไหน อ่านแล้วก็อาจจะเข้าใจสิ่งที่ผมเอามาอธิบายเอาไว้ให้ ข้อเขียนหลายตอนในกระทู้นี้ มีวิธีหลายอย่างที่ใช้ในโหราศาสตร์อยู่ ดังนั้น ผู้ที่อาจจะยังติดสงสัยอยู่ หากอ่านเหตุผลที่เอามาเล่านั้น ก็จะเห็นแสงสว่างเองได้เช่นกัน ผมเองคงจะไม่มีปัญญาเขียนเรื่องในโหราศาสตร์ที่เป็นตำราได้หมด ไม่อย่างนั้นก็คงไม่มีเวลาเขียนสิ่งเหล่านี้ ก็คงต้องไปแสวงหาหนังสืออ่านพื้นฐานมาด้วยตนเองนะครับ

00000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

ตอบคุณ bcc (ความเห็นที่ 8 )...........การสอบลัคนาของใครก็คือการตรวจสอบความเป็นตัวตนแท้จริงของเขานั่นแหละครับ ทางปฏิบัติเบื้องต้นก็ต้องตรวจสอบคุณสมบัติส่วนตัว เช่น รูปร่าง หน้าตา โครงร่าง ตำหนิในร่างกาย และประวัติชีวิตของเขา ถ้าเราทราบ มีข้อจำกัดอยู่ว่า สิ่งที่เรายกเป็นประเด็นขึ้นมาควรจะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หรือ ตัดสินได้ง่าย ไม่เปลี่ยนไปตามเวลา เจ้าชะตากำหนดเองไม่ได้ และไม่เอาสิ่งที่เปลี่ยนแปลงง่ายมาเป็นจุดตรวจสอบ อย่างเช่น การดูนิสัยใจคอ ที่ชอบใช้ดูกันว่าดาวนั้นกุมลัคน์ หรือ อยู่ราศีนี้ มีนิสัยแบบนี้ เช่นนั้นไม่ควรทำเพราะมักเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอน เป็นเรื่องผิดพลาดได้ หรือ อย่างอารมณ์ ความชอบ รสนิยม ต่างๆอาจจะเป็นแค่บางช่วงชีวิต ความอ้วนผอมก็เปลี่ยนแปลงได้ แต่ความสูง หรือ โครงรูปร่าง รูปใบหน้า และ สีผิว ของคนเรามักไม่เปลี่ยน จำนวนพี่น้อง หรือ อาชีพของบิดามารดา พี่น้อง ก็เป็นสิ่งที่เจ้าชะตาไม่ได้กำหนด อะไรเช่นนี้เป็นต้น ประวัติชีวิตก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องเลือกเอาเหตุการณ์ หรือ สิ่งที่กำหนดชีวิตที่เจ้าชะตาไม่ได้กระทำเอง เช่น บิดา มารดา เสียชีวิต หรือ เกิดอุบัติเหตุ เป็นต้น ไม่ใช่ดูว่า เจ้าชะตามีเมียมาแล้วกี่คน แบบนั้นเป็นเรื่องไม่แน่นอน

นอกจากนั้น ก็ต้องทำการตรวจสอบวัย ร่วมกับอาชีพการงานที่เจ้าชะตาทำอยู่ในปัจจุบัน เพื่อยืนยันตำแหน่งของลัคนา เช่นหากชีวิตเจ้าชะตาเดินทางมาจนถึงอายุนี้ ควรจะกำลังทำงานอะไรอยู่ และมักจะดูด้านความสามารถส่วนตัว เป็นจุดสุดท้าย เพราะเป็นจุดที่แสดงออกได้ตลอดชีวิต หากตรวจสอบถึงขั้นนี้ ส่วนมากโหรที่ชำนาญจะยืนยันราศีลัคนาได้เกือบ 100% หากจะกำหนดลัคนาละเอียดลงไปถึงตำแหน่งองศา ต้องตรวจสอบจากดาวจรที่เกิดเหตุการณ์ หลายเรื่องด้วยกันมาประกอบจึงจะบอกได้ ดังนั้น การตรวจสอบจึงต้องรู้วิธีดูดาวเดิม และดาวจร จึงตรวจลัคนาได้ชัดเจน เมื่อพอจะได้แล้วก็พยากรณ์อนาคตไปล่วงหน้า เพื่อยืนยันว่าเกิดเหตุการณ์ถูกต้อง จึงถือเป็นอันสิ้นสุด สำหรับการตรวจสอบแบบอื่นๆก็ยังมี พวกอาจารย์หรือมืออาชีพ จะมีเทคนิคที่ดีกว่า ของใครของมัน แล้วแต่ประสบการณ์และทักษะ ความถนัด ต้องเรียนกันเองเฉพาะตัว

000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

ตอบคุณ นพ (ความเห็นที่ 9 )...........เวลาเราเรียกดวงชะตาจากอะไรที่เกิดจากปัจจัยอื่นวางเป็นลัคนา ภาษาทั่วไปมักเรียกดวงชะตาแบบนั้นว่า “ดวง......” เช่น ดวงตนุลัคน์ เอาตนุลัคน์วางเป็นลัคนา ดวงตนุเศษ เอาตนุเศษวางเป็นลัคนา เป็นที่เข้าใจกัน หากเรียก “ดวงชะตา” เฉยๆ ก็คือดวงเดิมที่อ่านจากลัคนา แต่ในตำราทั่วไป อาจจะมีคนไม่ค่อยหวังดี ชอบเอาหลักเกณฑ์ของดวงหลายชนิดมาเขียนรวมกัน บางอย่างใช้ได้กับดวงหนึ่ง แต่ใช้ไม่ได้กับอีกดวงหนึ่ง สะสางไม่ไหว เพราะพูดไปก็จะถูกด่าเอา คนที่รู้ก็บอกกันต่อๆกลายเป็นเคล็ดลับไปเสียอีก

ดวงชะตาลัคนาเป็นเรื่องรวมๆของหลายเรื่องในดวงชะตา เพราะลัคนาเป็นทางเข้าของธาตุทุกชนิด มันจึงเป็นจุดร่วมของเรื่องราวต่างๆ เมื่อใด เราพิจารณาว่า เกิดมีเรื่องราวทางลัคนาขึ้น เราก็ต้องพิจารณาว่าเราควรจะไปหารายละเอียดของเรื่องจากดาวตัวแทนของเรื่องนั้นที่ไหน สิ่งควรเข้าใจก็คือ ลัคนาไม่ใช่เรือนตนุ แต่ลัคนาเป็นต้นตอก่อให้เกิดเรือนทั้ง 12 เรือน รวมทั้งเรือนตนุด้วย ส่วน ตนุลัคน์ เป็นเจ้าเรือนตนุ สัมพันธ์อยุ่กับเรือนตนุ ตนุลัคน์ จึงไม่ได้เป็นตัวแทนลัคนาโดยตรง แต่เป็นตัวแทนเรือนตนุ คำว่า “ตนุลัคน์” หมายถึงเจ้าเรือนตนุในดวงชะตาที่เกิดจากลัคนาเท่านั้น ตนุลัคน์ จึงเท่ากับเป็นตัวแทนสองหน้าที่ คือ หนึ่ง เป็นเรื่องส่วนตัว (ตนุ) ของเจ้าชะตาเอง กับ สอง เป็นผลจากเหตุการณ์ในลัคนา การอ่านดวงตนุลัคน์ เราจึงต้องรู้ว่าเหตุการณ์ที่อ่านนั้นเป็นในทางใด ซึ่งตรวจสอบได้จากดาวอื่นๆที่ถูกผลกระทบในเรื่องนั้นๆไปด้วย

ดวงจากตนุลัคน์ หากจะดูชีวิตของเจ้าชะตา จึงมักจะเป็นเรื่องที่สิ้นสุดแล้ว หรือ เรื่องที่เป็นผลสำเร็จแล้ว เช่น เจ้าชะตาเคยมีชีวิตที่ยากจนลำบาก แต่ในดวงตนุลัคน์ให้คำตอบไปในทางราบรื่นดี ก็อาจจะแปลความหมายได้ว่า ผลสุดท้ายของของชีวิต เจ้าชะตาจะประสบความสำเร็จราบรื่น แต่เมื่อเราไปอ่านดวงชะตาที่ความสำเร็จสุดท้ายนั้นยังไม่มาถึง ก็จะยังขัดกับความเป็นจริงอยู่เอง หากเป็นเช่นนี้ ในช่วงที่ชีวิตยังอยู่ระหว่างกลาง เราควรไปอ่านจากลัคนา ก็จะใกล้เคียงความจริงมากกว่า

แต่ถ้าหากอ่านดวงตนุลัคน์ เพื่อดูความหมายเรื่องส่วนตัวของเจ้าชะตา ไม่ว่าจะเป็น ร่างกาย คุณสมบัติ ความสามารถใดๆ เราจะอ่านได้ตลอดเวลาที่มีเหตุการณ์ เพราะนี่เป็นผลที่บังเกิดจากเรือนตนุ ไม่ใช่ผลของลัคนา เช่น หากเจ้าชะตา เป็นคนหูหนวกแต่กำเนิด เรื่องเช่นนั้นเป็นคุณสมบัติของเจ้าชะตาก็อ่านจากตนุลัคน์ได้โดยตลอด ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุด เราจึงต้องตรวจสอบเสียก่อนว่า เรื่องที่อ่านจากตนุลัคน์นั้น เกิดขึ้นแล้วหรือยัง สมมุติในกรณีที่เราอ่านว่า เจ้าชะตาเป็นคนหูหนวก หากพบว่าปัจจุบันเจ้าชะตาหูยังดีอยู่ เราก็ต้องค้นหาเรื่องราวที่เกี่ยวข้องในทันที จากลัคนา เพราะเจ้าชะตาอาจจะประสบเหตุที่ทำให้หูหนวกได้ในวัยใดวัยหนึ่ง แต่ถ้าเราพบว่าเจ้าชะตาหูหนวกมาตั้งแต่กำเนิดอยู่แล้ว ก็แสดงว่า เหตุที่พบนั้นเป็นเรื่องทางเรือนตนุ การพบว่าเป็นสิ่งที่เกิดมาแต่ต้นแล้วนี้ เป็นเงื่อนไขสำคัญในการดูวิถีชีวิตดวงชะตาด้วย เช่น หากเจ้าชะตาหูหนวก อาจจะถูกล้อตเตอรี่ได้เป็นเศรษฐีร้อยล้าน ดังนั้น การดูดวงตนุลัคน์ เมื่อประกอบข้อเท็จจริงจะบอกวิถีชีวิตของเจ้าชะตาได้แม่นยำขึ้น


วรกุล - 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 09:58น. (IP: 203.107.203.224)

ความคิดเห็นที่ 12
กราบขอบพระคุณ อ.วรกุล เป็นอย่างสูงครับ


นพ - 18 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 14:41น. (IP: 203.146.63.187)

ความคิดเห็นที่ 13
ขอบพระคุณมากครับอาจารย์


bcc - 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 07:49น. (IP: 61.90.136.94)

ความคิดเห็นที่ 14
เรียน อ.วรกุล

รบกวนเรียนถาม อ.วรกุล ต่อเนื่องนะครับ ผมสงสัยเรื่อง วัย หรือ ช่วงเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์หนึ่งๆ สมมติดวงของหญิงสาวคนหนึ่ง ผู้ทำนายเห็นว่า เธอผู้นี้จะได้แต่งงานแน่นอน แต่จะทราบได้อย่างไรว่า เธอจะแต่งงานเมื่อไรครับ การกำหนดชี้ชัดเวลาที่เหตุการณ์จะบังเกิด เราพิจารณาจากพื้นดวงในชะตา หรือ จากดาวจรที่มากระทบ หรือ ทั้งสองปัจจัยร่วมกัน หรือมีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอ่ะครับ ขอบพระคุณครับ


bcc - 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 07:51น. (IP: 61.90.136.94)

ความคิดเห็นที่ 15
วรบกวนเรียนถาม อ.วรกุล เกี่ยวกับวิธีอ่านดวงของคู่แฝดต่างๆเช่น แฝด2 แฝด3 ว่ามีวิธีหรือหลักการอย่างไรบ้างครับ เคยสอบถามนักโหราศาสตร์หลายคนแล้วแต่คำตอบไม่ค่อยชัดเจน บางคนบอกห้ามดูนวางค์ บางคนให้ดูนวางค์ ผมเคยเห็นแฝด 4 แต่ก็มีชีวิตแตกต่างกันพอสมควร ทั้งๆที่ผูกดวงแบบทำสมผุสแล้วนวางจักรบางคนไมแตกต่างกันเลย


อังคาร - 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 13:51น. (IP: 203.155.50.210)

ความคิดเห็นที่ 16
ตอบคุณ bcc (ความเห็นที่ 14 )...........เรื่องการทำนายจากที่ใดแล้วแต่วิชาและวิธีที่ใช้ครับ ว่าโดยส่วนมาก ต้องดูดวงชะตาเดิมเสียก่อนว่าพื้นดวงจะได้แต่งงานหรือไม่ และเมื่ออายุใดบ้างที่มีโอกาสแต่งงานเช่นนั้น เรียกกันว่ามี “เกณฑ์” แต่งงาน แล้วจึงมาดูจากดาวจรว่ามีโอกาสประจวบเหมาะเมื่อเวลาใด การดูดาวจรก็ดูโดยกระทบดาวเดิม ก็อาจจะทราบได้ เหตุที่ใช้คำว่า “อาจจะ” ก็เพราะการแต่งงานเป็นการกระทำของมนุษย์ปรุงแต่งขึ้น ดังนั้น จึงอาจจะกระทำหรือไม่ ทำช้าหรือ เร็ว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เหมือนกรณีอุบัติเหตุจากกรรมเดิม เราไม่ได้เป็นผู้ปรุงแต่ง ดังนั้น การแต่งหรือไม่แต่งจึงไม่ใช่เรื่องแน่นอน เช่น หากเจ้าชะตาเป็นพระ หรือนักบวชอยู่ แม้มีเกณฑ์แต่งงานก็อาจจะไม่แต่งได้

000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

ตอบคุณ อังคาร (ความเห็นที่ 15)...........เรื่องการอ่านคู่แฝด เป็นเรื่องยาว บรรยายในที่นี้ไม่หมดหรอกครับ คุณถามเรื่อง “การอ่านดวง” ซึ่งครอบคลุมมากเกินไป ว่าเราจะดูอะไร พวกเรามักอุปทานว่า หากจะดูดวงให้เห็นความแตกต่างของสิ่งที่เหมือนกัน ก็ควรดูลึกลงไปถึงนวางค์ เพราะคิดว่าอะไรละเอียดกว่า ยิ่งเห็นความแตกต่างมากกว่า ซึ่งทางโหราศาสตร์จะไม่จริง การดูละเอียดลงในนวางค์ อาจจะบอกความแตกต่างของรูปธรรมและคุณสมบัติบางอย่าง เช่น รูปร่างหน้าตาและนิสัยใจคอได้บ้าง แต่เรื่องวิถีชีวิตแล้วเป็นเรื่องที่แปลกที่ไม่จำเป็นต้องดูถึงนวางค์ โหรที่ดูดวงราศี ที่เรียกว่าดูดวง “อีแป่ะ” ก็ดูแม่นยำได้

เคล็ดในเรื่องนี้เป็นเรื่องยาว พูดคร่าวๆก็คือ วิธีดู ดูจาก 1 / กรรมเดิม 2 / รูปธรรมที่ดาวแสดงออก และ 3 / แนวทางชีวิตที่เขามีส่วนร่วมเลือกเดิน จะเป็นวิถีที่ชีวิตดำเนินไปโดยรวม กล่าวโดยทฤษฎี ในโหราศาสตร์ไม่มีคู่แฝด เพราะ ดวงชะตาของแต่ละคนไม่มีอะไรที่เหมือนกัน การที่เราเห็นคนที่หน้าตาคล้ายกัน หรือ เติบโตไปด้วยกัน ไม่ได้มีผลต่อการทำนายเลย มนุษย์ทุกคนต่างมีวิถีชีวิตเป็นเอกเทศ แม้จะเหมือนกันบ้างในบางตอน เคยกินนอนอะไรร่วมกัน ก็ไม่ได้หมายถึงว่าชีวิตจะเป็นเช่นเดียวกัน คู่แฝดที่เกิดร่วมกัน ก็ไม่ต่างอะไรนักจากทหารที่มากินนอนด้วยกัน มีชีวิตเหมือนกัน แล้วตายร่วมกัน เพียงแต่อย่างแรกเป็นตอนต้นของชีวิต อย่างหลังเป็นตอนท้ายของชีวิตเท่านั้น


วรกุล - 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 08:30น. (IP: 203.107.204.238)

ความคิดเห็นที่ 17
เรียน อ.วรกุล

ขอบคุณมากครับอาจารย์ที่กรุณาชี้แนะ ต่อเนื่องจากกระทู้ที่ 16 แล้วเราจะพิจารณาแยกแยะได้อย่างไรครับว่าช่วงไหนมีเกณฑ์แต่งงาน อาทิเช่น สมมติว่าเราพิจารณาพื้นดวงโดยใช้ระบบเรือนชะตาของ อ.อรุณ ลำเพ็ญ เราจะใช้หลักการใดในการพิจารณาเกณฑ์ดังกล่าวว่าอ่ะครับ (ใช่เกณฑ์ชัณษาจรหรือไม่ อย่างไรครับอาจารย์)

ต้องขอโทษอาจารย์ที่ถามซ้ำเรื่องเดิม และอาจรบกวนทำให้ข้อเขียนของอาจารย์ขาดความต่อเนื่องด้วยนะครับ


bcc - 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2549 16:30น. (IP: 61.90.136.94)

ความคิดเห็นที่ 61
ตอบคุณ ศ.fa200 (ความเห็นที่ 60 )...........เรื่องหลักวิชาในโหราศาสตร์นั้น ไม่ได้มีหนทางเดียวครับ สมมุติเหมือนเรามีมะพร้าวที่ใช้ขูดกะทิสำหรับแกงอยู่ เราจะคั้นกะทิ และเนื้อมะพร้าวเอามาทำของหวานได้หลายชนิด ทำไอศกรีมก็ได้ และ จะเอาไปแกงได้อีกมากมาย ผมกำลังจะบอกว่า คำถามที่ถามมานั้น มีทั้งส่วนที่เป็นต้นตอและเรื่อยไปจนถึงวิธีการใช้ของตนุเศษและตรีวัย ซึ่งอาจจะแตกต่างกัน

ข้อ 1. ที่คุณเขียนมาถือว่าถูก ข้อ 2. ตนุเศษเมื่อนำมาใช้ตั้งตรีวัยนั้น โดยทั่วไปจัดเป็นวัยละ 25 ปี ตามที่คุณว่ามาถูกแล้ว มักรู้กันมาจากตำรา “โลกธาตุ” แบ่งเป็นวัยต้น วัยกลาง วัยปลาย แต่ในเมื่อ 3 วัย ก็จะเป็น 75 ปีเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 25 ปี จึงครบ 100 ปี คืออริ มรณะ วินาสน์ ที่ว่าเอาไว้เทียบนั้นเป็นเพียงมติของอาจารย์บางท่าน หากจะใช้ตรีวัยตามรูปแบบนี้ เรือนทุกเรือนก็เอาไว้เทียบได้ทั้งนั้น ไม่เฉพาะ เรือนที่เหลือ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเว้นเอาไว้ คือเอาคำว่าวัยต้น วัยกลาง วัยปลายออกเสีย แต่วิธีอ่านตรีวัยในราศีจักรจะต้องสอดคล้องกับวิธีที่นำไปใช้ บางคนอ่านจะใช้ในตำแหน่งดาวเดิม หรือ อาจจะใช้เสมือนจรไปก็ได้ จึงทำให้มีวิธีนำไปใช้ได้หลากหลาย การแบ่งตรีวัยยังขึ้นอยู่กับรอบอายุ บ้างก็คิดรอบอายุ 108 ปี (ดูข้อ 3.) ยกตัวอย่าง ที่มีผู้ใช้กันไม่เหมือนตำรา “โลกธาตุ” ก็คือ วัยทั้งสามนั้นอยู่ภายในแต่ละช่วงอายุ เช่นช่วงอายุแรก ก็คือ ตนุ กดุมภะ กัมมะ นี่คือตรี (3)วัยในช่วงอายุที่หนึ่ง ดังนั้น เมื่อมี 4 ช่วงอายุ ทุกช่วงอายุก็มีตรีวัย ไม่ต้องเว้นไว้เทียบอะไรกับอะไร เพราะเรือนที่เป็นเกษตรสองเรือนก็ถึงกันในดวงเกษตรแบบไทยอยู่แล้ว

ข้อ 3. ช่วงวัย 8 ปี 4 เดือนถูกตามที่ตั้งตรีวัยทั่วไปดังที่คุณว่ามา แต่โดยหลักวิชาอื่นอาจจะแตกต่างไป เช่น ถือตรีวัยทั้งหมดมีอายุ 108 ปี ดังนั้น แต่ละวัยครองอายุ 9 ปี x 12 วัย = 108 ปี ระยะเวลาของวัยที่ต่างกันเช่นนี้ไม่ได้เกิดจากมีใครผิดใครถูก แต่เกิดจากวิธีใช้ตรีวัย

ข้อ 4. สรุปได้ถูกพอสมควรแล้ว เป็นวิธีหนึ่งที่มีผู้ใช้กันทางดวงจร บางคนอาจจะใช้อ่านแบบดาววัยตามอายุจร โดยไม่ได้ใช้ทางจรก็ได้ แต่เน้นว่า หมายถึงการใช้ตรีวัยตามแบบตำรา “โลกธาตุ” นะครับ

ข้อ 5. การใช้ตรีวัย ใช้เพียงราศีจักรก็ได้ครับ หากทราบมากขึ้นจะดูดวงนวางค์ (ไม่ใช่ “นวางค์จักร”)ก็นับว่าถูกต้อง ส่วนใหญ่ผู้ที่ใช้ตรีวัยจะดู 2 อย่างนี้ แล้วจึงดูอย่างอื่นเช่น หากใช้มหาทักษาร่วมด้วยก็จะดูทางดาวจร ส่วนเรื่อง “ตรียางคจักร” อะไรนั่น ผมไม่อยากเขียนถึง หากจะเขียนก็ต้องเขียนให้หมด มิฉะนั้นก็อาจจะถูกว่าเอาได้

ไม่ได้เห็นชื่อของคุณอยู่นานพอดู ขอบคุณที่เข้ามาอวยพรครับ ขอให้คุณประสบโชคดีตลอดปีนี้และปีหน้า มีความสุขความเจริญตลอดไปครับ

0000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

ตอบคุณ นักเรียน (ความเห็นที่ 63 )...........น่าชมเชยครับที่อุตส่าห์ไปหาคำถามที่เขียนไว้นานแล้วมาตอบ อ่านดูแล้วให้คะแนนเต็มหมดทุกข้อ เขียนตอบได้เหมือนมืออาชีพเลย ผมไม่ต้องเพิ่มเติมอะไรอีก เพราะบรรยายได้สมควรแล้ว และผมก็ไม่มีเวลามากด้วย ได้ตอบสั้นๆ สั้นกว่าคำถามนานๆที

คนที่เข้ามาอ่านตามเว็บมีหลายแบบ บางท่านเข้ามาอ่านอย่างเดียว และก็อ่านไปทั่ว ที่ไหนมีเกร็ดความรู้อะไรก็เลือกเก็บหรือ จำเอามาใช้ แต่บางท่านก็เพิ่งเข้ามาเรียน หรือ ทำความรู้จัก มีหลายระดับ ผมเองสมัยก่อนก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน เคยสะสมตำราโหราศาสตร์และข้อความต่างๆไว้มาก หนังสือมีเป็นพันเล่ม แต่เวลาเรานำวิชามาใช้มักจะหาอะไรมาทำนายได้ยาก นอกจากคำทำนายทั่วไป หรือไม่ก็เพราะข้อความในหนังสือต่างๆมันมาตีกันอยู่ตรงหน้า

ภายหลังได้พบครูโหรท่านหนึ่ง (เป็นพระ ต่อมาท่านได้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่) ท่านสอนแปลกๆก็เลยไม่มีลูกศิษย์ ใครรู้ว่าท่านเก่งมาขอเรียนกับท่านก็เรียนไม่รอด ผมก็เลยไปลองดูบ้าง ปรากฏว่าเวลาไปเรียน ท่านไม่ได้สอนเรา แต่ให้เราสอนท่านแทน โดยท่านจะตั้งคำถามให้เราอธิบายตลอด เวลาเราอธิบายอะไรที่ดูไม่เข้าท่าท่านก็จะถามคำถามแย้งโดยไม่อธิบายด้วย ทำอยู่อย่างนี้ก็เลยไม่รู้ว่าใครเป็นศิษย์เป็นอาจารย์ เราอธิบายไม่ได้ก็ถูกตำหนิด่าว่า ชะรอยจะเป็นบุญของผม เพราะผมเคยเรียนโหราศาสตร์มาตั้งแต่ยังเป็นเด็กๆ วิชาอะไรจำไม่ได้ จำได้แต่โหราศาสตร์ที่เป็นจิ้กซอว์เต็มไปหมด พอท่านถามอะไรแล้วผมพยายามอธิบาย ความรู้เหล่านั้นก็มารวมลงเอง หลังจากเรียนแบบนี้อยู่เป็นปี ท่านจึงบอกวิชาของท่านให้ เราก็จึงรู้ว่า หากจะเรียนวิชาที่สูงขึ้นไป แล้วไม่รู้จักวิธีที่คิดเองแล้วจะไปไม่รอดเลย มาภายหลังผมยังได้ไปเรียนวิชากับอาจารย์อีกหลายท่าน เป็นวิชาหนักๆทั้งนั้น ผมก็ไปรอดโดยตลอด

การเรียนวิชาโหราศาสตร์หรือ ธรรมะ หากเรามานั่งจำข้อความ เคล็ด เกร็ดความรู้โดยไม่เข้าใจ จะไม่มีประโยชน์อะไร นอกจากพยากรณ์คล่องปากซ้ำๆแต่ในตำรา อย่างบางคนที่มาบอก (สั่ง) ให้เขียนเคล็ดลับออกมาให้หมด เพื่อที่ท่าน (ผู้สั่ง)จะพิจารณาเอาเอง ว่าจะจำไปใช้ดีหรือไม่ดี อ้างว่า เมื่อเกิดเป็นมนุษย์มีมือมีตีนเหมือนกัน ก็ย่อมรู้เหมือนกัน (เอ็ง) จะมาปกปิดหวงวิชาอยู่ทำไม เดี๋ยว(เอ็ง)ก็แก่ตายแล้ว ให้บอกมาซะดีๆ (เดี๋ยวเจ็บ) ผมมีคนมาด่าแบบนี้มากจนชาชินแล้ว มาชี้หน้าด่าก็มี เอาเงินมาโยนให้ก็มี หวนไปนึกถึงครูอาจารย์ที่ท่านสอนเรามาก็เข้าใจได้เลยว่า ทำไมท่านเหล่านั้นไม่มีศิษย์ ต้องปล่อยให้วิชาตายไปหมด เพราะคนที่เรียนโดยไม่รู้จักคิดเองมีมากกว่า ในกระทู้ชุดนี้ก็มีเคล็ดลับอยู่ ที่อุตส่าห์คิดหาวิธีบอกเอาไว้ให้เป็นรางวัลแก่ผู้คิดเป็น ใครที่มองเห็นคิดออกเขาอาจจะไม่พูดก็ได้ คำถามบางอย่างจึงอาจจะเป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบ เพราะคำตอบนั้นอยู่ในตัวคำถามแล้ว


วรกุล - 15 ธันวาคม พ.ศ.2549 07:09น. (IP: 203.107.204.168)

ความคิดเห็นที่ 62
เรียน อ.วรกุล

รบกวนเรียนถามเกี่ยวกับ เรื่อง กรรมในทางศาสนาพุทธครับ ไม่ทราบว่า กรรมหนักที่มาสนองในชาติภพปัจจุบัน เช่น คนที่ต้องเจ็บหนัก หรือ ประสบอุบัติเหตุร้ายแรง เกิดจาก เจ้ากรรมนายเวรของบุคคลผู้นั้น หรือผู้ที่เกี่ยวพันกับบุคคลผู้นั้น (เช่น พ่อแม่ เป็นต้น) มาทวงหนี้กรรมหรือเกิดจากสาเหตุอื่นๆได้บ้างครับ ขอบพระคุณครับ


bcc - 15 ธันวาคม พ.ศ.2549 08:29น. (IP: 61.90.136.94)

ความคิดเห็นที่ 63


กราบเรียน อาจารย์วรกุล ที่เคารพ

รู้สึกดีใจที่สิ่งที่พยายามคิดออกมานั้นถูกต้อง ใช้ได้ แต่กว่าจะอ่านได้ใช้เวลาปีกว่าๆ ค่ะ ดิฉันเริ่มหันมาศึกษาโหราศาสตร์ได้ปีกว่าๆเกือบ 2 ปี และเพิ่งเข้ามาพบเว็บนี้เพียง 6-7 เดือน แรกๆ ที่อ่านกระทู้ของอาจารย์ เหมือนถูกหมัด upper cut ซ้ายขวา งงเอาการอยู่เพราะความรู้พื้นฐานไม่มีเลย จึงถอยไปเต้นฟุตเวิร์ค แต่ก็เต้นไม่ไหว หมดแรง จึงไปหาซื้อตำรามาอ่าน 4 เล่ม แต่ก็ยังไม่เข้าใจดี มาโพสต์ถามคำถามอาจารย์ ได้ความรู้เพิ่ม พร้อมกับโดนอาจารย์ “ดุ” บ้าง “ให้เขกโต๊ะ” บ้าง หลายครั้งหลายหน จนวันหนึ่ง ตัดสินใจนับหนึ่งใหม่ เริ่มค้นกระทู้ของอาจารย์(กระจุย)แล้วค่อยๆ อ่านแต่ต้น จึงเมื่อ 2-3 เดือนมานี่เองไปพบ “คาถาวิเศษ” ใน คุยกันสบายๆ ฉันมิตร......ตามประสาโหราศาสตร์ไทย (ส่วนเพิ่ม) จึงคิดว่านับตั้งแต่ดิฉันเดินทางออกจากบ้านหาวิชาโหราศาสตร์ เดินทางใช้เวลาเกือบสองปีเพิ่งมาถึง “บางอ้อ” หลังจากเดินตกหล่มโคลนบ้าง เลี้ยวเข้าผิดบาง หลงไป “บางบ่อ” อยู่นาน

จึงอยากจะขออนุญาติ copy “คาถาวิเศษ” ที่อาจารย์ให้ไว้ นำมา paste ไว้ที่นี้อีกครั้ง เผื่อว่า เพื่อนร่วมทาง ที่เพิ่งจะเริ่มออกทางเหมือนดิฉันจะยังไม่ได้อ่านหรือไม่เห็น วิชาของอาจารย์จะได้ไม่หลงไปอยู่หน้าต้นๆ (หน้าเก่าๆ)ที่ส่วนใหญ่จะไม่มีใครไปค้นหา วิชาดี อาจารย์ดี มักซ่อนตัวเงียบอยู่สันโดษ ศิษย์ต้องขวนขวายมุมานะหาเองเอง ดิฉันแค่อยากบอกเพื่อนร่วมทางเดียวกันจะได้ไม่หลงทางอยู่นานเหมือนดิฉัน

๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐๐

คุยกันสบายๆ ฉันมิตร......ตามประสาโหราศาสตร์ไทย (ส่วนเพิ่ม)

......แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า เมื่อกำหนดว่า ตัวเลขใดเป็นเจ้าเรือนอะไรแล้ว ห้ามอ่านชื่อดาวเป็นอันขาด เพราะในเรือนชะตานี้ ตัวเลขทำหน้าที่ของเจ้าเรือน เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นดาวอะไร เช่นเราอ่านว่า “เจ้าเรือนพันธุ” ห้ามหลุดปากคำว่า “พฤหัส” ออกมา เพราะพฤหัสไม่เกี่ยว เช่น เราอ่านเจ้าเรือนดังนี้ เจ้าเรือนตนุไปอยู่เรือนกัมมะ หรือสั้นๆว่า ตนุ - กัมมะ ตนเองจะไปเกี่ยวข้องกับอาชีพการงาน แล้วตามเจ้าเรือนกัมมะที่ ตนุนั้นอยู่ไปอีก เช่น กัมมะไปอยู่วินาสน์ อาชีพการงานที่ลับๆ คาดหมายยาก อ่านเช่นนี้โดยไม่อ่านดาว และต้องไปฝึกอ่านเอง ความหมายเรือนทั้งหลายในหนังสือก็พอใช้ได้ ใช้ไปก่อน เลือกเอาความหมายง่ายๆ พื้นฐานมาก่อน อย่าไปเลือกที่หวือหวาแต่ผิดง่าย เช่น ลาภะ - น้องเมีย กัมมะ – พ่อตา อะไรแบบนั้น เพราะเรายังไม่เข้าใจเรื่องนี้จริง ขอให้อ่านทุกเรือนเช่นนั้นไปให้หมด โดยไม่เอ่ยชื่อดาวเลย ดูดวงตัวเองก็ได้ จนจำฝังใจ

........เมื่อสามารถยึดหลักเรือนชะตาได้แล้ว ให้ปล่อยวางลง ไปฝึกดูดวงจักรราศี ที่มีแต่ดวงดาว ถึงตอนนี้ ตัวเลขเหล่านั้นคือดาว หรือธาตุดาวเท่านั้น เจ้าเรือนไม่เกี่ยว ให้อ่านแต่ดาว โดยคุณสมบัติดาว โดยไม่อ่านเจ้าเรือนเลย แต่ยังคงอ่านเรือนอยู่ เช่น อังคารอยู่ในเรือนกดุมภะ เจ้าชะตาขยันหาสมบัติ และในเมื่อไม่มีเจ้าเรือน ก็ไม่ต้องอ่านตามอะไรไปอีก อ่านให้หมดทั้งดวง ทุกดวง เช่นนี้ เป็นอันจบวิชาโหราศาสตร์แล้ว การอ่านเช่นนี้ยึดเป็นบันไดขั้นแรกไปจนตลอดชีวิตการเป็นโหร เหมือนตุ๊กตาล้มลุก แม้จะถูกผลักให้เอียงไปสักเท่าใด กี่ครั้งๆ ก็ยังกลับมาที่หลักเหมือนเดิม

***เมื่อถึงตรงนี้ ขอให้ผู้คิดจะเรียนโหราศาสตร์ไทย ตั้งกฏของตัวเองไว้ดังต่อไปนี้***

หนึ่ง.....ข้าจะอ่าน เรือนเกษตรและเจ้าเรือนเกษตร อ่านคุณสมบัติดาวและเรือนเกษตร เป็นหลัก สองอย่างนี้ให้มั่นคง

สอง......ไม่ยึดเรือนอื่นใดอีกนอกจากราศีจักร

สาม.... .มหาทักษา อ่านได้ ใช้ได้แต่ทักษาดวงเดิม ถ้าใช้แล้วความหมายข้างบนผลิกผันไป ให้ยกออกพับเก็บก่อน ทักษาจรให้ใส่เซฟไว้

สี่..........อ่าน เกษตร - มีเรื่อยๆ ประ - ไม่ค่อยมี อุจ - เด่นขึ้นมา นิจ - ด้อยลงไป เพียงสี่ตำแหน่งนี้เท่านั้น ตำแหน่งมาตรฐานอื่นไม่ต้องอ่านให้พักเก็บเอาไว้

ห้า......จะยังไม่อ่านเรื่องธาตุใดๆ นอกจากข้อหนึ่ง ไม่อ่านองศา ไม่อ่านเกณท์อะไรทั้งหมด ไม่อ่าน นวางค์ ตรียางค์ ไม่อ่านนักษัตร ไม่อ่านกาลโยค ให้พักเก็บเอาไว้ ในตู้เซฟ

หก......โหราศาสตร์อื่นใดนอกเหนือจากนี้ อยากอ่านก็อ่านได้ แต่ต้องปล่อยวางลง เขียนปิดไว้ว่า ตราบใดยังไม่เข้าใจโหราศาสตร์ไทยจริงๆ จะไม่ไปเปิดอ่าน

***เมื่อเรียนถึงตรงนี้ให้มั่นคงแล้ว ให้เตรียมตัวคอยเหตุการณ์ สองประการ หนึ่ง.....คอยอาจารย์ ถ้าดวงคุณมีวาสนาอยู่ จะพบท่านเอง ไม่ต้องแสวงหาไปไกล สอง....คอยอาจารย์ในตัวคุณเอง ไปส่องกระจกเงาดู มองให้ตรงๆ ผู้นั้นแหละคืออาจารย์ ถ้าคุณบ่มเพาะสติปัญญา รู้จักคิดหาเหตุผลโดยไม่ต้องรอโชควาสนา อาจารย์ผู้นี้จะมาเอง แล้วสิ่งต่างๆที่บอกให้คุณเก็บเอาไว้นั้น ให้งัดขึ้นมาอ่านได้ทั้งหมด

คำตอบ โดย คุณ วรกุล

28 dec 2004 09:07 #764996


นักเรียน - 15 ธันวาคม พ.ศ.2549 09:47น. (IP: 210.246.80.36)

ความคิดเห็นที่ 64
กราบขอบพระคุณอาจารย์ สำหรับพรอันประเสริฐค่ะ หนูจะยึดเป็นที่พึ่งและกำลังใจในการดำรงชีวิต จิต ใจ และการศึกษาธรรม(ธรรมะ)ชาติ ต่อไปค่ะ

ด้วยความนับถืออย่างสูง


สุธาวาส - 15 ธันวาคม พ.ศ.2549 11:21น. (IP: 203.146.116.101)

ความคิดเห็นที่ 65
ตอบคุณ bcc (ความเห็นที่ 65 )...........ที่จริง เรื่อง “กรรม” ในทางศาสนาพุทธเป็นเรื่องที่มานิยมกันในยุคหลังๆ เพราะดูเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ทั้งๆที่เรื่อง “กรรม”เป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องจากกรรมมีความซับซ้อน อธิบายในทางเหตุผลยาก แต่เมื่อเอามาเป็นประเด็นในการเผยแพร่ศาสนา ก็ทำให้คนเข้าใจได้ไม่ยาก ว่า ทำกรรมอะไรได้ผลอย่างนั้น ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว แต่ก็อาจจะสอนให้เข้าใจกันผิดๆ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย กฏแห่งกรรมนั้นมีมาก่อนพุทธศาสนา และยังมีลัทธิเดียรถีย์มากมายถือเอากฎแห่งกรรม ซึ่งสอนกันว่า เหตุเช่นใดให้ผลเช่นนั้น ผลเช่นใดย่อมมาจากเหตุเช่นนั้น คำสอนแบบพวกเดียรถีย์นี่เอง มีผู้ไม่รู้ นำเอามาอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเช่น หากมีใครมีตีศีรษะเรา ก็แสดงว่าชาติก่อนเราเคยไปตีศีรษะเขามาก่อน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ชาติก่อนที่เราเคยตีศีรษะเขา ก็แสดงว่า ก่อนชาติโน้นเขาเคยมาตีศีรษะเราด้วยละซี ขืนยึดตรรกะเช่นนี้ ก็อ้างกันไม่รู้จบโดยไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน

มีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า ทรงสอนเช่นนั้นด้วยหรือ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงสอนเช่นนั้น แต่ทรงสอนว่า ธรรมชาติของเรานี้เป็นไปตามนิยาม(หมายถึง กฎ) 5 ประการ เรียกว่า นิยาม ๕ นิยามที่ว่านั้นได้แก่ กรรมนิยาม หรือ กฏแห่งกรรม (กระบวนการกระทำเป็นเหตุให้เกิดผล) พีชนิยาม (พี-ชะ-นิ-ยาม การสืบพันธ์ พันธุกรรม) อุตุนิยาม (สิ่งแวดล้อมดินฟ้าอากาศ) จิตตนิยาม (การทำงานของจิต) และธรรมนิยาม (ความเป็นเหตุเป็นผลกันของสรรพสิ่ง) (เรื่องนี้เคยเขียนมาแล้วในกระทู้ต้นๆในเรื่อง “อัตตา”) ดังนั้น สิ่งที่บังเกิดแก่เราเนื่องมาจากความเป็นไปของธรรมชาตินี้ จึงไม่จำเป็นต้องเกิดจากกรรมเสมอไป การยึดกฎแห่งกรรมมากเกินไป ทำให้หลัก “อนัตตา” ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง ถูกละเลยไป เนื่องจาก เมื่อยึดถือเอาขันธ์ ๕ เป็นอัตตา กรรมที่อัตตากระทำ ผลจึงเกิดแก่อัตตานั้น เมื่อขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาเสียแล้ว วิบาก (ผล)กรรมย่อมไม่มีผู้รับถือเอาว่าเป็นของตน

โดยทั่วไป ผลของกรรมมักจะตรงกับกรรมที่เคยกระทำมา ตามกรรมนิยาม เช่น หากเคยเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ก็มักจะมีโรคภัยร้ายแรง หรือ ประสบอุบัติเหตุ ก็อาจจะเป็นเพราะเคยทำผู้อื่นได้รับบาดเจ็บโดยประมาท คนที่เคยอิจฉาริษยาอาฆาตผู้อื่น ก็มักจะขี้เหร่ ขี้โรค ขี้ระแวง คนที่เคยพูดปดมดเท็จ ต่อไปย่อมไม่มีใครเชื่อถือ แต่คนที่เจ็บหนัก หรือตาย อาจจะเกิดจากอุตุนิยามก็ได้ อย่างเช่นคลื่นซึนามิ พายุเฮอริเคน หรือ แผ่นดินไหว คนที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงอาจจะเกิดจากธรรมนิยามก็ได้ ไม่เชื่อใครลองกระโดดไปขวางรถไฟดู หรือ กระโดดลงเหวลึก รับรองว่าได้เจ็บตัวแน่ตามกฎโมเมนตัมและแรงโน้มถ่วงของโลก หรือหากเราถูกใครตีศีรษะ ก็อาจจะเป็นเพราะผู้ทำเขาก่อกรรมโดยเจตนาเอง โดยไม่ได้เกี่ยวกับกรรมสนองเวร หรือ เวรกรรมมาสนองอะไรที่พูดกันผิดๆ เรื่องเจ้ากรรมนายเวรก็เป็นเรื่องพิสูจน์ยาก ส่วนใหญ่แล้วพูดกันไปเอง และก็ไม่รู้ว่า “เจ้ากรรมนายเวร” ตัวจริงนั้น ก็คือตัวของเราเองนั่นแหละ (ไม่ว่าโดยกฎแห่งกรรม หรือไสยศาสตร์) บาปกรรมที่เราเคยทำในอดีต เมื่อฝังอยู่ในจิต ก็จะบ่อนทำลายชีวิตของเราเองได้เสมอ

สาเหตุที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆแก่ตัวเราจึงมีร้อยแปดพันประการ แต่กฎแห่งกรรมก็ยังเป็นกฎที่ใช้ได้อยู่ ในขณะที่เรายังละอุปาทานในขันธ์ ๕ ไม่ได้ ก็ยังคงจะมีภพชาติ และกรรมอันซับซ้อนต่อไป ปัจจุบันนี้ มีคำอธิบายเรื่อง “กรรม”มาก ในขอบเขตความเข้าใจที่แตกต่างกัน ทั้งทางศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ไสยศาสตร์ และ โหราศาสตร์ แต่ก็ยืนยันตรงกันถึงการกระทำและผลของการกระทำ ซึ่งเราต่างเข้าใจว่าเป็นกฏแห่งกรรม แต่พวกเราชาวพุทธเอง ควรจะเชื่อนิยาม ๕ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เพราะมีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่า


วรกุล - 16 ธันวาคม พ.ศ.2549 05:03น. (IP: 203.107.207.18)

ความคิดเห็นที่ 66
กระทู้นี้ยาวมากพอสมควรแล้ว ทำให้เรียกขึ้นได้ช้า จึงขอปิดเพื่อขึ้นกระทู้ที่ 21....ครับ.........


วรกุล - 16 ธันวาคม พ.ศ.2549 05:05น. (IP: 203.107.207.18)

ความคิดเห็นที่ 67
ตอบคุณ bcc (ความเห็นที่ 65 )...........ที่จริง เรื่อง “กรรม” ในทางศาสนาพุทธเป็นเรื่องที่มานิยมกันในยุคหลังๆ เพราะดูเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ทั้งๆที่เรื่อง “กรรม”เป็นเรื่องที่เข้าใจยากที่สุดเรื่องหนึ่ง เนื่องจากกรรมมีความซับซ้อน อธิบายในทางเหตุผลยาก แต่เมื่อเอามาเป็นประเด็นในการเผยแพร่ศาสนา ก็ทำให้คนเข้าใจได้ไม่ยาก ว่า ทำกรรมอะไรได้ผลอย่างนั้น ทำดีก็ได้ดี ทำชั่วก็ได้ชั่ว แต่ก็อาจจะสอนให้เข้าใจกันผิดๆ นี่เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ พระพุทธศาสนาเสื่อมไปจากอินเดีย กฏแห่งกรรมนั้นมีมาก่อนพุทธศาสนา และยังมีลัทธิเดียรถีย์มากมายถือเอากฎแห่งกรรม ซึ่งสอนกันว่า เหตุเช่นใดให้ผลเช่นนั้น ผลเช่นใดย่อมมาจากเหตุเช่นนั้น คำสอนแบบพวกเดียรถีย์นี่เอง มีผู้ไม่รู้ นำเอามาอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า อย่างเช่น หากมีใครมีตีศีรษะเรา ก็แสดงว่าชาติก่อนเราเคยไปตีศีรษะเขามาก่อน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาด เพราะหากเป็นเช่นนั้นจริง ชาติก่อนที่เราเคยตีศีรษะเขา ก็แสดงว่า ก่อนชาติโน้นเขาเคยมาตีศีรษะเราด้วยละซี ขืนยึดตรรกะเช่นนี้ ก็อ้างกันไม่รู้จบโดยไม่รู้ว่าจุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน

มีผู้ถามพระพุทธเจ้าว่า ทรงสอนเช่นนั้นด้วยหรือ พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า พระองค์ไม่ทรงสอนเช่นนั้น แต่ทรงสอนว่า ธรรมชาติของเรานี้เป็นไปตามนิยาม(หมายถึง กฎ) 5 ประการ เรียกว่า นิยาม ๕ นิยามที่ว่านั้นได้แก่ กรรมนิยาม หรือ กฏแห่งกรรม (กระบวนการกระทำเป็นเหตุให้เกิดผล) พีชนิยาม (พี-ชะ-นิ-ยาม การสืบพันธ์ พันธุกรรม) อุตุนิยาม (สิ่งแวดล้อมดินฟ้าอากาศ) จิตตนิยาม (การทำงานของจิต) และธรรมนิยาม (ความเป็นเหตุเป็นผลกันของสรรพสิ่ง) (เรื่องนี้เคยเขียนมาแล้วในกระทู้ต้นๆในเรื่อง “อัตตา”) ดังนั้น สิ่งที่บังเกิดแก่เราเนื่องมาจากความเป็นไปของธรรมชาตินี้ จึงไม่จำเป็นต้องเกิดจากกรรมเสมอไป การยึดกฎแห่งกรรมมากเกินไป ทำให้หลัก “อนัตตา” ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง ถูกละเลยไป เนื่องจาก เมื่อยึดถือเอาขันธ์ ๕ เป็นอัตตา กรรมที่อัตตากระทำ ผลจึงเกิดแก่อัตตานั้น เมื่อขันธ์ ๕ เป็นอนัตตาเสียแล้ว วิบาก (ผล)กรรมย่อมไม่มีผู้รับถือเอาว่าเป็นของตน

โดยทั่วไป ผลของกรรมมักจะตรงกับกรรมที่เคยกระทำมา ตามกรรมนิยาม เช่น หากเคยเบียดเบียนชีวิตสัตว์ ก็มักจะมีโรคภัยร้ายแรง หรือ ประสบอุบัติเหตุ ก็อาจจะเป็นเพราะเคยทำผู้อื่นได้รับบาดเจ็บโดยประมาท คนที่เคยอิจฉาริษยาอาฆาตผู้อื่น ก็มักจะขี้เหร่ ขี้โรค ขี้ระแวง คนที่เคยพูดปดมดเท็จ ต่อไปย่อมไม่มีใครเชื่อถือ แต่คนที่เจ็บหนัก หรือตาย อาจจะเกิดจากอุตุนิยามก็ได้ อย่างเช่นคลื่นซึนามิ พายุเฮอริเคน หรือ แผ่นดินไหว คนที่ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงอาจจะเกิดจากธรรมนิยามก็ได้ ไม่เชื่อใครลองกระโดดไปขวางรถไฟดู หรือ กระโดดลงเหวลึก รับรองว่าได้เจ็บตัวแน่ตามกฎโมเมนตัมและแรงโน้มถ่วงของโลก หรือหากเราถูกใครตีศีรษะ ก็อาจจะเป็นเพราะผู้ทำเขาก่อกรรมโดยเจตนาเอง โดยไม่ได้เกี่ยวกับกรรมสนองเวร หรือ เวรกรรมมาสนองอะไรที่พูดกันผิดๆ เรื่องเจ้ากรรมนายเวรก็เป็นเรื่องพิสูจน์ยาก ส่วนใหญ่แล้วพูดกันไปเอง และก็ไม่รู้ว่า “เจ้ากรรมนายเวร” ตัวจริงนั้น ก็คือตัวของเราเองนั่นแหละ (ไม่ว่าโดยกฎแห่งกรรม หรือไสยศาสตร์) บาปกรรมที่เราเคยทำในอดีต เมื่อฝังอยู่ในจิต ก็จะบ่อนทำลายชีวิตของเราเองได้เสมอ

สาเหตุที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆแก่ตัวเราจึงมีร้อยแปดพันประการ แต่กฎแห่งกรรมก็ยังเป็นกฎที่ใช้ได้อยู่ ในขณะที่เรายังละอุปาทานในขันธ์ ๕ ไม่ได้ ก็ยังคงจะมีภพชาติ และกรรมอันซับซ้อนต่อไป ปัจจุบันนี้ มีคำอธิบายเรื่อง “กรรม”มาก ในขอบเขตความเข้าใจที่แตกต่างกัน ทั้งทางศาสนา ปรัชญา วิทยาศาสตร์ ไสยศาสตร์ และ โหราศาสตร์ แต่ก็ยืนยันตรงกันถึงการกระทำและผลของการกระทำ ซึ่งเราต่างเข้าใจว่าเป็นกฏแห่งกรรม แต่พวกเราชาวพุทธเอง ควรจะเชื่อนิยาม ๕ ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เพราะมีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่า

0000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000000

กระทู้นี้ยาวมากพอสมควรแล้ว ทำให้เรียกขึ้นได้ช้า จึงขอปิดเพื่อขึ้นกระทู้ที่ 21....ครับ.........


วรกุล - 16 ธันวาคม พ.ศ.2549 05:22น. (IP: 203.107.203.199)